นักวิชาการชี้การค้าเสรีสินค้าเกษตรในอาเซียนไม่น่าวิตก เชื่อไทยได้มากกว่าเสีย กระตุ้นการนำเข้า-ส่งออกข้าวไทยได้มากขึ้น ชาวนาไทยอาจได้รับผลกระทบ เพราะข้าวราคาตกบ้าง แต่ไม่น่ามีปัญหามากเพราะรัฐมีโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร พร้อมเสนอแนะรัฐบาลตั้งกองทุนวิจัยข้าวไทยให้เป็นหนึ่ง ชี้พม่าคู่แข่งที่น่ากลัวกว่าเวียดนาม
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่าในรอบ 100 ปี เกิดวิกฤตข้าวราคาแพงจำนวน 4 ครั้ง โดย 2 ครั้งหลังสุด คือปี 2516 และ 2551 น่าวิตกมากกว่าทุกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม การที่ราคาข้าวแพงขึ้นในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลดีมากว่าผลเสีย เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกข้าว ขณะที่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศยากจนที่ต้องนำเข้าข้าวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเกิดจลาจลขึ้นในหลายประเทศ
"แต่หากราคาข้าวแพงขึ้นเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และทำให้ผลผลิตข้าวของไทยลดลง 20-30% จะเป็นปัญหาต่อประเทศไทยอย่างมาก เช่นเดียวกับปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวนาไทย เกิดปัญหาความยากจน และส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างรุนแรง" ดร.นิพนธ์ กล่าวในระหว่างการประชุมเวทีข้าวไทย 2552 เรื่อง "วิกฤตข้าวไทย : ใครจะแก้" เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 52 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่จัดโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์ ชี้ว่าการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วางแนวทางแก้ไขปัญหาความเสี่ยงจากราคาข้าวตกต่ำด้วยนโยบายการประกันรายได้แก่เกษตรกร เป็นการประกันความเสี่ยงให้เกษตรกรหากราคาข้าวตกต่ำลง แต่อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวหรือยกระดับราคาข้าวได้
ดร.นิพนธ์ วิเคราะห์ว่า แนวโน้มว่าวิกฤตข้าวที่จะเกิดขึ้น จะมาจากการแทรกแซงของรัฐ เหมือนกับวิกฤตข้าวเมื่อปี 2516 และ 2551 ที่เกิดจากรัฐบาลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (ASEAN Free Trade Area : AFTA) จึงไม่ใช่เรื่องน่าวิตกเท่าการแทรกแซงจากรัฐบาล และน่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทยมากกว่าด้วยซ้ำ โดยเขาได้ยกตัวอย่างความเสียหายที่เกิดจากการแทรกแซงโดยรัฐที่ผ่านมาคือ โครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงกว่าราคาข้าวในตลาดมาก และโชคไม่ดีที่เกิดวิกฤตราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นในปี 2551 พอดี
โครงการรับจำนำข้าวส่งผลกระทบต่อตลาดข้าว เพราะทำให้รัฐเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุด ข้าวมีราคาสูง แต่คุณภาพลดต่ำลง ส่งผลต่อการส่งออกข้าวต้นปี 2552 เพราะข้าวไทยราคาแพงที่สุดในโลก การส่งออกลดลงจาก 27% เหลือ 22% เพราะรัฐซื้อข้าวมาเก็บไว้ในสต็อก ทำให้การส่งออกลดลง ทางที่ดีรัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะเกษตรกรไม่ได้ผลิตข้าวเพื่อค้าขายกับรัฐ
"ตลาดข้าวเสรี ดีอย่างไร?" ดร.นิพนธ์ ตั้งถำถามก่อนจะวิเคราะห์ต่อไปว่า จากหลักฐานในอดีตที่พบว่าตลาดเสรีมีผลดีต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งการส่งออกเป็นจักรกลในการขับเคลื่อนการค้าข้าวไทย หากย้อนกลับไปในปี 2398 ที่มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างไทยกับอังกฤษ พบว่าไทยผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากราว 1 แสนตัน เป็น 1 ล้านตัน ภายในเวลา 50 ปี ซึ่งเห็นชัดเจนว่าผลประโยชน์เพิ่มขึ้น
"ไทยส่งข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งมาตลอดตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา มีส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 30% ปริมาณข้าวส่งออกจาก 1.4 ล้านตัน ผลผลิตข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดข้าวไทยมีทั่วทุกทวีป มีการกระจายข้าวไทยไปทั่วโลก และหลากหลายชนิด แม้แต่ปลายข้าวหอมมะลิ ข้าวไทยคุณภาพสูงขึ้นตามลำดับ ทำให้ขายในราคาสูงกว่าข้าวจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ" ดร.นิพนธ์ กล่าว ซึ่งเขามีความเห็นว่าการเปิดเสรีการค้าตลาดสินค้าเกษตรที่จะเริ่มขึ้นวันที่ 1 ม.ค. 2553 เป็นต้นไป ไม่ใช่เรื่องน่าวิตก และไม่น่าส่งผลเสียต่อข้าวไทย
