จุฬาจัด “มหกรรมสุริยุปราคา” คึกคัก นักเรียน-ผู้ปกครองกว่า 500 คนร่วมชมคราสบังดวงอาทิตย์ ด้านนิสิตต้อนรับเงาจันทร์ด้วย “ระบำไล่ราหู”
“มหกรรมสุริยุปราคา 15 มกราคม 2553” ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คึกคักไปด้วยนักเรียน นิสิต นักศึกษา ครู-อาจารย์และประชาชนที่สนใจปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนกว่า 500 คน โดยคราสเริ่มบังดวงอาทิตย์ในเวลา 14.00 น. ซึ่งสร้างความตื่นเต้นกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก และในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเกิดคราสบังมากที่สุด 57.3% ในเวลา 15.37 นาที และจะสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 16.58 น.
ภายในงานยังได้จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับรับชมปรากฏการณ์อย่างปลอดภัย อาทิ กล้องโทรทรรศน์ซึ่งติดแผ่นกรองแสง แผ่นกรองแสงอาทิตย์สำหรับแจกจ่ายประชาชนอีก 1,000 แผ่น เป็นต้น พร้อมกันนี้ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้จัดการแสดง “ระบำไล่ราหู” ระหว่างปรากฏการณ์ด้วย
ด้าน นอ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ซึ่งร่วมจัดกิจกรรมในงานมหกรรมนี้ด้วย กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า กิจกรรมครั้งนี้มีนักเรียนจากหลายโรงเรียนมาร่วมกิจกรรม โดยมีนักเรียนจาก จ.ระยอง 6 โรงเรียน ซึ่งเป็นนักเรียนในโครงการของลีซามาร่วมกิจกรรมด้วย และนอกจากการชมสุริยุปราคาแล้ว ยังมีการตอบปัญหาดาราศาสตร์เพื่อชิงรางวัลภายในงานด้วย
ด.ช.จิตริน โรจน์มหามงคล นักเรียนชั้น ป.3 โรงเรียนสาธิตจุฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ซึ่งเดินทางมาชมสุริยุปราคาร่วมกับคุณแม่ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่าไม่เคยชมปรากฏการณ์สุริยุปราคามาก่อน ครั้งนี้เพิ่งเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นครั้งแรก รู้สึกตื่นเต้นเพราะเป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ จะเกิดสักครั้ง และทราบว่าปรากฏการณ์นี้คือปรากการณ์ที่ดวงจันทร์บังอาทิตย์ ทางด้านคุณแม่คือ นางราวิณี โรจน์มหามงคล กล่าวว่า เคยชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี 2538
สำหรับงานมหกรรมสุริยุปราคาฯ นี้ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมและมัธยม ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)