xs
xsm
sm
md
lg

นักคอมพิวเตอร์ฝรั่งเศสทำลายสถิติหาค่า p

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักคอมพิวเตอร์ฝรั่งเศสทำลายสถิติหาค่าพายได้ที่ 2.7 ล้านล้านตำแหน่ง
นักคอมพิวเตอร์ฝรั่งเศสทำลายสถิติหาค่า p ด้วยคอมพิวเตอร์พีซี และเขียนโปรแกรมขึ้นเอง หาทศนิยมตำแหน่งที่ 2.7 ล้านล้าน ทำลายสถิติเดิมที่มีคนทำไว้ 2.6 ล้านล้านตำแหน่ง

ฟาบรีซ แบลยาร์ (Fabrice Bellard) นักคอมพิวเตอร์ฝรั่งเศสจากสถาบันปารีสเทเลคอมเทค (Paris Telecom Tech) ได้ใช้เวลา 131 วัน คำนวณหาทศนิยมของค่า “พาย” (p ) ด้วยคอมพิวเตอร์พีซีส่วนตัว และเขียนโปรแกรมขึ้นมาคำนวณเอง โดยใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ “เรดแฮทเฟโดรา” (Red Hat Fedora) ซึ่ง physorg.com รายงานว่าเขาหาทศนิยมของค่าพายได้ถึง 2.7 ล้านล้านตำแหน่ง ทำลายสถิติที่มีคนทำไว้ 2.6 ล้านล้านตำแหน่ง

เมื่อเดือน ส.ค.09 ปีที่ผ่านมา ไดสึเกะ ทากาฮาชิ (Daisuke Takahashi) จากมหาวิทยาลัยสึคูบะ (University of Tsukuba) ประเทศญี่ปุ่น ได้ใช้เวลาเพียง 29 ชั่วโมง เพื่อคำนวณหาตำแหน่งทศนิยมทั้งหมดของค่า p แต่เขาใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าหลายล้านบาท และเร็วยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์พีซีของแบลยาร์ถึง 2,000 เท่า

ทั้งนี้ p คือค่าของอัตราส่วนของความยาวรอบเส้นวงกลมต่อเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลม ซึ่งค่าของอัตราส่วนนี้ได้รับความสนใจจากนักคณิตศาสตร์มานานหลายร้อยปี โดยมีความพยายามหาจุดสิ้นสุดทศนิยมของอัตราส่วนนี้ และเซอร์ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton) ได้พัฒนาสูตรคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณหาตำแหน่งทศนิยมของค่า p ที่มากขึ้น

ส่วนแบลยาร์วัย 37 ปีผู้สร้างสถิติใหม่นี้ได้ติดตามการคำนวณหาจำนวนทศนิยมมากที่สุดของค่า p มาตั้งแต่อายุ 14 ปี ซึ่งเขาได้รับหนังสือเกี่ยวกับค่าp เป็นครั้งแรก

สำหรับการคำนวณค่า p นี้ไม่ใช่เพียงความสนุกเพียงชั่วคราวของนักคณิตศาสตร์ เพราะศาสตร์แห่งการค่า p นี้เป็นสาขาหนึ่งของคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า “เลขคณิตความละเอียดไม่เน่นอน” (arbitrary-precision arithmetic)

ส่วนแบลยาร์ก็ไม่ได้คำนวณหาค่า p เพียงเพราะหลงใหลในตัวเลข แต่เขามองว่าคณิตศาสตร์สาขานี้นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ โดยสามารถใช้ทดสอบอัลกอริทึมของซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ได้ และเขายังอวดด้วยว่าวิธีที่เขาใช้หาค่า p นี้แม่นยำกว่าวิธีเดิมๆ ถึง 20 เท่า

“การเขียนโปรแกรมด้วยอัลกอริทึมเหล่านี้เพื่อให้ได้การดำเนินการที่สุดนั้นเป็นความท้าทายของการเขียนโปรแกรมมาก” เอเอฟพีระบุข้อความของแบลยาร์ที่อธิบายความสนใจการหาค่า p ที่แท้จริงของเขา

แบลยาร์ใช้สูตร “ชัดนอฟสกี” (Chudnovsky formula) เพื่อสร้างตัวเลขฐานสอง ซึ่งกระบวนการนี้เขาใช้เวลา 103 วัน จากนั้นทำการตรวจสอบโดยใช้เวลา 34 ชั่วโมงด้วยคอมพิวเตอร์ 9 เครื่อง แต่หากใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องจะใช้เวลาทั้งหมด 13 วัน จากนั้นเปลี่ยนกลับเป็นเลขฐาน 10 โดยใช้เวลา 12 วัน แล้วใช้เวลาพิสูจน์ 3 วัน

มูลค่าคอมพิวเตอร์ของแบลยาร์ที่ใช้คำนวณหาค่า p นี้มีมูลค่าประมาณ 95,000 บาท ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ราคาถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำภารกิจเดียวกัน ซีพียูของเครื่องคือ Core i7CPU มีความถี่ 2.93 กิกะเฮิร์ซ แรม 6 กิกะไบท์ พร้อมฮาร์ดดิสก์ 7.5 เทราไบท์ จากฮาร์ดดิสก์ 1.5 เทราไบท์ 5 ตัว ส่วนซอฟต์แวร์ที่ใช้คำนวณเขาก็เขียนเองทั้งหมด

นอกจากการแข่งขันเพื่อหาตำแหน่งทศนิยมที่มากที่สุดของค่า p แล้ว ยังมีการแข่งขันท่องจำค่า p ซึ่งนักศึกษาปริญญาตรีชาวจีน ลู่ เชา (Lu Chao) ได้สร้างสถิติโลกเมื่อปี 2005 โดยใช้เวลา 1 ปีเพื่อท่องจำทศนิยมค่าp 100,000 ตำแหน่ง และสามารถท่องจำได้ 67,890 ตำแหน่ง ก่อนที่จะเริ่มท่องตำแหน่งที่เหลือผิด ซึ่งการแข่งขันครั้งนั้นใช้เวลาทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง แต่หากจะท่องจำทศนิยมค่า p ที่แบลยาร์คำนวณได้เพื่อสร้างสถิติโลก ต้องใช้เวลากว่า 1,284,000 ปีเลยทีเดียว

ทั้งนี้แบลยาร์เป็นที่รู้จักในฐานะนักพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส (open source) ซึ่งหลังจากสร้างสถิติโลกขึ้นมาใหม่ เขายังไม่มีแผนที่จะหาตำแหน่งทศนิยมของค่า p เพิ่มในอนาคต แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะทำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและความพร้อมของหน่วยเก็บข้อมูลที่ใหญ่ขึ้นและเร็วขึ้น ตอนนี้เขามีแนวโน้มที่จะเผยแพร่ซอฟต์แวร์ในเวอร์ชันสำหรับระบบลินุกซ์และวินโดว์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ ที่สนใจจะสร้างสถิติใหม่แข่งกับเขา

โฮมเพจส่วนตัวของแบลยาร์ http://bellard.org/
แบลยาร์ใช้คอมพิวเตอร์พีซีธรรมดาๆ คำนวณหาค่าพาย
กำลังโหลดความคิดเห็น