xs
xsm
sm
md
lg

บุกถิ่น “พยัพ คำพันธุ์” กะเทาะแก่นเซียนรุ่นเดอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มีพระมีธรรมะชำระจิต มีพระจงย้ำคิดสิ่งบัดสี
มีพระติดตัวรู้ชั่วดี มีพระดีเป็นที่พึ่งซึ้งทางใจ
มีพระติดตัวใช่โง่งม มีพระอย่าสะสมสิ่งเลวร้าย
มีพระมีศีลธรรมประจำใจ แม้นมีภัยยังมีพระช่วยคุ้มครอง”


กลอนบทนี้ถูกเขียนเมื่อกว่า 10 ปีแล้ว เพื่อเตือนสตินักเลงพระโดยเฉพาะของ “พยัพ คำพันธุ์” นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่อง พระบูชาไทย ซึ่งหากเริ่มหันหน้าเข้าสู่วงการพระเครื่องแล้วย่อมรู้จักกิตติศัพท์ของชายผู้นี้เป็นอย่างดี เพราะบนเส้นทางพระเครื่องตลอด 36 ปี เขาผู้นี้คร่ำหวอดกับพระมาแล้วทุกรุ่นเจอคนมาแทบทุกแบบ เรียกว่าครบเครื่องทั้งบู๊และบุ๋น
พยัพ คำพันธุ์
พยัพ กล่าวสรุปสถานการณ์ความนิยมพระเครื่องในรอบปี 2552 ว่า พระรุ่นที่ยังได้รับความนิยมคือ ชุดเบญจภาคี เป็นพระที่นักเล่นพระยังใฝ่ฝันทุกยุคสมัย นอกจากนี้ยังมี หลวงพ่อเงินวัดบางคลาน หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ เครื่องรางของขลัง อาทิ เบี้ยแก้ เบี้ยจั่น เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน ส่วนพระใหม่ที่มาแรงในปีนี้คือ หลวงปู่ทิมวัดระหารไร่ หลวงพ่อพรหมวัดช่องแค พระสมเด็จเจ้าคุณนรรัตน์ และหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เหล่านี้ล้วนเป็นที่ต้องการของบรรดาผู้นิยมพระเครื่องในปี 52 ทั้งสิ้น

แต่พระองค์ใดที่ “พยัพ” นักเลงพระรุ่นเดอะ ใฝ่ฝันอยากบูชาและอาราธนาขึ้นคอเป็นประจำ

พยัพ คำพันธุ์ เอ่ยว่า วัตถุมงคลที่ติดตัวเป็นประจำประกอบด้วย หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน เบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง หนุมานหลวงพ่อสุ่น ตะกรุดและหมากทุยหลวงหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เหล่านี้เป็นพระในดวงใจ แต่ที่หายากที่สุดในชีวิตและใฝ่ฝันอยากจะได้มานานเห็นจะเป็นพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เมืองชลบุรี ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่าจะได้มา

“พระทุกองค์ท่านดีทั้งหมดทุกเกจิอาจารย์ เว้นแต่เราจะเลือกใช้อะไร เหมือนเราจะซื้อรถสักคัน จะซื้ออะไร รุ่นไหน มีบ้านจะอยากอยู่บ้านแบบไหนเราถึงจะรู้สึกอบอุ่น ฉันใดฉันนั้น พระไม่ต่างกัน เราศรัทธาองค์ไหน ห้อยแล้วมั่นใจก็ห้อย เพราะพระทุกองค์เก่งและมีบารมีทั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะเลือกอะไร สำหรับผมก็แล้วแต่โอกาสบางทีห้อย บางทีก็เหน็บใส่กระเป๋าสลับสับเปลี่ยนกันไป”

