xs
xsm
sm
md
lg

ทำแผนที่ยีน "ต้นชิงเฮา" หวังเพิ่มวัตถุดิบยาต้านมาลาเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กๆ จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราต้องทุกข์ทรมานและเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย (รอยเตอร์)
นักวิจัยอังกฤษทำแผนที่ยีนต้นชิงเฮาสำเร็จ หวังย่นเวลาปรับปรุงพันธุ์พืชต้านมาลาเรีย คาดอีก 3 ปี ได้สายพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง เล็งส่งเสริมเกษตรกรปลูกทั้งในเอเชียและแอฟริกา เร่งผลิตวัตถุดิบยารักษาโรคมฤตยูให้เพียงพอต่อผู้ป่วยในอนาคต พร้อมเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยให้ทั่วโลกนำไปใช้ฟรี

อาร์ตีมิซินิน (Artemisinin) เป็นสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย สกัดได้จากต้นอาร์ตีมิเซีย อันนูอา (Artemisia annua) หรือ "ชิงเฮา" ในชื่อภาษาจีน และ "โกฐจุฬาลำเพา" ในชื่อภาษาไทย ซึ่งได้รับการยอมรับจากแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในขณะนี้ว่าเป็นยารักษาโรคมาลาเรียที่ได้ผลดีที่สุด โดยวิธีรักษาที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกคือวิธี อาร์ตีมิซินิน คอมบิเนชัน เทอราพี หรือ เอซีที (Artemisinin combination therapy: ACT)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 40% ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคมาลาเรีย โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก โดยเป็นเด็กมากถึง 90% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา และบางส่วนในทวีปเอเชีย ทั้งนี้เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาได้ และปัญหาเชื้อดื้อยา

แม้อาร์ตีมิซินินที่สกัดได้จากต้นชิงเฮาจะมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยาได้ผลดี แต่ปัจจุบันยังมีราคาสูง เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยและได้ผลผลิตต่ำ จึงมีความกังวลว่าในอนาคตจะขาดแคลนต้นชิงเฮา และการรักษาผู้ป่วยเกิดความล่าช้าไปทั่วโลก

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญรายงานในรอยเตอร์ว่าในปี 2009 มีพื้นที่เพาะปลูกชิงเฮาในจีน เวียดนาม แอฟริกา และอินเดียรวมกันประมาณ 65 ตารางกิโลเมตร ให้ผลผลิตราว 30 ตันต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับการรักษาประมาณ 60 ล้านชุด แต่ประมาณการไว้ว่าความต้องการยารักษามาลาเรียในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น และควรเตรียมยารักษาสำรองไว้อย่างน้อย 200 ล้านชุด ภายใน 2 ปีนี้

เพื่อให้มีสารอาร์ตีมิซินินจากต้นชิงเฮาเพียงพอสำหรับผู้ป่วยในอนาคต ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งยอร์ก (University of York) สหราชอาณาจักร จึงได้ริเริ่มถอดรหัสพันธุกรรมต้นชิงเฮา พร้อมทำแผนที่ยีน เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับปรับปรุงพันธุ์ต้นชิงเฮาให้ทนทานแข็งแรง และให้ผลผลิตสูง

"วิธีนี้เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางด้านโมเลกุล กับวิธีการผสมพันธุ์พืชแบบดั้งเดิม เราหวังว่าจะได้ชิงเฮาพันธุ์ลูกผสมที่เหมาะสำหรับปลูกในแอฟริกา จีน อินเดีย และประเทศต่างๆ" ศ.เอียน เกรแฮม (Prof. Ian Graham) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ในวารสารไซน์ (Science)

หลังได้แผนที่ยีนของต้นชิงเฮาแล้ว การศึกษาขั้นต่อไปทีมวิจัยจะนำต้นชิงเฮาสายพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกอยู่ในแอฟริกา จีน และอินเดีย มาผสมข้ามพันธุ์ และทดลองปลูกในพื้นที่ต่างๆ จากนั้นคัดเลือกสายพันธุ์ที่ให้สารอาร์ตีมิซินินสูง และเหมาะแก่การเพาะปลูกในสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เพื่อส่งเสริมใก้เกษตรกรในประเทศนั้นๆ เพาะปลูกต้นชิงเฮาสายพันธุ์ที่คัดสรรแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายใน 2-3 ปีนี้

ทั้งนี้ บีบีซีนิวส์ระบุอีกว่าข้อมูลที่ได้จากการวิจัยทั้งหมด ทีมวิจัยจะเผยแพร่สู่สาธารณะสำหรับนำไปใช้ประโยชน์เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน.
ต้นชิงเฮา พืชสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียดื้อยาได้ดีที่สุดในขณะนี้ (บีบีซีนิวส์)
ทีมนักวิทยาศาสตร์อังกฤษทำแผนที่ยีนต้นชิงเฮาสำเร็จ เพื่อย่นเวลาปรับปรุงพันธุ์ต้นชิงเฮาที่ให้ผลผลิตสารต้านมาลาเรียสูง (บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น