เนคเทคแจงกรณีเครื่องตรวจระเบิด “GT200” ระบุอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะทำงานได้ต้องมีแหล่งพลังงาน แต่ไฟฟ้าสถิตจากร่างกายไม่เพียงพอให้เครื่องทำงานได้ เน้นเครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์วัด 100 ครั้งต้องได้ผล 100 ครั้ง ไม่ได้ขึ้นกับคนถืออุปกรณ์
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) แจงกับผู้สื่อข่าวกรณีเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด “จีที200” (GT200) ซึ่งกำลังเป็นที่สงสัยในสังคมว่า ทำงานได้ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ โดยได้ให้สัมภาษณ์เมื่อบ่ายวันที่ 29 ม.ค.53 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยว่า เนคเทคเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากผู้ผลิต ซึ่งทราบหลักการทำงานของเครื่องดีกว่าผู้ใช้ด้วย
ทั้งนี้ ทางเนคเทคยังไม่ได้เห็นเครื่องดังกล่าว และยังไม่มีโอกาสได้ทดลองใช้ เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ของกองทัพ ที่หน่วยงานอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปครอบครอง ซึ่งในแง่กลไกทางวิทยาศาสตร์ จำเป็นต้องค้นหาความจริงกันต่อไป
เบื้องต้นได้รับข้อมูลจากนักวิจัยที่รวบรวมข้อมูลจากข่าวและข้อมูลจากการโฆษณาของผู้ผลิตที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ รวมทั้งรวบรวมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
“เราให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในภารกิจทางภาคใต้เสมอ ดังนั้น หากทางหน่วยงานของรัฐ สั่งให้เข้าไปทดสอบ เราก็ยินดี แต่ต้องได้รับความยินดีจากเจ้าของเครื่องในการเข้าร่วมทดสอบ อย่างน้อยให้ข้อมูลว่า เครื่องดังกล่าวมีหลักการทำงานอย่างไร มีหลักการวิทยาศาสตร์อย่างไร มีเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์อะไรบ้าง" ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าว
"ถ้ามีข้อเท็จจริงก็พิสูจน์ได้ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกได้เลยว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะอาจจะผิดก็ได้ จากข้อมูลที่มีตอนนี้ ยังบอกไม่ได้ว่าใครผิดใครถูกตอนนี้” ดร.พันธ์ศักดิ์แจง
จากข้อมูลเบื้องต้น ดร.พันธ์ศักด์ได้รับทราบว่า เครื่องดังกล่าวมีความสามารถสูงมาก สามารถใช้ตรวจสอบวัตถุได้หลายชนิด ซึ่งโดยข้อเท็จจริงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้าจำเป็นต้องมีแหล่งพลังงาน
อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ ที่ต้องมีพลังงานจึงจะทำงานได้ หากไม่มีแหล่งพลังงานก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งแหล่งพลังงานนั้น อาจมาจากหลายๆ แหล่งได้ แต่จากเอกสารชี้แจงของผู้ผลิต ระบุว่าแหล่งพลังงานได้มาจากไฟฟ้าสถิต ซึ่งไม่ได้ระบุว่ามาจากไหน แต่ตามหลักการที่มีอยู่ ไฟฟ้าสถิตไม่เพียงพอที่จะให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานได้
“เขาบอกว่า ไฟฟ้าสถิตจะทำให้เครื่องมือนี้ทำงานได้ แต่หลักการของเขาไม่ได้บอกชัดเจน ถ้าจะให้กระจ่างชัดแบบเป็นวิทยาศาสตร์ เราต้องเอาผู้ผลิตมาชี้แจง เพราะผู้ใช้อาจจะไม่ทราบ หากเป็นความลับทางการค้า ก็มาชี้แจงแบบเป็นความลับได้ หากเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานจากภายนอกที่เพียงพอ จึงจะทำงานได้"
