เผยผลการศึกษาใหม่มนุษย์มีศักยภาพวิ่งได้เร็วถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยความเร็วในการวิ่งสูงสุดที่มนุษย์ทำได้นี้ขึ้นอยู่กับความไวในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของร่างกาย ต่างจากความเข้าใจเดิมที่ว่าข้อจำกัดความเร็วของมนุษย์คือความสามารถในการรับแรงของขาแต่ละข้าง
ไลฟ์ไซน์เผยงานวิจัยล่าสุดระบุว่ามนุษย์เรามีศักยภาพวิ่งได้เร็วถึง 40 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือประมาณ 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่า “ยูเซน โบลต์” (Usain Bolt) นักวิ่งฝีเท้าดีระดับโลกที่สถิติ 100 เมตรไว้ที่ 28 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือ 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ นักวิจัยได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่จำกัดความเร็วของมนุษย์ และได้ข้อสรุปว่าความเร็วสูงสุดของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่ความเร็วในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของร่างกาย ขณะที่การศึกษาก่อนหน้านี้บางส่วนชี้ว่าตัวการสำคัญที่ขัดขวางความเร็วในการวิ่งของมนุษย์คือข้อจำกัดในการนำแรงของขาแต่ละข้างกระทบพื้น
“หากเข้าใจว่านักวิ่งฝีเท้าเร็วทำให้เกิดแรงบนขาแต่ละข้างสูงสุดได้ 800-1,000 ปอนด์ หรือ 3,550- 4,450 นิวตัน ระหว่างที่วิ่งแต่ละก้าว เป็นเรื่องง่ายที่จะเชื่อว่า นักวิ่งจะสร้างแรงได้เข้าใกล้ขีดจำกัดของแรงของกล้ามเนื้อและขาของพวกเขา” ปีเตอร์ เวยานด์ (Peter Weyand) จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเมธอดิสท์ (Southern Methodist University) สหรัฐฯ หนึ่งในทีมศึกษางานวิจัยขีดความสามารถสูงสุดในการวิ่งของมนุษย์กล่าว
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาบนลู่วิ่ง เวยานด์และคณะพบว่าขาของเราสามารถรองรับแรงได้มากกว่าแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการวิ่งที่ความเร็วสูงสุด ซึ่งการศึกษาของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าขีดจำกัดทางชีวภาพสูงสุดนั้นถูกกำหนดโดยเวลา โดยเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ ที่ให้แรงสู่พื้นระหว่างที่เราปั่นเท้า ในกรณีของนักวิ่งเร็วการสัมผัสกันระหว่างเท้ากับพื้นเกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 1 ใน 10 วินาที และแรงสูงสุดจากพื้นเกิดขึ้นเร็วกว่า 1 ใน 12 วินาที เมื่อเกิดการสัมผัสระหว่างพื้นและเท้าครั้งแรก
เพื่อให้เห็นภาพสิ่งที่จำกัดความเร็วในการวิ่งของเรา ทีมวิจัยได้ใช้ลู่วิ่งความเร็วสูงเป็นเครื่องมือเพื่อการวัดแรงที่แม่นยำเมื่อเท้าสัมผัสกับพื้นของลู่วิ่ง นอกจากนี้ยังศึกษากรณีที่ผู้วิ่งมีความเร็วในการวิ่งที่แตกต่างกัน รวมถึงยังศึกษาเรื่องความเร็วในการกระโดด วิ่งไปข้างหน้าและวิ่งกลับหลังให้เร็วที่สุดเท่าที่อาสาสมัครจะทำได้ด้วย
แรงกระทำจากพื้นเกิดขึ้นเมื่อขาข้างหนึ่งกระโดดลงที่ความเร็วสูงสุดมากกว่าแรงที่เกิดจากการวิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงสุดถึง 30% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขาของเรานั้นรองรับแรงได้มากกว่าเมื่อสองขาวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด
แม้ว่าความเร็วในการวิ่งถอยหลังจะช้ากว่าความเร็วในการวิ่งไปข้างหน้าตามที่คาดไว้ แต่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เท้าสัมผัสพื้นที่ความเร็วสูงสุดทั้งในการวิ่งไปข้างหน้าและวิ่งกลับหลังก็เป็นเวลาที่เท่ากัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าการวิ่ง 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน แต่มีช่วงเวลาสัมผัสระหว่างเท้าและพื้นที่เหมือนกันนี้ ชี้ให้เห็นว่า มีข้อจำกัดเชิงกายภาพที่จำกัดความเร็วของเส้นใยกล้ามเนื้อที่ทำให้เท้าของเราดีดตัวจากพื้น
งานวิจัยใหม่ยังแสดงให้เห็นว่าข้อจำกัดของความเร็วในการวิ่งนั้น ถูกกำหนดขึ้นโดยความเร็วในการหดตัวได้อย่างจำกัดของเส้นใยกล้ามเนื้อเอง และความเร็วในการหดตัวของเส้นใยกล้ามเนื้อนี้ได้ทำให้เกิดขีดจำกัดที่ขาของนักวิ่งจะสร้างแรงลงบนพื้นผิวที่วิ่งได้ ซึ่งจากการฉายภาพอย่างง่ายของทีมวิจัยพบว่า ความเร็วในการหดตัวของกล้ามเนื้อทำให้เราเข้าใกล้ความเร็วสูงถึง 48-64 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีที่ความเร็วสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะวิ่่งได้นั้นก็ยังช้ากว่า เสือชีตาห์ซึ่งเป็นสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกถึง 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่อย่างน้อยเราก็ยังเอาตัวรอดจากหมีกริซซีและไดโนเสาร์ทีเรกซ์ที่วิ่งด้วยความเร็วประมาณ 29 กิโลเมตรต่อชั่วโมง