นายกสมาคมพระเครื่องฯ บอกว่า ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อห้อยพระส่วนใหญ่เป็นเรื่องแคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ ครั้งหนึ่งขับรถลงสะพานนวลฉวีเกิดรถพลิกคว่ำ 3 ตลบ แต่ยังรอดชีวิตมาได้ กับอีกครั้งที่เดินทางไปในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรเพื่อบริจาคของให้เด็กที่บ้านหินตั้ง เกิดเหตุการณ์รถเบรกแตกพลิกคว่ำ 2ตลบไปกระแทกต้นไม้ที่ปากเหว จึงรอดชีวิตมาได้ ซึ่งโดยส่วนตัวเขาคิดว่าเป็นเพราะบารมีพระท่านที่คุ้มครอง

“พระท่านดี แต่คนล่ะดีไหม ผู้ที่ใช้ต้องมีศีลธรรม ต้องมีคุณธรรม เพราะพระคือที่พึ่งทางใจ ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ทำแต่ความดี ไม่ใช่ว่าคุณมีพระแล้วจะไปอวดอุตริมนุษยธรรม ไม่ใช่ว่าเรามีพระแล้วจะเก่งไม่ถูกต้อง”

พยัพ ให้คำนิยามความเป็นนักเลงพระของตัวเองเสมือนการเดินขึ้นบันได 9 ขั้น ขณะนี้ตัวเขาเดินไปได้เพียง 3 ขั้นเท่านั้น เหตุใดจึงคิดเช่นนี้เพราะคิดว่าพระเครื่องเป็นวงการที่ต้องศึกษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เรียนไม่มีวันจบ และหยุดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะสมมติหยุดไปเพียง 1 ปี ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้เสมอทั้งเรื่องตลาด และค่านิยมบูชาพระ อีกทั้งโดยส่วนตัวยอมรับว่าทุกวันนี้มีนักเล่นพระหน้าใหม่เกิดขึ้นไม่น้อย แต่กว่าจะซึมซับถึงจิตวิญญาณจนเป็นสายเลือดนั้นทำได้ยาก

“พระเป็นสิ่งละเอียดอ่อน แต่เมื่อดูเป็น ก็แล้วดูง่าย คนต่างหากที่ดูยาก เพราะพระเป็นวัตถุชนิดหนึ่งที่ไม่การเปลี่ยนแปลง แต่คนมีชีวิตจิตใจ ดูยากกว่าพระ เพราะฉะนั้นคนที่เล่นพระเราก็ต้องศึกษาด้วย จึงบอกว่าวงการพระไม่มีวันจบ เราได้อะไรเยอะคนที่เข้ามาตรงนี้ได้ทั้งความรู้ อาชีพ ได้ศึกษาศิลปะ เรียกว่าทั้งศาสตร์และศิลป์ครบ”

นักเลงพระรุ่นเดอะ ให้คำแนะนำสำหรับน้องใหม่วงการพระเครื่องว่า หากคิดจะสะสมพระนั้นสิ่งสำคัญต้องมีใจรัก จากนั้นก็ลงมือศึกษาจากหนังสือพระก่อนในเบื้องต้น ดูชื่อ รูปแบบ พิมพ์พระ กรุพระ เนื้อมวลสาร ศึกษาจากหนังสือให้เข้าใจก่อนแล้วค่อยศึกษาจากของจริง

“ไม่ใช่ว่าดูพระปุ๊บจะต้องเช่าเลย ไม่แนะนำ สำหรับคนที่จะสะสม จะเป็นพระอะไรก็ได้ที่มีหรือนับถืออยู่ ขอให้เราเลื่อมใสศรัทธา ตรงนี้สำคัญ พอเริ่มเล่นปุ๊บ ใจรักแล้ว ค่อยศึกษาในสายต่างๆ จะเป็นพระกรุ พระเกจิ ฯลฯ ก็แล้วแต่จะชอบ กระนั้นคนเล่นพระก็ต้องทำบุญและให้ทานมากๆ เพราะถือว่าสิ่งที่เราได้มาเป็นสิ่งที่ท่านประทานให้ ก็ควรคืนสิ่งเหล่านั้นให้สังคม ช่วยต่อศาสนา”เซียนพระรุ่นเก๋า ทิ้งท้าย

