David Livingstone คือ มิชชันนารีชาวสกอตผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนา และเป็นนักสำรวจกาฬทวีป Livingstone เกิดที่เมือง Blantyre ใกล้กรุง Glasgow ในสกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2356 (ตรงกับรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เพราะครอบครัวยากจนเด็กชาย Livingstone วัย 10 ขวบ จึงต้องทำงานหาเงินในโรงงานทอฝ้ายวันละ 12 ชั่วโมง จนอายุ 23 ปี จึงได้เข้าเรียนที่ Anderson’s College ด้วยเงินสะสมที่ได้จากการทำงาน จากนั้น Livingstone ก็ได้เรียนแพทย์ต่อจนสำเร็จจากมหาวิทยาลัย Glasgow แล้วได้ไปสมัครงานเป็นแพทย์มิชชันนารี (หมอสอนศาสนา) ที่ The London Missionary Society โดยตั้งใจว่าจะเดินทางไปจีน แต่ในช่วงเวลานั้นได้เกิดสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีน Livingstone วัย 27 ปี จึงล้มเลิกความตั้งใจและถูกส่งไปทำงานในประเทศแอฟริกาใต้แทน
ทวีปแอฟริกาใต้ในสมัยนั้น เป็นทวีปลึกลับสำหรับคนยุโรป เพราะมีป่าดงดิบที่คนต่างทวีปไม่เคยเข้าไปเหยียบย่าง มีสัตว์ดุร้าย คนป่ากินคน และโรคนานาชนิด ที่สามารถคร่าชีวิตได้ Livingstone จึงเดินทางไปตั้งสถานีอนามัยที่ Kuruman ใน Bechuanaland เพื่อรักษาคนไข้ แต่อยู่ไปๆ Livingstone เกิดความรู้สึกใหม่ คือ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะท่องเที่ยวด้วยเรือแคนู ขี่วัว และเดินเท้า เพื่อสำรวจภูมิประเทศ จึงได้เดินทางข้ามแอฟริกาจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกถึงฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยผ่าน South Africa, Rhodesia, Gambia, Zaire, Angola, Mozambique, Tanzania, Rwanda และ Burundi
อนึ่ง ในช่วงเวลาเดินทาง Livingstone ไม่เพียงเผยแพร่คริสต์ศาสนาและรักษาคนเป็นไข้แต่เขายังทำแผนที่แสดงรายละเอียดของภูมิประเทศที่เขาเห็น ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตเชิงภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยาหรือแพทยศาสตร์ โดยได้ส่งรายงานทั้งหมดไปที่ Royal Geographic Society ที่ลอนดอนเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ นอกจากนี้ ไม่ว่า Livingstone จะอยู่ที่ใดในแอฟริกาเขาก็จะมีคัมภีร์ไบเบิลในมือมีเข็มทิศ และ sextant เพื่อช่วยบอกตำแหน่งที่อยู่ และเวลาพบคนแอฟริกันเขาก็จะยกย่องชาวแอฟริกันผู้ยากไร้อย่างสุภาพ หรือเวลาพบหมอผี Livingstone ก็จะเชิดชูว่าเป็นเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน นั่นคือ Livingstone ใช้ชีวิตทำงานวิทยาศาสตร์และศาสนาไปพร้อมๆ กัน เพื่อต่อสู้ไสยศาสตร์ และความทารุณโหดร้าย โดย Livingstone ได้สร้างโบสถ์ และโรงเรียนเพื่อสอนวิชาสุขศึกษา และสาธารณสุขให้ชาวบ้านด้วย
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ Livingstone สามารถดำรงชีวิตอยู่ในทวีปอันตรายได้อย่างยาวนาน คือการมีความรู้แพทยศาสตร์อย่างเพียงพอที่จะต่อสู้กับมาลาเรียได้ดี เพราะเขาได้เห็นยุงหลายชนิด แต่ Livingstone ก็มิได้ฟันธงลงไปว่ายุงทำให้คนป่วยเป็นมาลาเรีย และสำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ Livingstone ก็จะให้กินยาควินิน หรือให้กินรากต้น jalaq ในกรณีท้องร่วง เป็นต้น
ส่วนสาเหตุสำคัญที่สอง คือ เวลา Livingstone พบใครก็ตาม เขาจะแตกต่างจากคนผิวขาวอื่นๆ ที่จะแผ่เมตตา และแสดงความนับถือคนเหล่านั้น เหล่าคนป่าจึงชื่นชมและชอบไม่เพียงในฐานะแพทย์ที่ช่วยชีวิต แต่ในฐานะมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน ดังเวลา Livingstone เห็นชาวอาหรับ และชาวยุโรปนำคนแอฟริกันไปขายเป็นทาส Livingstone จึงได้ต่อสู้ คัดค้านการกระทำนี้ตลอดชีวิต
Livingstone ได้เข้าพิธีสมรสกับลูกสาวของเพื่อนที่เป็นหมอสอนศาสนาและมีลูก 6 คน และเมื่อลูกสาวคนหนึ่งเสียชีวิต Livingstone วัย 37 ปี จึงส่งครอบครัวกลับอังกฤษ แต่ตนยังอยู่ในแอฟริกาท่ามกลางคนแอฟริกันที่ Livingstone ถือเสมือนเป็นสมาชิกของครอบครัวเดียวกัน จากนั้น Livingstone ก็ได้เดินทางสำรวจทวีปลึกลับต่อ เช่น ได้สำรวจทะเลทราย Kalahari ทางตอนเหนือ และทะเลสาบ Ngami รวมถึงได้พบแม่น้ำ Zambezi และล่องเรือขึ้นจนถึง Kabompo , Liba และ Luanda ใน Angola อีกทั้งได้พบน้ำตก Victoria Falls ในปี 2398 ด้วย
อีก 1 ปีต่อมา Livingstone ได้เดินทางกลับอังกฤษ และพบว่าชาวอังกฤษให้การต้อนรับ และยกย่องเขาเสมือนเป็นวีรบุรุษแห่งชาติ ซึ่งจะน่าเพียงพอสำหรับคนคนหนึ่งแล้ว แต่สำหรับ Livingstone กลับรู้สึกหาได้เพียงพอไม่ เขาได้เดินทางกลับไปแอฟริกาอีก และได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นกงสุลที่ Suelimane แล้ว ได้ออกสำรวจแม่น้ำ Zambezi , แม่น้ำ Shire , แม่น้ำ Ruvuma จนได้เห็นทะเลสาบเกลือ Cholera และทะเลสาบ Nyasa ด้วย (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.