xs
xsm
sm
md
lg

ผลกรรมของคนกรุง เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝนในหน้าหนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์
ปีนี้หน้าหนาววูบมาให้คนกรุงดีใจได้ 3 วันแล้วผ่านไป หลายคนโยนให้เป็นเรื่องของภาวะโลกร้อนที่เราไม่อาจเลี่ยงได้ แต่นักฟิสิกส์บรรยากาศยกงานวิจัยนิสิตมาอธิบาย จริงๆ แล้วลมหนาวพัดมาปกติ เพียงแต่ไม่ถึงเมืองหลวงที่มีสภาพเป็น "เกาะความร้อน"

ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ นักฟิสิกส์บรรยากาศ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อมูลวิจัยจาก นายศิริศักดิ์ นามวงศ์ นิสิตปี 4 ในที่ปรึกษา ซึ่งศึกษาข้อมูลอุณหภูมิประเทศไทย 76 จังหวัด ย้อนหลัง 20 ปี จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า แนวโน้มของช่วงกลางวันร้อนในหลายพื้นที่มีจำนวนวันเพิ่มขึ้น ส่วนกลางคืนที่หนาวเย็นมีจำนวนวันลดลง

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล กำหนดให้ "พื้นที่สีแดง" เป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยมากกว่า 35 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ 10-15 วัน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ

"หากแต่ข้อมูลดังกล่าว จะสรุปว่าเป็นผลจากภาวะโลกร้อนนั้น ตอบได้ว่าทั้งใช่และไม่ใช่ เนื่องจากวันร้อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่น แต่บริเวณที่สภาพแวดล้อมยังดีๆ เช่น แม่ฮ่องสอน ยังมีอุณหภูมิของวันร้อนไม่มากขึ้น ขณะที่เชียงใหม่พบว่าเป็นพื้นที่สีแดงโดดจากพื้นที่อื่นๆ โดยรอบ" ดร.สธนกล่าว

"ดังนั้นจึงมองว่า เป็นสภาพของการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาสั้นๆ เราใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จึงส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในพื้นที่ของเราเอง ถ้าเป็นภาวะโลกร้อนก็จะหลุดจากความรับผิดชอบของเราเอง แต่เราทำตัวเองหรือเปล่า ถ้าใช่เราก็ต้องรับผิดชอบ” ดร.สธนสรุปจากการศึกษาของนิสิตในที่ปรึกษา

ส่วนกรุงเทพฯ ที่พบอากาศร้อนในฤดูหนาวนั้น ดร.สธนกล่าวว่า ลักษณะของกรุงเทพฯ เป็น "เกาะความร้อน" ซึ่งอุณหภูมิภายในเมืองไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ และอุณหภูมิของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาหลายปีแล้ว โดยอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 35-36 องศาเซลเซียส และต่ำสุดที่ 25 องศาเซลเซียส

อีกทั้งช่วง 15.00-16.00 น. เป็นช่วงที่พื้นดินในกรุงเทพฯ มีการสะสมความร้อนสูงสุด จึงเป็นปัจจัยใหเกิดฝนในช่วงเวลาดังกล่าว หรือที่เรียกเล่นๆ ว่า "ฝนราชการ" ขณะเดียวกันลมหนาวก็มาปกติ เพียงแต่มาไม่ถึงกรุงเทพฯ เท่านั้น เนื่องจากปีนี้มีปรากฏการณ์เอลนิญโญ ทำให้ระบบอากาศของโลกอ่อนลง

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคอนข้างเป็นเรื่องปกติ แต่ในความปกตินั้นมีความผิดปกติ คือมีความแปลกอยู่ ง่ายๆ คือ หนาวนั้นหนาวแน่ แต่วิ่งไม่เข้าเป้า ไม่เข้ากรุงเทพฯ แต่ออกทะเลไป ถ้าตามข่าวจะเห็นว่ามีรายงานความหนาวเย็นในภาคเหนือ-อีสานตลอดเวลา"

"ทั้งนี้หน้าหนาวตามปกติคือการสลับระหว่างลมแห้งและเย็นจากทางเหนือกับลมอุ่นและชื้นจากทางใต้ หนาวเป็นช่วงๆ แต่ลมหนาวก็พัดมาไม่ถึงกรุงเทพฯ จะหยุดอยู่ที่พิษณุโลกและนครสวรรค์" ดร.สธนกล่าว

พร้อมกันนี้ ดร.สธนยังได้ให้ความเห็นว่า หากมีใครออกมาระบุว่า หน้าร้อนปีนี้จะร้อนรุนแรง ให้ฟังหูไว้หู เพราะแม้มีปัจจัยจากเอลนิญโญ แต่ก็มีปัจจัยหักล้างที่ซีกโลกเหนือหนาวรุนแรง

นอกจากนี้ ดร.สธนยังได้แสดงความเป็นห่วงว่า ปีนี้เมืองไทยจะแล้งอย่างแน่นอน เนื่องจากการทำนาของคนไทย เปลี่ยนไปเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ที่มีการทำนาปรังถึงปีละ 5 ครั้ง ทำให้น้ำที่เก็บสำรองไว้ในช่วงแล้งถูกใช้ไปหมด ซึ่งเรื่องการจัดการระบบชลประทานเป็นปัญหาของภัยแล้งมากที่สุด

ด้าน ดร.สมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เมืองไทยนั้นร้อนไม่จริง เพราะเมื่อพื้นดินสะสมความร้อนมากๆ จะเกิดฝน ซึ่งปีนี้จะร้อนสูงสุดถึง 42-43 องศาเซลเซียส แต่คนไทยสามารถปรับตัวอยู่ได้

อีกทั้งเมืองไทยจะไม่เกิด "คลื่นความร้อน" (Heat Wave) อย่างแน่นอน เพราะคลื่นความร้อน เป็นความร้อนที่พัดจากทะเลทรายเข้าสู่เมือง ขณะที่เมืองไทยไม่ได้อยู่ติดทะเลทราย แต่มีพื้นที่อยู่ติดทะเล ดังนั้นไทยจะเจอสภาพอากาศร้อนชื้น

สำหรับปรากฏการณ์ร้อนในหน้าหนาวของกรุงเทพฯ นั้น เป็นเรื่องผิดปกติที่เกิดขึ้นในปี 2553 นี้เท่านั้น เมื่อย้อนกลับไปดูสถิติ 5 ปีที่ผ่านมาก็ไม่พบสภาพเช่นนี้ แต่ ดร.สมชายกล่าวว่า เป็นเรื่อง "ไกลไป" ที่จะคาดการณ์ว่าหน้าหนาวครั้งถัดไปจะเกิดลักษณะเช่นเดียวกันนี้หรือไม่ เนื่องจากปัจจัยที่แท้จริงยังไม่ชัดเจนนัก และไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงปีเดียวมาสรุปได้ แต่สภาพเมืองและการทำอุตสาหกรรม ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงแน่ๆ

ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยระหว่างการเสวนาเรื่อง "ร้อนปนฝน เกิดอะไรขึ้นกับฤดูหนาวของไทยปี 2553” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.พ.53 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศรภอ. กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลหลายๆ ด้าน และไม่ด่วนสรุปว่าสภาพที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลจากภาวะโลกร้อน หรือตื่นตระหนกจนเกินไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นจริง แต่เรายังสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องทราบว่าสาเหตุที่แท้นั้นเกิดจากอะไร
ดร.สมชาย ใบม่วง
ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
กำลังโหลดความคิดเห็น