xs
xsm
sm
md
lg

"ช่วยเสือไม่ให้สูญพันธุ์" ความท้าทายแห่งปีขาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสือโคร่งอินโดจีนในสวนสัตว์ที่กัวลาลัมเปอร์ ทั้งนี้เสือโคร่งอินโดจีนเป็นเสือที่พบได้ในมาเลเซียและไทย (เอเอฟพี)
จากนักล่าแห่งพงไพร ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ปัจจุบัน "เสือ" กลับตกเป็นผู้ถูกล่าโดยมนุษย์ที่ปราศจากเขี้ยวเล็บ แต่มีความต้องการไม่จบสิ้น แมวใหญ่แห่งป่าจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ก่อนที่เสือลายพาดกลอนจะกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งปีนักษัตร เราต้องช่วยกันยับยั้งความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันจะไม่พบการปรากฏตัวของพรานล่าสัตว์ผิดกฎหมาย แต่จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ดูแลเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กลับทำให้ข่าวที่น่ายินดีกลายเป็นเรื่องน่าวิตก เมื่อวิธีในการล่าเสือ ได้เปลี่ยนจากการซุ่มสังเกตเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ไปสู่การใช้ปืนที่ทำให้ล่าได้เร็ว และหลบหนีเจ้าหน้าที่ไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน

พื้นที่ 6,400 ตารางกิโลเมตรของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอันเกิดขึ้นได้ยาก ในการปกป้องประชากรเสือของโลกที่เหลืออยู่เบาบาง แต่มีการสนับสนุนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) ซึ่งมีฐานอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นของหน่วยลาดตระเวน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดนั้น ได้ช่วยรักษาประชากรเสือให้คงไว้มากกว่า 100 ตัว และยังมีวัวแดง ซึ่งเป็นเหยื่อสำคัญหลงเหลือให้เห็น ตามรายงานของเอเอฟพี

อย่างไรก็ดี ประชากรเสือยังคงลดลงอย่างวิกฤต เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ของมนุษย์ และการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือมากกว่า 9 ใน 10 ของพื้นที่เดิม รวมถึงการล่าเพื่อการค้าหนังและส่วนต่างๆ ของร่างกายเสือ จากเมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 20 มีเสืออยู่ประมาณ 100,000 ตัว แต่ปัจจุบันเสือทั่วโลกเหลืออยู่เพียง 3,200-3,600 ตัว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของเอเชียและรัสเซีย

ส่วนประชากรเสือที่อยู่ในป่าทั่วกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนามก็ลดลงจากประมาณ 1,200 ตัวในปี 1998 เหลือเพียงราว 350 ตัวในทุกวันนี้

“เป็นไปได้ว่า ประชากรเสือในเวียดนาม ลาว และกัมพูชาจะสูญพันธุ์ภายในปีเสือครั้งหน้า หรือในปี 2022 หากเราไม่เร่งดำเนินการเพื่อปกป้อง” ถ้อยแถลงจากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ที่ออกเตือน

หากแต่ความหวังใหม่เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อมีการประชุมครั้งใหญ่ในระดับภูมิภาค เป็นการหารือระดับรัฐมนตรีอาเซียน 13 ชาติที่ยังมีรายงานประชากรเสืออาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่ง ระหว่างวันที่ 27-30 ม.ค.นี้ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

เป้าหมายของการหารือครั้งนี้ ก็เพื่อร่างแผนปฏิบัติสำหรับการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือในเดือน ก.ย. ที่รัสเซีย ซึ่งนายวลาดิมีร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีของรัสเซียมีโครงการรณรงค์เพื่อความอยู่รอดของเสือ (แม้โครงการท่อส่งน้ำมันในไซบีเรียของรัสเซียจะกระทบที่อยู่อาศัยของเสือไซบีเรียก็ตาม)

สำหรับวัตถุประสงค์ของการประชุมเรื่องเสือที่หัวหินนั้นคือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดสัญญาในการให้เงิน เพื่อการอนุรักษ์ที่มากขึ้น และเพื่อโน้มน้าวหลายๆ ประเทศให้ตั้งเป้าจำนวนเสือในการอนุรักษ์ โดยการประชุมจัดขึ้นโดยโครงการริเริ่มอนุรักษ์เสือระดับโลก (Global Tiger Initiative) ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2010 โดยธนาคารโลก สถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonian Institute) และองค์กรเพื่อการอนุรักษ์อีกเกือบ 40 องค์กร โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนเสือเป็น 2 เท่าภายในปี 2020
น่ารักน่าชัง ลูกเสือโคร่งในสวนเสือศรีราชา (เอเอฟพี)



= อ่านเพิ่มเติม =

- รู้จัก "เสือ" เมื่อก้าวสู่ปีขาล
ภาพเสือโคร่งที่วัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือ กาญจนบุรี (เอพี)
เจ้าหน้าที่กำลังช่วยเหลือเสือโคร่งมลายูที่ได้รับบาดเจ็บหลังจากถูกกับดักสัตว์ในบริเวณป่าใกล้ชายแดนไทย-มาเลย์ (เอเอฟพี)
เสือโคร่งในสวนเสือศรีราชา ทั้งนี้ เสือในธรรมชาติเหลืออยู่น้อย จนน่าห่วงว่าจะสูญพันธุ์ (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น