นักวิจัยมหิดลพัฒนาเม็ดไบโอบีดส์จากเลือดไก่ ใช้แทนไมโครบีดส์นำเข้า ตรวจนับเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยเอดส์ให้ผลแม่นยำสูง แต่ค่าใช้จ่ายถูกลงกว่า 10 เท่า เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย เตรียมนำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลอีก 7 แห่ง ก่อนขยายผลทั่วประเทศ พร้อมวิจัยต่อในเลือดปลา หวังหาเลือดสัตว์ที่มีศักยภาพสูงสุด ล่าสุดได้รางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ปี 52
ศ.ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน และนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่งว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการตรวจหาเม็ดเลือดขาว ซีดี4 ทีลิมโฟไซต์ (CD4-T lymphocyte) ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยใช้เลือดไก่แทนไมโครบีดส์ (Microbeads) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
"ปกติการตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว ซีดี4 ทีลิมโฟไซต์ ในเลือดผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี จะต้องเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานวิธีเดียวที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และการตรวจด้วยวิธีนี้จำต้องใช้เม็ดพลาสติกเรืองแสงขนาดเล็กๆ หรือไมโครบีดส์ เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ แต่ประเทศไทยต้องนำเข้าไมโครบีดส์เหล่านั้น ซึ่งมีราคาแพงมาก ต้นทุนการตรวจสูงจึงตามไปด้วย หรือใช้เครื่องนับเซลล์เม็ดเลือดช่วยแทน แต่มีโอกาสผิดพลาดมากกว่า เพราะให้ผลการตรวจคิดเป็นเปอร์เซ็นต์" ศ.ดร.โกวิท กล่าว
ด้วยต้นทุนการตรวจสูงที่ต้องใช้ไมโครบีดส์นำเข้าราคาสูง ทำให้ห้องปฏิบัติการหลายแห่งตรวจวิเคราะห์โดยไม่ใช้ไมโครบีดส์ ศ.ดร.โกวิท จึงคิดหาวิธีผลิตเม็ดไมโครบีดส์ราคาถูก และน่าจะทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งก็คือเซลล์เม็ดเลือด และถ้าได้จากเลือดสัตว์จะดีกว่าเลือดคน เพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวของคนและสัตว์ต่างกัน จึงไม่ส่งผลต่อการตรวจวิเคราะห์
ทีมวิจัยเลือกใช้เลือดไก่ในการนำมาทำเป็นน้ำยาไบโอบีดส์ (Biobeads) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิธีการคือเจาะเลือดจากไก่ประมาณ 10 ซีซี โดยไม่ต้องฆ่าไก่ ซึ่งเลือกใช้ไก่ชนสุขภาพดีจากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นนำเลือดไก่มาดองด้วยสารละลายกลุ่มฟอร์มาลีน เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือดไก่สามารถเรืองแสงได้เหมือนกับเม็ดพลาดติกไมโครบีดส์
เมื่อครบเวลาที่กำหนดก็นำมาวัดความความเข้มข้นของเซลล์เม็ดเลือดแดงด้วยเครื่องนับปริมาณเม็ดเลือด และวัดค่าการเรืองแสงด้วยเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ จากนั้นก็สามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดยนำมาเจือจางและควบคุมความเข้มข้นให้มีเซลล์เม็ดเลือดแดงไก่ 50,000 เซลล์ ต่อน้ำยาไบโอบีดส์ 5 ไมโครลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่ใช้สำหรับการตรวจแต่ละครั้ง ดังนั้น เลือดไก่ปริมาณ 10 ซีซี สามารถนำมาพัฒนาเป็นน้ำยาไบโอบีดส์สำหรับตรวจวิเคราะห์เม็ดเลือดขาวได้หลายหมื่นตัวอย่าง เพราะมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงอยู่นับพันล้านเซลล์
"ประเทศไทยต้องตรวจวัดจำนวนเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยเอดส์ปีละประมาณ 300,000 ตัวอย่าง ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 30-40 ล้านบาทต่อปี หากใช้ไมโครบีดส์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ถ้าใช้ไบโอบีดส์จากเลือดไก่แทน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เหลือเพียง 3 ล้านบาทต่อปี หรือเสียค่าใช่จ่ายเป็นค่าไบโอบีดส์เพียง 5-8 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง ขณะที่ไมโครบีดส์จากต่างประเทศมีราคาประมาณ 120 บาทต่อการตรวจ 1 ตัวอย่าง" ศ.ดร.โกวิท กล่าว ซึ่งปัจจุบันนักวิจัยผลิตนำยาไบโอบีดส์ใช้ในการตรวจนับเม็ดเลือดขาว ซีดี4 ทีลิมโฟไซต์ ที่ศิริราชพยายาบาล ซึ่งให้ผลแม่นยำไม่แตกต่างจากการใช้ไมโครบีดส์ แต่ค่าใช้จ่ายถูกกว่า 10 เท่า ทั้งยังช่วยลดความผิดพลาดและความแปรปรวนในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ไมโครบีดส์ได้ด้วย และช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเอดส์ดีขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ขณะนี้นักวิจัยได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อพัฒนาน้ำยาไบโอบีดส์จากเลือดไก่สำหรับทดลองใช้ในโรงพยายาลต่างๆ 7 แห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก่อนที่จะขยายผลสู่การใช้งานทั่วประเทศต่อไปในอนาคต และขณะนี้นักวิจัยกำลังศึกษาวิจัยไบโอบีดส์จากเลือดปลา เพื่อหาวิธีพัฒนาไบโอบีดส์ที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกยิ่งกว่า
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยน้ำยาไบโอบีดส์จากเลือดไก่สำหรับตรวจนับเม็ดเลือดขาวเป็น 1 ใน 10 ผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2553 ด้วย ซึ่งได้มีการแถลงข่าวและมอบรางวัลไปเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 53 ณ ห้องเซ็นทารา แกรนด์ บอลล์รูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และผลงานวิจัยดังกล่าวยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติด้านโรคเอดส์ (Journal of AIDS) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย