xs
xsm
sm
md
lg

8-10 ม.ค.ไปรู้จัก "เกมวิทยาศาสตร์" มันส์ๆ ในงาน "ไทยแลนด์เกมโชว์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนุ่ย-พงศ์สุขกับตัวอย่างเกมวิทยาศาสตรื Science Papa ซึ่งมีให้ทดลองเล่นในงานนิทรรศการเกมวิทย์
"ไทยแลนด์เกมโชว์" เพิ่ม "นิทรรศการเกมวิทย์" เปิดโลกแห่งการศึกษาด้วยความบันเทิง ทำความรู้จักเกมใหม่ๆ ที่ให้ความรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างไม่น่าเบื่อ ทั้งเกมต่อสู้กับเชื้อโรค จักรวาลจำลอง พร้อมแจกซอฟต์แวร์ตะลุยอวกาศในงาน

ไม่ว่าจะเป็นเกม Science Papa พระเอกของงาน ที่จำลองการทำแล็บแบบเหมือนจริง เกมต่อสู่กับเชื้อโรค Biology Battle ฝีมือคนไทยใน XBOX360 พร้อมร่วมตะลุยอวกาศกับซอฟต์แวร์ CELESTIA ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเอกภพทั้งหมด ที่มวลมนุษย์มี พัฒนาด้วยโอเพ่นซอร์สโดยนักพัฒนาทั่วโลก

ทั้งนี้ "นิทรรศการเกมวิทย์" เป็นส่วนหนึ่งของงาน "ไทยแลนด์เกมโชว์ 2010"  (Thailand Game Show 2010) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ม.ค.53 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นการสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยงบประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่ง ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงแนวคิดในการจัดงานดังกล่าวว่า ทางกระทรวงต้องการสนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนานโดยไม่ถูกบังคับ
 
อีกทั้งนายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ซึ่งเป็นรองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดงานเกมติดต่อกัน 3 ปี และประสบความสำเร็จอย่างดี ทางกระทรวงวิทย์จึงเสริมให้มีนิทรรศการเกี่ยวกับเกมวิทยาศาสตร์ และยังเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครองได้รู้จักเกมดีๆ

ด้านนายพงศ์สุข ได้อธิบายถึงนิทรรศการเกมวิทย์ว่า จะจัดขึ้นในส่วนของมีทติงรูม 1-4 ควบคู่ไปกับงานหลัก โดยในส่วนของมีทติงรูม 1-2 เป็นส่วนของกิจกรรม Science Game Show ที่แนะนำเกมวิทยาศาสตร์กว่า 30 เกม ครอบคลุมเรื่องการทดลองในห้องปฏิบัติการ กฎทางฟิสิกส์ ชีววิทยา นาโนเทคโนโลยี และดาราศาสตร์
 
มีเกม Science Papa เป็นพระเอกของงาน ซึ่งเป็นเกมที่จำลองการทดลองต่างในห้องปฏิบัติการเสมือนจริง สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ ช่วยเสริมในข้อจำกัดของการทดลองจริงที่ต้องใช้อุปกรณ์สิ้นเปลืองและเป็นอันตราย รวมทั้งเกมผลงานคนไทย Biology Battle ซึ่งเป็นเกมเกี่ยวกับต่อสู้เชื้อโรคในเซลล์สำหรับ XBOX 360

ในส่วนมีทติงรูม 3 เป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์วีดิโอเกม ที่แสดงพัฒนาการของเกมจากอดีตถึงปัจจุบัน และห้องมีทติงรูม 4 ที่จัดแสดง "จักรวาลจำลอง" (Digital Universe) โดยใช้ซอฟต์แวร์ CELESTIA ที่จะนำผู้เข้าชมร่วมตะลุยอวกาศไปยังดวงดาวและกาแลกซีต่างๆ ซึ่งซอฟต์แวร์นี้เป็นผลงานพัฒนาด้วยโอเพ่นซอร์ส (Open Source) โดยนักพัฒนาทั่วโลก และรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมด เกี่ยวกับเอกภพที่มีอยู่ในปัจจุบัน และซอฟต์แวร์นี้จะมีเวอร์ชันอัพเดตอยู่เสมอๆ ทั้งนี้ภายในงานยังจะได้แจกซอฟต์แวร์ CELESTIA แก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย

สำหรับเกมวิทยาศาสตร์เหล่านี้ นายพงศ์สุขกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่ายังไม่เคยมีใครนำเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งการพัฒนาเกมวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุโรป และมีใช้ในการเรียนสอน อีกทั้งเกมเหล่านี้ถูกจัดให้อยู่ในเรต E คือทุกคนเล่นได้  แต่เมื่อเทียบกับเกมซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปแล้ว เกมวิทยาศาสตร์ได้รับความนิยมอยู่ในระดับกลางๆ 
คุรหญิงกัลยา (ซ้าย) ทดลองเล่นเกมวิทยาศาสตร์ฯ
เกม Science Papa
ส่วนหนึ่งของเกม Biology Battle ที่ให้ทดลองต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้ามาทำร้ายเซลล์
กำลังโหลดความคิดเห็น