xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนหนุน มก. สร้างหุ่นยนต์กู้ระเบิด มอบให้ชายแดนใต้ไว้ใช้งาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอมรรัตน์ ลีลาศวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัคกี้เฟลม จำกัด (ขวา) มอบหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดให้แก่กลุ่มงานเก็บกู้ระเบิดและตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี จสต.สถาพร ถาพรม (ขวา) เป็นผู้แทนรับมอบ (ภาพโดย วช.)
วิศวะ มก. พัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดสำเร็จเป็นรุ่นที่ 3 เสริมกล้อง 3 มิติ ทำลายวัตถุต้องสงสัยได้แม่นยำ เอกชนร่วมมอบเงินบริจาคสร้างหุ่นยนต์ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปใช้งานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้านนักวิจัยต่อยอดพัฒนาร่มบิน-อากาศยานตรวจการณ์ เตรียมส่งมอบให้ กอ.รมน. ทดสอบประสิทธิภาพก่อนนำไปใช้ในพื้นที่จริง

รศ.ดร.ณัฐกา หอมทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด และคณะวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดที่สามารถนำไปใช้งานในพื้นที่จริงได้ โดยได้รับทุนสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันที่พัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดสำเร็จเป็นรุ่นที่ 3 หรือ ทีเอ็กบี-วัน (TXB-I)

ตัวหุ่นยนต์ทำจากวัสดุที่หาได้ในประเทศ มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม และสามารถบรรทุกของจนมีน้ำหนักรวมได้สูงสุด 80 กิโลกรัม ส่วนแขนกลของหุ่นยนต์สามารถยกของได้หนักสูงสุด 25 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรีขนาด 24 โวลต์ ควบคุมได้ทั้งระบบมีสายและระบบไร้สาย ระยะควบคุมในที่โล่งได้ไกลสุด 1.6 กิโลเมตร และระยะควบคุมแบบหวังผล 200 กิโลเมตร สามารถควบคุมเส้นทางการเคลื่อนที่ได้ด้วยระบบจีพีเอสและเข็มทิศอิเล็กทรอนิกส์

"จุดเด่นของหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดตัวนี้คือประดิษฐ์จากวัสดุภายในประเทศทั้งหมด และมีการติดตั้งกล้อง 3 มิติ ที่จะช่วยให้เห็นภาพแบบ 3 มิติ ช่วยให้การยิงทำลายวัตถุต้องสงสัยด้วยปืนฉีดน้ำแรงดันสูงมีความแม่นยำมากกว่ากล้อง 2 มิติ และยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานได้ เช่น อุปกรณ์เอ็กซ์เรย์ (X-ray), อุปกรณ์กวาดตะปูเรือใบ, อุปกรณ์ตรวจจับโลหะ เป็นต้น และหากหุ่นยนต์ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติงาน สามารถนำกลับมาประกอบใหม่และใช้งานต่อไปได้" รศ.ดร.ณัฐกา กล่าว

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวมีต้นทุนการผลิตเพียง 2 แสนบาทต่อ 1 ตัว เมื่อเทียบกับหุ่นยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงถึงตัวละกว่า 10 ล้านบาท โดยล่าสุด นางอมรรัตน์ ลีลาศวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัคกี้เฟลม จำกัด มอบเงินบริจาคจำนวน 2 แสนบาท แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับประดิษฐ์หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด TXB-I จำนวน 1 ตัว เพื่อส่งมอบให้แก่ กลุ่มงานเก็บกู้ระเบิดและตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำไปใช้งานจริงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพิธีมอบไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 53 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้มอบหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดชุดแรก จำนวน 2 ตัว ให้กับศูนย์ข่าวกรองประจำพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำไปใช้งานจริงแล้วเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 52

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ณัฐกา เปิดเผยกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า นอกจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วยังมีสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งในประเทศไทยที่วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดและสามารถนำมาใช้งานจริงได้ จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจัง ซึ่งจะสามารถช่วยประหยัดงบประมาณของชาติและช่วยลดการนำเข้าหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิดจากต่างประเทศได้

นอกจากนี้ รศ.ดร.ณัฐกา และทีมวิจัยยังได้ต่อยอดจากองค์ความรู้ด้านการควบคุมเส้นทางแบบอัตโนมัติของหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด ในการวิจัยและพัฒนาร่มบินอัตโนมัติไร้คนขับ และอากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่ง สำหรับภารกิจสำรวจและตรวจการณ์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการสำรวจภาคพื้นดิน ระบบการเฝ้ารักษาการณ์จากระยะไกล หรือการสำรวจภัยธรรมชาติได้ ซึ่งขณะนี้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมจะส่งมอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นำไปทดสอบใช้งานจริงเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะขยายผลสู่การนำไปใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด TXB-I (ภาพโดย วช.)
ทีมวิจัยสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด ก่อนมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพโดย วช.)
รศ.ดร.ณัฐกา  หอมทรัพย์ (ที่ 2 จากซ้าย) และทีมวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด
อากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่ง สำหรับภารกิจสำรวจและตรวจการณ์ (ภาพจาก รศ.ดร.ณัฐกา  หอมทรัพย์)
การทดสอบการบินของ อากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่ง สำหรับภารกิจสำรวจและตรวจการณ์ (ภาพจาก รศ.ดร.ณัฐกา  หอมทรัพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น