"โดยปกติในทางวิทยาศาสตร์ หากเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้อย่างถูกต้อง เมื่อมีพลังงานเพียงพอ ก็จะทำงานได้คงที่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ในการวัด "
"เท่าที่ทราบตามข่าวบอกว่า ทำงานแบบไม่จำกัดเพราะไม่ต้องใช้ถ่าน มีอุปกรณ์เป็นการ์ดเสียบ แต่เราไม่ได้ถือครองเครื่องมือไว้ มีข้อมูลจากเท่าที่เปิดเผย จึงให้ความเห็นได้แค่นี้ ซึ่งเรายินดีเข้าไปตรวจสอบ ภายใต้หลักการที่ผู้ผลิตบอกว่าทำงานได้อย่างไร” ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าว
ผู้อำนวยการเนคเทคกล่าวด้วยว่า ตามหลักอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ไฟฟ้าสถิตจะเป็นอันตรายต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่นอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ไฟฟ้าสถิตจะเป็นตัวทำลายอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์
ผอ.เนคเทคได้อธิบายต่อไปว่า ไฟฟ้าสถิตมีหลายระดับ ตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นไฟฟ้าสถิตใหญ่ที่สุด ทำให้คนถึงตายได้ และไฟฟ้าสถิตระดับนั้นก็ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสียหายได้เช่นกัน
“ต้องถามว่าเอาไฟฟ้าสถิตมาจากไหน ถ้าเป็นไฟฟ้าสถิตจากร่างกายก็น้อยมาก เวลาเราเดินจะเกิดไฟฟ้าสถิตจากการเสียดสี หรือเมื่อเดินบนพรมในหน้าหนาว เราจะสะดุ้งเพราะมีไฟฟ้าสถิตกระโดดขึ้นมา แต่ถ้ามีความชื้นเราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าสถิต"
"ตอนนี้เข้าใจว่าเรารู้คนละนิดละหน่อย ผู้ใช้ก็บอกว่าใช้ได้ ถ้าอย่างนั้นต้องเอาความจริงมาคุยกันให้จบ ผู้ผลิตเป็นใคร เปิดเผยหลักการได้ไหม สำหรับกองทัพก็มีบุคลากรเยอะ นายทหารสัญญาบัตรส่วนใหญ่ก็จบ วท.บ. (วิทยาศาสตร์บัณฑิต) มีคนเก่งเยอะ” ดร.พันธ์ศักด์ตั้งคำถาม
พร้อมกันนี้ ผอ.เนคเทคยังได้ให้ความรู้แก่ผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเครื่องมือที่ให้ค่าในการวัดได้เหมือนเดิมทุกครั้ง วัด 100 ครั้งต้องเหมือนเดิม 100 ครั้ง และเป็นเครื่องมือที่แจ้งให้ผู้ใช้รับทราบได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของแสง เสียง หรือตัวเลข และคนที่ใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์จะไม่มีผลเกี่ยวข้องกับความแม่นยำของตัวเลข ผู้ใช้มีหน้าที่แค่อ่านค่า แล้วนำค่าไปใช้ สำหรับเครื่องมือตรวจวัดมีไม่กี่อย่าง และหากเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยิ่งแคบเข้าไปอีก
“เรายินดีเข้าไปร่วมมือเต็มที่ มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้ เครื่องมือเหล่านี้ทำงานด้วยหลักการอะไร เราก็สามารถจำลองวิธีการ หรือหาเครื่องวัดว่าเครื่องนี้ทำงานได้จริงหรือเปล่า"
"ตอนนี้มีแค่ข้อมูลจากการใช้งานจริง ซึ่งมีหลักสถิติที่จะบอกได้ว่า เครื่องนี้ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ไหนต้องเหมือนกันหมด ทั้งในโลก นอกโลก ไม่เกี่ยวกับคน ไม่เกี่ยวกับสถานที่ ดีที่สุดต้องมีเครื่องของจริง และมีเจ้าของที่บอกว่า เครื่องมือทำงานด้วยหลักการอะไร และมีผู้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาร่วมตรวจสอบ ส่วนการใช้งานได้ไม่ได้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ดร.พันธ์ศักดิ์กล่าว.