xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโพล "หัวเฉียวโฟกัส" ประเดิมผลสำรวจชี้ชาวเกมหนุนจัดเรตติ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ม.หัวเฉียวฯ เปิดตัวโพลสะท้อนสังคม "หัวเฉียวโฟกัส" ประเดิมผลสำรวจแรก เผยทัศนคติผู้เล่นเกมสนับสนุนการจัดเรตติ้งเกมในประเทศไทยและมองว่ามีประโยชน์ พร้อมสัมมนาหาแนวทางลดปัญหาและทำให้การจัดเรตติ้งเกมประสบผลสำเร็จ เอกชนชี้ภาครัฐต้องบังคับใช้กฏหมายจริงจัง ส่วนพ่อแม่ต้องช่วยดูแล รวมถึงกวาดล้างแผ่นผี ด้านผู้ให้บริการเกมออนไลน์ยันหนุนจัดเรตติ้งเต็มที่

วันนี้ (18 ก.พ.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว "หัวเฉียวโฟกัส" โพลสำรวจความคิดเห็นสะท้อนสังคม พร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในภาพรวม

รศ.ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้ชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินงานของหัวเฉียวโฟกัสว่า จะดำเนินงานโดยศูนย์วิจัยสังคมและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ โดยมุ่งเน้นการนำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติของประชาชนเฉพาะเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ดร.วรรณรัตน์ รัตนวรางค์ ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการหัวเฉียวโฟกัส ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นลำดับแรกของโครงการภายใต้หัวข้อ "ทัศนคติของผู้เล่นเกมต่อเรื่องการจัดเรตติ้งเกมของภาครัฐ" จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้เล่นเกมออนไลน์จำนวน 1,200 คน พบว่าเป็นเพศชายร้อยละ 75.3 เป็นเพศหญิงร้อยละ 24.7

สัดส่วนอายุของผู้เล่นเกมออนไลน์ 3 อันดับแรก พบว่ากลุ่มอายุที่เล่นเกมออนไลน์มากที่สุดคือกลุ่มอายุ 15 - 19 ปี คิดเป็นร้อยละ 45.7 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 20 - 24 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.5 ตามมาด้วยกลุ่มอายุ 11 - 14 ปี คิดเป็นร้อยละ 20.5 และเมื่อจำแนกตามสาขาอาชีพพบว่าเป็นกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถึงร้อยละ 84.3 รองลงมาคือกลุ่มพนักงานบริษัทหรือองค์กรร้อยละ 6.9 ผู้ประกอบกิจการส่วนตัวร้อยละ 4.7 กลุ่มคนว่างงานร้อยละ 1.6 ผู้รับราชการหรือพนักงานของรัฐร้อยละ 1.1 พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 1.0 และอื่นๆร้อยละ 0.3

จากการสำรวจรายได้ของผู้เล่นเกมออนไลน์ พบว่าผู้เล่นส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 บาทหรือน้อยกว่า คิดเป็นร้อยละ 39.1 รองลงมาคือ 2,001 - 4,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 22.0 ขณะที่รายได้เฉลี่ยสูงสุดจากการสำรวจคือ มากกว่า 80,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.7 ขณะที่การสำรวจอายุเฉลี่ยในการเริ่มเล่นเกมออนไลน์ของกลุ่มตัวอย่าง 3 อันดับแรกพบว่าส่วนใหญ่เริ่มเล่นที่อายุเฉลี่ย 10 -14 ปี คิดเป็นร้อยละ 51.4 รองลงมาคือเริ่มที่อายุเฉลี่ย 15 - 19 ปี คิดเป็นร้อยละ 21.3 ถัดมาคือเริ่มที่อายุเฉลี่ย 5 - 9 ปี คิดเป็นร้อยละ 14.0

