นักวิจัยพบเชื้อมาลาเรียชนิดรุนแรงในลิงกอริลลาจากป่าแอฟริกาครั้งแรก เป็นเชื้อตัวร้ายชนิดเดียวกับที่พบในคน ผลการศึกษาชี้สาเหตุจากตัดไม้ทำลายป่า เพิ่มโอกาสคนกับลิงติดต่อสัมผัสกันมากขึ้น เสี่ยงส่งผ่านเชื้อโรคชนิดใหม่ๆ ถึงกันได้ง่าย
ทีมนักวิจัยจากฝรั่งเศส คาเมรูน กาบอง และสหรัฐฯ ทำวิจัยร่วมกัน โดยวิเคราะห์หาเชื้อมาลาเรียจากตัวอย่างอุจจาระของกอริลลาและชิมแปนซีในป่าของประเทศคาเมรูน และจากตัวอย่างเลือดของสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์ป่าและมีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าของประเทศกาบอง ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (Proceedings of the National Academy of Sciences)
บีบีซีนิวส์รายงานว่า ภายหลังการศึกษา นักวิจัยพบหลักฐานดีเอ็นเอของเชื้อ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium falciparum) ในตัวอย่างอุจจาระของกอริลลา 2 สปีชีส์ย่อย ได้แก่ กอริลลาครอสริเวอร์ (cross-river gorilla) และ กอริลลาเวสเทิร์นโลว์แลนด์ (western lowland gorilla) และยังพบเชื้อชนิดเดียวกันในตัวอย่างเลือดของกอริลลาที่ถูกกักขังในกรงด้วยอีก 1 ตัว ซึ่งเชื้อดังกล่าวเป็นปรสิตที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรียชนิดรุนแรงในคน
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อมาลาเรียครั้งแรกในชิมแปนซีและกอริลลาในแอฟริกาครั้งแรกเมื่อช่วงปี 1920 แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในปัจจุบัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยืนยันการมีอยู่ของเชื้อ พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม ในลิงดังกล่าวได้ในคราวนี้ อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ระบุให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในแอฟริกาซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา เป็นเขตแดนอันตรายอย่างสุดขั้วจากโรคมาลาเรีย
ผลการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า การที่มนุษย์บุกรุกทำลายพื้นที่ป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ส่งผลให้มนุษย์สัมผัสกับสัตว์จำพวกไพรเมตที่เคยอาศัยอยู่ในป่ามากขึ้น และมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อโรคให้กันและกันได้ง่ายขึ้นด้วย
ดร.ฟรานซิสโก อายาลา (Dr. Francisco Ayala) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในเออร์วิน (University of California, Irvine) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กล่าวว่า การค้นพบนี้ย้ำให้เห็นถึงอันตรายจากการติดต่อสัมผัสหรือใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างมนุษย์และไพรเมตอื่นๆ ถึงแม้ว่าโรคมาลาเรียจะถูกกำจัดไปจนหมดสิ้นจากมนุษย์แล้ว แต่ปัญหาของเราก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากเชื้อมาลาเรียยังแฝงตัวอยู่ในลิง ฉะนั้นลิงพวกนั้นก็จะกลายเป็นแหล่งรังโรคมาลาเรียต่อไปได้อีก
"มันยังไม่มีความชัดเจนว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ นอกจากพยายามลดการสัมผัสกับสัตว์เหล่านี้ให้น้อยลง" ดร.อยาลา กล่าว
ด้าน ดร.เอียน เฮสติงส์ (Dr. Ian Hastings) อาจารย์อาวุโส วิทยาลัยแพทย์ลิเวอร์พูล (Liverpool School of Medicine) สหราชอาณาจักร กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยให้รู้เกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อมาลาเรียในกอริลลามากยิ่งขึ้น
"บ่อยครั้งที่ยุงมักกัดสิ่งมีชีวิตหลายสปีชีส์ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้นบ่อยๆ เสียด้วย แต่ถ้าหากว่ามันหาสิ่งที่ต้องการจะกัดไม่ได้ พวกมันก็จะกัดสิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากนี้แทน" ดร.เฮสติงส์
"คำถามคือว่า การติดเชื้อมาลาเรียในกอริลลา มันเกิดขึ้นเป็นพักๆ เนื่องจากยุงกัดคนที่มีเชื้อมาลาเรียแล้วส่งผ่านไปให้กอริลลา หรือว่ามันเป็นโรคเฉพาะถิ่น และสามารถถ่ายทอดระหว่างกอริลลาสู่กอริลลาได้" ดร.เฮสติงส์ ตั้งข้อสังเกต