xs
xsm
sm
md
lg

หลังคาสีขาวช่วยลดความร้อนในเมืองได้ถึง 33%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานช่วยกันทาสีขาวให้หลังคาอาคารในสหรัฐฯ (American Geophysical Union/UCAR)
เราอาจช่วยลดความร้อนให้กรุงเทพฯ ได้ง่ายกว่าที่คิด แค่ทาสีหลังคาบ้านให้ขาวโพลน แทนสีทึมๆ ที่มีอยู่ เพราะงานวิจัยล่าสุดจากสหรัฐฯ ระบุว่า หลังคาอาคารสีขาวช่วยลดความร้อนให้กับเมืองรวมทั้งลดผลกระทบจากโลกร้อนได้ เพราะถนนและอาคารสีทึมๆ ในเมืองนั้นดูดซับความร้อนไว้ และทำให้ร้อนกว่าชนบท 1-3 องศาเซลเซียส

“ในงานวิจัยของเราได้แสดงให้เห็นว่า หลังคาสีขาว หรืออย่างน้อยในเชิงทฤษฎีนั้น อาจเป็นวิธีที่ได้ผล ในการลดความร้อนให้กับเมือง แต่ตอนนี้งานวิจัยของเรายังอยู่ระหว่างการดูอยู่ว่า จะใช้งานได้จริงหรือไม่ หากให้เมืองทาสีหลังคาเป็นสีขาว สิ่งที่จะรับประกันแนวคิดนี้ได้ ยังต้องพิสูจน์กันต่อไป” คีธ โอเลสัน (Keith Oleson) ผู้นำในการศึกษาเรื่องนี้จากศูนย์วิจัยบรรยากาศสหรัฐฯ (National Center for Atmospheric Research: NCAR)

ทั้งนี้ ในเมืองใหญ่มีส่วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากในเมืองในร้อนกว่าพื้นที่ชนบทอันห่างไกล ถนนลาดยาง หลังคายางสีเข้ม และพื้นผิวสังเคราะห์อื่นๆ สำหรับสิ่งก่อสร้างของเมืองเป็นตัวดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ดี และทำให้เกิดโดมความร้อนในเมือง ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าชนบท 1-3 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น

หากแต่หลังคาสีขาว จะสะท้อนความร้อนบางส่วนกลับสู้บรรยากาศ และทำให้อุณหภูมิเย็นลง เช่นเดียวกับการสวมเสื้อสีขาวในวันแดดจ้า ย่อมรู้สึกเย็นสบายกว่าใส่เสื้อสีดำ

ทีมวิจัยได้ใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อใช้จำลองปริมาณการแผ่รังสีที่ถูกดูดกลืน และสะท้อนกลับโดยพื้นผิวสิ่งก่อสร้างของเมือง ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นภาพเชิงอุดมคติของเมืองต่างๆ รอบโลกนี้ ได้บ่งชี้ว่า หากหลังคาบ้านทุกหลังทาด้วยสีขาวทั้งหมด จะช่วยลดการเกิดโดมความร้อนในเมืองลงได้ 33% และหากทุกเมืองทั่วโลก ทาสีขาวทั้งหมดจะช่วยลดอุณหภูมิเฉลี่ยลงได้ 0.4 องศาเซลเซียส ด้วยอิทธิพลของความเย็นที่เพิ่มขึ้นระหว่างวัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยย้ำว่า ควรมองงานวิจัยของพวกเขาในเชิงทฤษฎีเท่านั้น เนื่องจากพิจารณาขึ้นจากลักษณะของแต่ละภูมิประเทศ โดยยังไม่ได้ลงไปศึกษากับหลังคาจริงในเมืองใดๆ ทั้งสิ้น

