xs
xsm
sm
md
lg

ฤดูนี้ ฤดูไหน? แล้วไยหน้าหนาวถึงราวกับหน้าฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝนตกในฤดูหนาว ทำเอาคนไทยถึงกับประหลาดใจ ว่าฤดูหนาวของไทยหายไปไหน?!!! (ภาพประกอบสายฝนลมแรงที่บริเวณชายฝั่งประเทศอื่นจากไซน์เดลี)
เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว แถมยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่อีกต่างหาก เหมือนมี 3 ฤดูใน 1 วัน จนหลายคนชักสงสัย หรือเริ่มสับสันกันไปเลยว่า เดือนนี้อยู่ในฤดูอะไรกันแน่? หรือนี่คืออีกหนึ่งสัญญาณเตือนจากภาวะโลกร้อน?

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ศรภอ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) อธิบายเรื่องนี้ต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า เหตุที่ในประเทศไทยมีฝนตกในช่วงฤดูหนาวติดต่อกันเป็นเวลานานนับสิบวัน เพราะมวลอากาศเย็นจากจีนที่แผ่ปกคลุมถึงไทยในฤดูหนาวเป็นประจำเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม

"ในฤดูหนาวตามปกติ ไทยจะได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศเย็นที่แผ่มาจากประเทศจีน ผ่านเข้าสู่เวียดนาม ลาว และเข้าสู่ไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในปีนี้มวลอากาศเย็นจากจีน ถูกเบียดออกไปทางตะวันออกมากขึ้น แทนที่จะเข้าสู่ประเทศไทย แต่กลับเบนออกไปทางทะเลจีนใต้ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศเย็นที่เกิดขึ้นแถวประเทศญี่ปุ่นอีกทีหนึ่ง " ดร.อานนท์อธิบาย

"ส่วนเหตุที่มีฝนตกนั้นเนื่องนั้น จากทางตอนใต้ของประเทศไทยลงไป มีมวลอากาศร้อนดันขึ้นมาถึงประเทศไทย ขณะที่ในทะเลจีนใต้ มีมวลอากาศเย็น และธรรมชาติของลม จะเคลื่อนที่จากที่เย็นไปที่อากาศร้อนกว่า ทำให้เกิดเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ พัดพาเอาความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาสู่แผ่นดินใหญ่ จึงทำให้มีฝนตกในช่วงนี้"

"ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียส่วนใหญ่ยังคงมีอากาศหนาวเย็นตามปกติ ขณะที่ประเทศไทยและทางใต้ของพม่า ไม่หนาวเท่าที่ควร และคาดว่าไทยน่าจะกลับเข้าสู่หน้าหนาวตามปกติในช่วงกลางเดือนนี้" ดร.อานนท์อธิบาย

อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์ บอกว่า กรณีลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นในฤดูหนาวเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่โดยมากมักทำให้ฝนตกไม่นานเกินกว่า 5 วัน แต่สำหรับปีนี้ผิดปกติไป เพราะมีฝนตกในช่วงฤดูหนาวของไทยติดต่อกันนานเกิน 10 วันแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค.52 จนมาถึงต้นเดือน ม.ค.53

อีกทั้ง ตั้งแต่ที่ ดร.อานนท์ได้ศึกษาเรื่องสภาพภูมิอากาศมานานกว่า 10 ปี เขาก็เพิ่งพบว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีฝนตกติดต่อกันในฤดูหนาวยาวนานขนาดนี้

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ถามต่อว่านี่ เป็นผลจากภาวะโลกร้อนหรือไม่ ผอ.ศรภอ. ชี้แจงว่า ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนหรือไม่ เพราะกรณีฝนตกในฤดูหนาวติดต่อกันนานเช่นนี้ เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่หากเกิดขึ้นอีกเป็นประจำในปีต่อๆ ไป เราถึงอาจบอกได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นแล้วจริงๆ

นอกจากนั้น ผอ.ศรภอ. ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วงที่รุนแรงมากที่สุดของปรากฏการณ์เอลนิโญในรอบนี้ ซึ่งจะทำให้ฤดูร้อนปีนี้มีอากาศร้อนและแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา

ที่สำคัญมีการคาดการณ์ว่า วันที่ร้อนมากที่สุดคือวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งในเขตกรุงเทพฯ จะมีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวันอาจคาดเคลื่อนไปบ้าง และอุณหภูมิอาจไม่ร้อนจัดตามทฤษฎี เนื่องจากในวันที่ร้อนที่สุด มักจะมีเมฆค่อนข้างมาก เพราะความชื้นในอากาศส่วนใหญ่จะระเหยกลายเป็นไอและจับตัวเป็นก้อนเมฆช่วยบดบังแสงอาทิตย์ได้.
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
กำลังโหลดความคิดเห็น