จากการสำรวจถึงเรื่องการรับรู้ต่อการจัดเรตติ้งเกม พบว่ากลุ่มตัวอย่างรู้เรื่องการจัดเรตติ้งเกม คิดเป็นร้อยละ 66.6 และส่วนที่ยังไม่รู้เรื่องของการจัดเรตติ้งเกม คิดเป็นร้อยละ 33.4 โดยกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งเกม คิดเป็นร้อยละ 86.9 ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งเกม คิดเป็นร้อยละ 13.1 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างยังเห็นว่าการจัดเรตติ้งเกมมีประโยชน์ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 48.0 ส่วนกลุ่มที่เห็นว่ามีประโยชน์มาก คิดเป็นร้อยละ 37.7 ขณะที่กลุ่มที่เห็นว่ามีประโยชน์น้อย คิดเป็นร้อยละ 14.8

ภายหลังการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของ "หัวเฉียวโฟกัส" ภายใต้หัวข้อ "ทัศนคติของผู้เล่นเกมต่อเรื่องการจัดเรตติ้งเกมของภาครัฐ" เสร็จสิ้น ได้มีการสัมมนาเรื่องการจัดเรตติ้งเกมในประเทศไทย เพื่อให้สอดรับการดำเนินงานของ "หัวเฉียวโฟกัส" ที่จะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมีตัวแทนสื่อฯเกม ตัวแทนเยาวชนผู้เล่นเกม ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนจากบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจเกมออนไลน์เข้าร่วมสัมมนาดังกล่าว ซึ่งความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การจัดเรตติ้งเกมจะประสบผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อครอบครัวให้ความร่วมมือในการดูแลบุตรหลาน รวมถึงการดำเนินการกวาดล้างกลุ่มธุรกิจค้าซอฟท์แวร์เถื่อน ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเกมออนไลน์ต่างก็เห็นพ้องและยินดีที่จะสนับสนุนการจัดเรตติ้งเกมในประเทศไทย

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โชว์ไร้ขีด กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งเกมในประเทศไทย เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีอารยะของประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดเรตติ้งประสบผลสำเร็จคือจะต้องมีการบังคับใช้ตามกฏหมายรวมถึงดำเนินการกวาดล้างธุรกิจค้าซอฟท์แวร์เถื่อน มิฉะนั้นการจัดเรตติ้งก็จะไร้ความหมายเพราะซอฟท์แวร์เถื่อนเป็นธุรกิจนอกระบบที่มีราคาถูกและง่ายต่อการเข้าถึงของเยาวชน ซึ่งการจัดเรตติ้งไม่อาจควบคุมหรือส่งผลกระทบต่อธุรกิจประเภทนี้ นอกจากนี้ครอบครัวก็เป็นอีกฝ่ายที่จะต้องช่วยกันดูแลบุตรหลาน

"ผมเบื่อผู้ปกครองที่ชอบออกมาพูดว่า ปัญหาเด็กติดเกมต้องให้รัฐมนตรีแก้ ผมเบื่อมาก ลูกอยู่ที่บ้านคุณเองแท้ๆจะต้องให้รัฐมนตรีไปแก้ให้คุณถึงที่บ้านหรือไง ตามหลักแล้วลูกๆจะต้องอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ แต่พ่อแม่ในสังคมไทยอ่อนแออบรมลูกไม่ได้ ญี่ปุ่นและอเมริกาเป็นประเทศผลิตเกมทำไมปัญหาจากเกมถึงไม่เท่าประเทศไทย มีนะครับไม่ใช่ไม่มีแต่ไม่เท่าเมืองไทย เมืองไทยรับอะไรมามีปัญหาหมด เล่นเกมก็มีปัญหา ไฮไฟว์ก็มีปัญหา เอ็มเอสเอ็นก็มีปัญหา แคมฟร็อกก็มีปัญหา ปัญหามันเยอะก็เพราะว่าครอบครัวไทยอ่อนแอ พ่อแม่ไม่สามารถคุยกับลูกเป็นภาษาเดียวกันได้ ทำให้ลูกขาดความเคารพเชื่อถือต้องไปเชื่อเพื่อนแทน มันถึงเวลาแล้วที่พ่อแม่ต้องเข้มแข็ง" นายพงศ์สุข กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น