ทว่ามาตรการรับมือต่อเรื่องดังกล่าวของรัฐบาลไทยยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการบริหารการนำเข้าข้าว โดยกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เป็นผู้อนุมัติ จะต้องมีการกำหนดด่านการนำเข้า ประเภทของข้าวที่จะนำเข้า และการติดตามตรวจสอบการนำเข้าจากภาครัฐอย่างเข้มงวด
สำหรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากเปิดตลาดเสรีแล้วคือ จะมีการนำเข้าข้าวเข้าประเทศไทยมากขึ้น จากกัมพูชา ลาว พม่า ซึ่งปัจจุบันมีการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเหล่านี้ตามตะเข็บชายแดนอยู่แล้ว และคาดว่าก่อนหน้านี้น่าจะมีการลักลอบนำเข้าข้าวจำนวนหลายหมื่นตัน เพื่อมาสวมสิทธิ์ในการรับจำนำข้าวด้วย ฉะนั้นการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว จึงลดปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวได้จำนวนมาก ซึ่งหากเรายังใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเหมือนเดิม ก็จะมีการลักลอบนำเข้าข้าวตามปกติเหมือนเดิมตามตะเข็บชายแดน แต่ถ้าปล่อยให้มีการนำเข้าข้าวเสรี โรงสี ผู้ส่งออก และโรงงานแปรรูปจะได้ประโยชน์ ขึ้นอยู่กับว่านำเข้าข้าวประเภทไหน
นอกจากนั้น การส่งออกข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะข้าวบางส่วนที่นำเข้ามาในประเทศไทยก็จะถูกส่งออกด้วย เนื่องจากข้าวที่นำเข้าเหล่านั้นคนไทยไม่นิยมบริโภคกัน จึงต้องส่งออกต่อไป และเชื่อว่าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านจะไม่ทะลักเข้าประเทศไทยอย่างมากแน่ เพราะถึงอย่างไรประชากรในประเทศเหล่านั้นก็ยังต้องบริโภคข้าวอยู่ แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อชาวนาไทยอยู่บ้าง เพราะจะทำให้ราคาข้าวไทยต่ำลง เกษตรกรบางรายอาจเลิกทำนาหรือเปลี่ยนไปผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้แก่เกษตรกรอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบในส่วนนี้ต่อชาวนาไทยได้
"หากเปิดการค้าเสรี อาจมีการนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับส่วนต่างของราคาข้าว แต่เชื่อว่าไม่มีการนำเข้าข้าวมากจนถึงขนาดทำให้ชาวนาไทยเลิกปลูกข้าวได้แน่นอน แต่ระยะยาวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งพม่าถือเป็นคู่แข่งไทยที่น่ากลัวมาก ไม่ใช่เพราะข้าวพม่าจะหลั่งไหลเข้ามาสู่ไทยมากขึ้น แต่จะเป็นคู่แข่งในตลาดโลก ขณะที่เวียดนามยังไม่น่ากลัวเท่า เพราะว่าเวียดนามมาถึงขีดจำกัดของที่ดินและน้ำแล้ว" ดร.นิพนธ์ วิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตของข้าวและชาวนาไทย โดยสรุปว่าผลด้านบวกคือ จะมีการนำเข้าและส่งออกข้าวมากขึ้น ส่วนผลด้านลบ ราคาข้าวในประเทศจะลดลง ชาวนาจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ แต่นโยบายประกันรายได้เกษตรกรจะเข้ามาชดเชยในส่วนนี้ได้ เพราะฉะนั้นไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีสินค้าการเกษตรครั้งนี้มากกว่าผลเสีย
ทั้งนี้นี้ ดร.นิพนธ์ เสนอแนะว่ารัฐบาลควรเตรียมรับมือกับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร ด้วยการลงทุนด้านงานวิจัยและการตั้งสถาบันรองรับการเปิดตลาดเสรี ซึ่งการเปิดการค้าเสรีทำให้การค้าข้าวขยายตัว ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่หนึ่งได้ และการเปิดเสรีการค้าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันที่มีหน้าที่ดูแลกลไกตลาดเสรีโดยเฉพาะ ส่วนการแทรกแซงของรัฐในตลาดข้าวเป็นอันตรายต่ออนาคตข้าวไทย ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำโดยการประกันรายได้เกษตรกรแทนการแทรกแซงตลาดข้าวในปัจจุบันนี้นั้นถูกต้องแล้ว และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการรับประกันรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม งบวิจัยและงบส่งเสริมการเกษตรของไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากที่เวลานี้เราใช้งบไปในด้านนี้น้อย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องคิดใหม่ โดยเสนอให้รัฐใช้งบในโครงการประกันรายได้ประมาณ 6 หมื่นล้าน จากงบไทยเข้มแข็ง ซึ่งคิดว่าใช้ไม่หมดแน่นอน ให้รัฐเอาเงินที่ประหยัดจากส่วนนั้นมาตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เช่นเดียวกับการดำเนินงานกองทุนมันสำปะหลังที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว