เพราะ "โลกร้อน" ใช่จะเย็นลงง่ายๆ สสวท.จึงสร้างสรรค์ละครเวทีเล่าเรื่อง "ลมพายุ" เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศบนเวทีแสดงในงานความสุขใต้แสงพระบารมี หวังประชาชนสนใจวิทยาศาสตร์และตระหนักถึงปัญหาด้วยละคร
หลังนายกรัฐมนตรีเป็นประธานงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษ 81 พรรษา 5 ธันวาคม "ความสุขของคนไทยใต้แสงพระบารมี” ณ เวทีกลางป้องมหากาฬ ถ.ราชดำเนิน ในเวลา 22.00 น. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการแสดงละครเวที Science Drama ตอน “มาดูกันซิ ลม (พายุ) เกิดได้อย่างไร”
บนเวทีตัวละครหลัก 6 ตัวคือ คุณหมีขาว คุณนกฮูก คุณกบ คุณเต่า คุณกระต่ายและคุณช้าง หลังเสวนากันเรื่องละคร ข่าวสารบ้านเมือง คุณหมีขาวบ่นกับคุณนกฮูกถึงความเป็นห่วงญาติที่ขั้วโลกเหนือ ว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งคุณนกฮูกให้ความเห็นว่า ถ้าใครไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วยตนเองก็คงไม่เข้าใจ
ด้านคุณกบก็เสวนากับคุณเต่าว่า น้ำในบึงสูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งคุณเต่าเดาว่าน่าจะเป็นเพราะน้ำทะเลหนุน แต่ทั้งสองก็เห็นตรงกันว่า ถึงน้ำจะท่่วมก็ไม่เดือดร้อน เพราะต่างก็ว่ายน้ำเป็น ส่วนคุณช้างก็บ่นกับคุณกระต่ายว่าเดี๋ยวนี้กินหญ้าได้ไม่มีความสุขเหมือนเคย เพราะตวัดงวงเพลินๆ ก็ไปเจอถุงพลาสติก ที่อาจไปอุดตันลำไส้ หรือผนังลำไส้อักเสบได้ ซึ่งคุณกระต่ายก็ตัดพ้อว่ามนุษย์นั้นมักง่าย เอาแต่สะดวกตัวเอง จนสัตว์ต้องรับกรรม
ตัดกลับไปที่คุณกบ-คุณเต่าที่ชี้ชวนกันดูสิ่งผิดปกติในหนองน้ำ ซึ่งหลังจาดคุณเต่าอารัมภบทอยู่นาน ก็อธิบายให้คุณกบฟังว่า น้ำจากในเมืองเอ่อท่วมมาในบึง เพราะในเมืองไม่มีพื้นดินให้น้ำซึมลงไปได้ จึงต้องไหลผ่านท่อระบายน้ำด้วยความเร็วมากกว่าซึมลงพื้นดินตามปกติ และถ้าตรงไหนท่อระบายน้ำตัน จากนั้นน้ำก็จะเอ่อท่วมบริเวณนั้น
กลับไปดูคุณกระต่ายและคุณช้างอีกครั้ง ซึ่งจู่ๆ คุณกระต่ายก็ตื่นตูมว่า "ฟ้าถล่ม" แต่จริงๆ แล้วเป็เพียงแค่ลมและคุณกระต่ายก็บ่นว่า ทั้งที่แดดร้อนเปรี้ยง ทำไมลมจึงพัดแรง คุณช้างที่ใฝ่รู้ตามที่คุณนกฮูกบอก ได้อธิบายให้ฟังว่า เป็นเพราะอุณหภูมิของ 2 บริเวณแตกต่างกันมาก มวลอากาศร้อนจะลอยสูงขึ้นๆ ส่วนมวลอากาศที่เย็นกว่าจะไหลเข้าไปแทนที่ จึงเกิดลมขึ้น
แล้วตัวละครทั้ง 6 ก็มาพบกันโดยคุณเต่าและคุณกบถูกพันไปด้วยเศษขยะต่างๆ มากมาย ที่ลอยเอ่อมาพร้อมกับน้ำท่วมเจิ่งนอง ขณะที่คุณช้างและคุณกระต่ายก็ถูกลมพายุพัดมาอย่างแรง ซึ่งคุณนกฮูกธิบายว่าสิ่งที่ทั้ง 4 เจอนั้นเป็นอิทธิพลของพายุฝนเปลี่ยนฤดู และเล่าต่อว่าฝนตกในภาคใต้นั้นเกิดจากลมที่พัดพาไอน้ำจากอ่าวไทยไปเป็นฝน
คุณกระต่ายที่ฟังคำอธิบายของคุณนกฮูกก็พูดขึ้นว่าน้ำนั้นไม่ดีเลย แต่คุณนกฮูกยืนยันว่าน้ำมีประโยชน์หลายอย่าง และยังช่วยเก็บความร้อนด้วย ซึ่งตัวละครทั้งหลายต่างแปลกใจในคำพูดนี้ จึงมีการทดลองบนเวทีเกิดขึ้น
เทียนพรรษาแท่งใหญ่ถูกนำมาจุดไฟบนเวที เพื่อทดลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกโป่งที่เป่าลมให้พองธรรมดา กับลูกโป่งที่มีน้ำด้วย หากนำมาวางไว้เหนือเปลวไฟ สำหรับลูกโป่งที่เป่าให้พองลมนั้น ทันทีหย่อนเหนือเปลวไฟลูกโป่งก็แตกทันที ตรงข้ามกับลูกโป่งที่ใส่น้ำไว้ ซึ่งไม่แตก ตรงนี้คุณนกฮูกอธิบายว่าเป็บเพราะน้่ำช่วยเก็บความร้อนไว้นั้นเอง ผิวลูกโป่งจึงไม่ร้อนเกินไป และไม่แตก
หลังเวทีละครแสดงจบลง ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้คุยกับ สุทธิพงษ์ พงษ์วร นักวิชาการสาขาชีววิทยา และผู้เขียนบทละคร ซึ่งบอกกับเราว่าละครเวทีที่จัดแสดงนี้เป็นเรื่องที่ 3 ของ สสวท. และนำเรื่องลมเป็นหัวข้อในการแสดง เพื่อเชื่อมโยงกับกระแสโลกร้อนซึ่งยังอยู่ และเดี๋ยวนี้อากาศก็แปรปรวน เดี๋ยวร้อน-เดี๋ยวหนาว
ทั้งนี้ลมเกิดจากการเคลื่อนตัวของมวลอากาศเย็นและมวลอากาศร้อน ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวกับไอน้ำ ที่ช่วยเก็บความร้อน ดังจะเห็นได้ในการแสดงที่ลูกโป่งใส่น้ำไม่แตก และเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงต่อไปว่าทำไมป่าไม้จึงสำคญ เพราะป่าไม้สร้างไอน้ำที่เป็นตัวช่วยไม่ให้อากาศแปรปรวน
ด้าน ดร.รวิวรรณ เทนอิสสระ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สสวท.ซึ่งมาร่วมดูการแสดงละครนี้ด้วย บอกเหตุผลที่นำละครมาแสดงในกิจกรรมเทิดพระเกียรตินี้ว่า เพื่อสร้างความตระหนักในวิทยาศาสตร์ และปัญหาโลกร้อน โดยใช้ละครที่เข้าใจง่ายเป็นสื่อดึงความสนใจของเด็กและประชาชนทั่วไปให้สนใจ