แม้จะเป็นเพียงปรากฏการณ์ “จันทร์เต็มดวง” ที่เห็นได้บ่อยๆ ในวันพระใหญ่ แต่สำหรับ “บลูมูน” ปราฏการณ์จันทร์เต็มดวง 2 ครั้งในรอบ 1 เดือนนั้นไม่มีให้เห็นทุกปี และในค่ำคืนส่งท้ายปีใหม่เราจะเห็นจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน ซึ่งจะเต็มดวงจริงๆ เมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่ พร้อมด้วยจันทรุปราคาเงามัวหลังเคาท์ดาวน์ไม่นาน
ในค่ำคืนวันที่ 31 ธ.ค.ของปี 2552 ที่กำลังจะผ่านไป ท้องฟ้าจะประดับด้วย “จันทร์เต็มดวง” เป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือน หลังจากที่จันทร์เต็มดวงไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “บลูมูน” (Blue Moon) ซึ่งเป็นปรากฏารณ์ที่จะเกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณ 2.5 ปีต่อครั้ง
ทั้งนี้ รอบเต็มดวงของดวงจันทร์อยู่ที่ 29.5 วัน ดังนั้นใน 1 ปีจึงมีช่วงเดือนเต็มดวง 12.4 ครั้ง ซึ่งปกติแต่ละปีจะมีจันทร์เต็มดวง 12 ครั้ง แต่ในบางปีจะมีจันทร์เต็มดวงเพิ่มขึ้นมาเป็น 13 ครั้ง อย่างไรก็ดี ช่วงที่จันทร์เต็มดวงจริงๆ ตามเวลาประเทศไทยคือเวลา 02.01 น. ซึ่งเข้าสู่ปีใหม่แล้ว ดังนั้นไทยจึงไม่ได้เห็น “บลูมูน” ส่งท้ายปีเก่าเหมือนประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯ
ด้าน ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทุกเดือนจะมีวันที่จันทร์เต็มดวง 1 วัน และรอบเต็มดวงของดวงจันทร์นั้นประมาณ 29-30 วัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าจะเกิดจันทร์เต็มดวงภายในเดือนเดียว 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน และแม้จะเรียกว่าบลูมูน แต่ดวงจันทร์ก็ยังมีสีปกติ และการเกิดปรากฏารณ์เช่นนี้สามารถคำนวณได้
“ในวันส่งท้ายปีของไทย จันทร์ยังไม่เต็มดวง แต่จะเต็มดวงในช่วงเข้าสู่ปีใหม่แล้ว บ้านเราจึงไม่เห็นบลูมูนส่งท้ายปีเก่า แต่สำหรับประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯ จะเห็น และจันทร์จะเต็มดวงพร้อมๆ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ที่จันทร์จะเริ่มแหว่งในช่วงตี 2 กว่าๆ แต่เงาโลกจะบังแค่ 7-8% ไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 15 ม.ค.น่าตื่นเต้นกว่า และที่เชียงใหม่จะเห็นการบังถึง 73%” ดร.ศรันย์กล่าว
สำหรับปรากฏารณ์จันทรุปราคาเงามัวที่จะเกิดพร้อมๆ ปรากฏารณ์บลูมูนนั้น ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่ 00.15 น. ในวันที่ 1 ม.ค.53 ซึ่งอาจไม่เห็นความแตกต่าง เนื่องจากดวงจันทร์ยังสว่างอยู่ และจะเข้าสู่เงามืดของโลกเวลา 01.51 น.ซึ่งเราจะเห็นดวงจันทร์มีลักษณะแหว่งเล็กน้อย และจะถูกบังมากที่สุดเวลา 02.22 น.แล้วเริ่มออกจากเงามืดเวลา 02.53 น. จากนั้นอีกประมาณ 2 ชั่วโมงจึงออกจากเงามัว และดวงจันทร์จะตกเวลา 06.57 น.