อีกทั้ง ในโลกของความเป็นจริง ความเย็นตามทฤษฎียังลดลงได้ เนื่องจากฝุ่นและสภาพอากาศ ทำให้หลังคาสีขาวกลายเป็นสีดำขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปเราก็ไม่อาจทำสีหลังคาให้เป็นสีขาวได้ทั้งหมด เพราะยังต้องมีช่องลมระบายความร้อนและป้องกันความเย็น

นอกจากนี้ หลังคาสีขาวยังกระทบต่อความเย็นภายในอาคาร ซึ่งมีผลต่อการใช้พลังงานเพื่อปรับอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการบริโภคพลังงานฟอสซิลที่สัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งก็มีผลทำให้เกิดการใช้พลังงานที่มากขึ้นหรือน้อยลง ตามผลกระทบจากหลังคาด้วย

“มันไม่ง่ายขนาดที่ทาสีหลังคาป็นสีขาวแล้วจะทำให้ทั้งเมืองเย็น” โอเลสันกล่าว แต่งานวิจัยก็ได้ชี้เห็นว่า เมืองจะได้รับประโยชน์จากหลังคาสีขาว หากมีปัจจัยเสริมเหล่านี้

- ความหนาแน่นของจำนวนหลังคาในเมือง : หากเมืองใดมีพื้นที่ของหลังคามากกว่าพื้นที่ของเมืองทั้งหมด การทาสีขาวก็จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มความเย็นได้มากกว่า

- โครงสร้าง : ลักษณะโครงสร้างของหลังคา ที่ยอมให้ความร้อนปริมาณมากจากดวงอาทิตย์ลอดผ่านเข้าไปภายในอาคาร จะได้รับผลจากการลดความร้อนให้กับภายนอกอาคารได้น้อยกว่า แม้จะทาสีเขียว

- ที่ตั้งของเมือง : หลังคาสีขาวมีแนวโน้มจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้มากกว่า หากเป็นพื้นที่มีอากาศร้อน ซึ่งได้รับแสงแดดแรงจ้าตลอดทั้งปี

แม้ว่าแบบจำลอง จะไม่ได้ให้รายละเอียดเพียงพอ ที่จะฉายภาพของการลดความร้อนตามเมืองต่างๆ แต่แบบจำลองนี้ก็ได้แสดงให้ถึงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในพื้นที่เมืองขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ของเมืองนิวยอร์กอุณหภูมิจะลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส ในช่วงบ่ายของฤดูร้อนหากมีปริมาณหลังคาสีขาวที่มากเพียงพอ

ทีมวิจัยยังใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยโอเลสันและคณะ ซึ่งแบบจำลองดังกล่าว ได้ออกแบบให้ประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อประชากรเมืองและหาทางเลือกสำหรับการลดผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มมากขึ้น โดยจับเอาปัจจัยอย่างหลังคา ผนังอาคาร ถนน และพื้นที่สีเขียว ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิท้องถิ่น

โอเลสันยังประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งเป็นฐานข้อมูลแบบจำลองระบบภูมิอากาศชุมชนของศูนย์วิจัยบรรยากาศสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้นักวิจัยเข้าถึงการศึกษาอันตรกริยาระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก กับพื้นที่ของเมือง

อย่างไรก็ดีแบบจำลองใหม่นี้ ยังไม่มีความสามารถพอที่จะสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาใหม่ และออกแบบเมืองที่มีลักษณะตามที่เจาะจงมากขึ้น แต่ทีมวิจัยได้แยกเมืองออกเป็น แบบจำลองเมือง โดยแบ่งหมวดหมู่เป็นความหนาแน่นของประชากร การออกแบบผังเมือง และโครงสร้างอาคาร

ทั้งนี้ทีมวิจัยยังเดินหน้าปรับปรุงแบบจำลองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มากพอสำหรับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อจะได้ใส่ใจต่อการปกป้องประชากรเมืองจากความเสี่ยงในการเผชิญคลื่นความร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
คีธ โอเลสัน (UCAR)
กำลังโหลดความคิดเห็น