เรื่องกล้องต้องรู้
กล้องส่องพระยี่ห้อ Bausch & Lomb ของพยัพ
กล้องส่องพระก็เหมือนอาวุธประจำตัวของเหล่าเซียนพระทั้งหลาย เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการดูพระ บางคนมีกล้อง สวย หรู แพง แต่ดูพระไม่เป็นก็มีถมเถ ดังนั้นก่อนจะส่องพระถึงขั้นบรรลุเซียน ลองมาทำความรู้จักและความเข้าใจเกี่ยวกับกล้องตัวจิ๋วนี้เสียก่อน โดย “พยัพ คำพันธุ์” จะเป็นผู้ไขข้อสงสัย

Q : ทำไมจึงต้องใช้กล้องส่องพระ และคุณสมบัติที่ดีของกล้องต้องมีอะไรบ้าง
P : เดิมทีกล้องส่องพระ เป็นกล้องที่ใช้ส่องเพชร พลอย อัญมณีที่รายละเอียดมากๆ แต่ 40-50 ปีหลัง เมืองไทยเริ่มวิวัฒนาการนำมามาส่องพระ เพราะเลนส์ค่อนข้างดี ทั้งนี้คุณสมบัติของกล้องที่ดีคือต้องพอดีกับระดับสายตาของเรา กล้องส่องพระที่ดีจะทำให้เราแยกแยะมวลสารของพระได้ชัดเจน

Q : กล้องที่เซียนพระใช้เป็นแบบไหน
P : มี 2 ยี่ห้อที่เซียนพระนิยมใช้ คือกล้องสัญชาติเยอรมัน ยี่ห้อ Zeiss และBausch & Lomb ถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งในวงการพระ บางรุ่นขายมือสองราคายัง 2 หมื่นกว่า จุดเด่นของเขาก็คือ ภาพนิ่ง คม และใสแต่นักเล่นพระที่มีระดับหลายๆ คนไม่ใช้กล้องสองรุ่นนี้ก็มี ใช้กล้องธรรมดา ราคาไม่กี่พัน มันเป็นเรื่องของระดับสายตา

Q : อายุการใช้งานกล้อง
P : ปกติเซียนพระจะไม่เปลี่ยนกล้องบ่อย ใช้แล้วใช้เลย อายุการใช้งานบางตัว 20 ปี บางตัว 10 ปี ซึ่งเลนส์พวกนี้มีความทนทาน

Q : เมื่อมีแล้วจะดูแลอย่างไร
P : การรักษาไม่ควรเอาผ้าหยาบๆ หรือกระดาษไปเช็ด ควรจะใช้หนังชามัว หรือผ้าเช็ดกล้อง เช็ดเลนส์โดยเฉพาะ เพราะเดี๋ยวกล้องจะเป็นรอย

Q : คำแนะนำสำหรับมือใหม่
P : ถ้าเรายังเล่นพระไม่นาน หรืออยู่ในระยะเริ่มต้นควรจะใช้กล้องธรรมดาไปก่อน แต่ถ้ามีเงินจะใช้กล้องแพงก็ไม่ว่า หากล้องให้เข้ากับสายตาเราก่อน เหมือนหยิบกล้องมาอันหนึ่งส่องพระ เมื่อส่องแล้วมันมัวหรือเปล่า พร่าหรือไม่ ระยะการส่องกล้องจะอยู่ระยะไม่ใกล้มาก โดยหลับตาข้างหนึ่งแล้วส่อง

Q : กล้องส่องพระของพยัพ คำพันธุ์
P : ผมจะใช้ยี่ห้อ Bausch & Lomb ตลอดเพราะรู้สึกเข้ากับสายตา ตัวแรกที่มีหายในงานคอนเสิร์ต เนื่องจากไปลืมไว้หลังจากดูพระให้แฟนเพลง กล้องที่ใช้ปัจจุบันเป็นของขวัญวันเกิดเมื่อสอบกว่าปีก่อน แต่เฉพาะอันนี้ก็ผ่านการดูพระมาแล้วนับไม่ถ้วน
กำลังโหลดความคิดเห็น