xs
xsm
sm
md
lg

วัวพันธุ์ใหม่เพื่อโลกสีเขียว (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

โคบาลเลี้ยงวัว
ในการเลี้ยงวัวตามปกติวัวจะกินหญ้าที่มี cellulose เป็นองค์ประกอบหลักเพื่อแปลง 1/12 กับ 1/6 ของหญ้าที่กินได้เป็นเนื้อและนมตามลำดับ ซึ่งนับว่าหญ้าเป็นประโยชน์ แต่เมื่อปีกลายนี้ Rajendra Pachauri ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) แห่งองค์การสหประชาชาติได้เสนอให้ชาวโลกหยุดบริโภคเนื้อวัว 1 วัน ในหนึ่งสัปดาห์เพื่อลดภาวะโลกร้อน
 
ทั้งนี้เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า มูลวัว มีแก๊ส methane ซึ่งเป็นแก๊สเรือนกระจกในปริมาณมาก ยิ่งถ้าเป็นวัวพันธุ์ Holstein จะปล่อยแก๊ส methane ออกมาตลอดชีวิตของมันได้มากถึง 180 กิโลกรัม ในเมื่อแก๊สนี้เก็บความร้อนได้ดีกว่าแก๊ส CO2 ถึง 23 เท่า ดังนั้นวัวจึงเป็นสัตว์ที่สามารถทำให้โลกร้อนได้อย่างไม่มีใครคาดถึง ทั้งนี้เพราะมันคือสัตว์ที่สร้างแก๊สเรือนกระจกได้มากถึง 18% ของแก๊สทั้งหมดนั่นเอง

สถิติขององค์การอาหารแห่งสหประชาชาติได้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันการผลิตเนื้อวัวของโลกได้เพิ่มถึง 4 เท่า ดังนั้นปริมาณแก๊สที่วัวปล่อยออกมา ณ วันนี้ จึงมากถึง 280 ล้านตัน/ปี ตัวเลขนี้น่าจะทำให้ชาวโลกทุกคนตระหนักถึงภัยที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเนื้อวัวอย่างไม่บันยะบันยัง

ประเด็นที่น่าคิดคือ ถึงประชาชนในประเทศที่เจริญแล้วจะหยุดบริโภคเนื้อวัว แต่ผู้คนในประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก เช่น จีน และอินเดีย ก็ยังต้องกินเนื้อวัวต่อไป เพราะร่างกายยังต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง ดังนั้นทางออกสำหรับเรื่องนี้คือ นักวิทยาศาสตร์จะต้องหาวิธีทำเนื้อวัวให้สะอาดคือ ไร้แก๊สเรือนกระจก ซึ่งอาจทำได้โดยการสร้างทุ่งหญ้าที่มีหญ้า ซึ่งทำให้
มูลวัวไม่มีแก๊สเรือนกระจก

ส่วนนักโภชนาการก็ได้พบว่า หากจะเปรียบเทียบกับเต้าหู้ที่ให้โปรตีนเท่าเนื้อวัว การผลิตเนื้อวัวจะต้องใช้พื้นที่ในการปลูกหญ้ามากกว่าพื้นที่ปลูกถั่วถึง 11 เท่า และใช้น้ำมากกว่าถึง 26 เท่า อีกทั้งใช้สารเคมีมากกว่าถึง 6 เท่า และหากเปรียบเทียบกับสัตว์ที่ให้โปรตีนเท่ากัน ในการจะได้เนื้อ 1 กิโลกรัม กสิกรต้องใช้พื้นที่เลี้ยงวัวมากถึง 7 เท่าของพื้นที่ เลี้ยงไก่ และ 15 เท่าของพื้นที่ เลี้ยงหมู

ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงมีความเห็นว่า ถ้าจะทำให้โสหุ้ยการผลิตเนื้อวัวลด เทคโนโลยีพันธุกรรมใหม่ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเวลาวัวกินอาหาร เช่น หญ้า ถั่วเหลือง และข้าวโพด กระเพาะวัวจะสร้าง methane ดังนั้นเพื่อกำจัดแก๊ส หรือลดปริมาณแก๊สนี้ ชาวนาควรให้วัวกินต้น flax และต้น alfalfa ซึ่งเป็นพืชคล้ายถั่ว เพราะต้นไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ มีสารอาหารบริบูรณ์ และมีกรดไขมันที่ไม่ร้ายแรงก็จะทำให้การผลิต methane ลดลง

โครงการลดแก๊สเรือนกระจกที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง คือเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมของวัว นี่คือข้อเสนอของนักวิจัยชื่อ Slepthen Moore แห่งมหาวิทยาลัย Alberta ในแคนาดา ซึ่งได้ศึกษา DNA ของกระเพาะวัวเพื่อค้นหา gene ที่ทำหน้าที่เปลี่ยน cellulose เป็น methane ถ้าหาได้ก็จะหาวิธีลดประสิทธิภาพการทำงานของมัน ส่วนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Colorado State ก็ได้พยายามหา DNA marker ในวัว เพื่อนำมาผสมพันธุ์กัน ให้ได้วัวที่สร้าง methane น้อยลง

เพราะเนื้อวัวเป็นอาหารจำเป็นสำหรับมนุษย์ ดังนั้นเราจึงต้องหาทางประนีประนอม เพื่อจะได้เนื้อมาบริโภคและในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้โลกร้อนด้วย ในเมื่อสถิติการบริโภคชี้ชัดว่า คนจีนวันนี้บริโภคเนื้อ (ไก่ วัว) มากกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ถึง 2.5 เท่า ส่วนคนอินเดียก็กินเนื้อวัวมากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน 36% ดังนั้นในภาพรวมการบริโภคเนื้อในประเทศที่ยากจนจะเพิ่ม 5% ต่อปี ตัวเลขเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นชัดว่า เนื้อยังเป็นปัจจัยหลักในการบริโภคของคน ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้กำลังถดถอย แต่ความต้องการบริโภคเนื้อก็ยังไม่ลด คนรวยในตะวันตกอาจเห็นเนื้อวัว เป็นตัวการสร้างปัญหาโลกร้อน แต่คนจนในตะวันออกเห็นเนื้อคืออาหารที่ให้คุณค่า เพราะให้ทั้งแคลอรีและโปรตีน

แล้วใครจะกล้าบอก คนจนว่าควรลดการกินเนื้อลง ทั้งๆ ที่ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีเนื้อสะอาดที่ไร้แก๊ส melthane ให้บริโภคแทนเลย

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
 วัว Holstein
วัวอียิปต์
กำลังโหลดความคิดเห็น