เอเจนซี - กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม WWF เผยแพร่รายงานในวันจันทร์ (5) โดยระบุว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กำลังส่งผลกระทบและเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและการทำมาหากินของผู้คนหลายล้านคนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานบอกว่าภาวะน้ำท่วมและภัยแล้ง การกร่อนเซาะของพื้นที่ชายฝั่ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และคลื่นความร้อนที่จะเกิดขึ้นรุนแรงในช่วงทศวรรษข้างหน้านี้ จะเป็นภัยคุกคามการเพาะปลูกข้าว ผลไม้ และกาแฟ รวมทั้งการประมงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 65 ล้านคน โดย "ภูมิภาคดังกล่าวจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วราว 0.5-1.5 องศาเซลเซียส"
นอกจากนั้น ปริมาณน้ำฝนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการที่ฝนตกหนักกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม ส่วนพื้นที่ในโฮจิมินห์ซิตี กรุงเทพฯ และฮานอยซึ่งมี "ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งและที่ราบน้ำท่วม อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมและน้ำทะเลเอ่อล้นพื้นที่"
ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวเผยแพร่ในระหว่างที่มีการประชุมผู้แทนจาก 180 ประเทศที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับขั้นตอนในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก โดยที่ประชุมจะหารือต่อรองกันเพื่อปรับปรุงเนื้อหาส่วนที่เป็นพื้นฐานของข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ ซึ่งสหประชาชาติคาดหวังว่าทั่วโลกจะเห็นชอบกันได้ในเดือนธันวาคมปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุม มีเกษตรกร ชาวประมง และคนพื้นเมืองจากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเนปาล ราว 2,000 คน มาประท้วงที่หน้าศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ในกรุงเทพฯ และเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยเพิ่มความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น โดยชูคำขวัญว่า "Climate justice now"