สวทช. - เผยประสบการณ์เยาวชนชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในเทศกาลหนังวิทย์ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ สนุกเข้าใจง่าย
“สนุก เข้าใจง่าย เพราะมันเห็นเป็นภาพค่ะ ถ้าเป็นหนังสือ บางทีหนูก็นึกไม่ออกว่าเป็นยังไง” หนึ่งในคำบอกเล่าของเหล่าเยาวชนตัวน้อยจากโรงเรียนนานาชาติ AIT Community School ภายหลังจากการร่วมชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หนึ่งในสถานที่จัดฉายเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 17-27 พฤศจิกายน 2552
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นปีที่ 3 ของ สวทช. ที่ได้ร่วมจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ นับเป็นกิจกรรมที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และสื่อสารเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงและเข้าใจง่ายให้เยาวชน ภาพยนตร์ทุกเรื่องที่นำมาจัดฉายล้วนแสดงได้เห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยาวชนจะได้เรียนรู้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่พบได้รอบตัว ไม่ใช่มีเฉพาะในห้องแลบท่านั้น
ดังจะเห็นได้จากพื้นฐานปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เช่น อาหาร ก็มีทั้งเรื่องวิธีการถนอมอาหาร ทำอย่างไรให้การเพาะปลูกมีผลผลิตสูง ส่วนเครื่องนุ่งห่ม จากเดิมที่มีแค่เส้นใยธรรมชาติ เช่น ไหม ฝ้าย แต่ทุกวันนี้เรามีเส้นใยสังเคราะห์ เช่น ไนล่อน
สำหรับยารักษาโรค จะเห็นได้ชัดเจนว่าขณะนี้ไม่เพียงมียาที่ใช้รักษาโรค แต่ยังมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคด้วย สุดท้ายคือที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายทั้ง ตู้เย็น โทรทัศน์ โทรศัพท์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นอกจากจะเป็นสื่อที่ช่วยดึงวิทยาศาสตร์ให้เข้ามาใกล้เยาวชนมากขึ้นแล้ว การถ่ายทอดผ่านภาพสารคดีที่สวยงาม การทดลองที่สนุกสนาน จะช่วยเปิดใจให้เยาวชนรักวิทยาศาสตร์มากขึ้น และอาจจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนหันมาศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันสัดส่วนของนักวิจัยต่อประชากรที่ทำงาน 10,000 คนในประเทศไทย พบว่ามีนักวิจัยเพียงแค่ 6 คนเท่านั้น ซึ่งนับว่ายังน้อยมาก
“น้องแป๊ะ” หรือ ด.ช. นพณัฐ รัชตะนาวิน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวัดบางเตยนอก กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยได้ดูสารคดี หรือ ภาพยนตร์ทางวิทยาศาสตร์มากนัก แต่พอมาได้มาลองดู ก็รู้สึกชอบ และสนุกดี ในวันนี้ได้ดูเรื่องมนต์ขลังแห่งหมู่เกาะ Azores เห็นโลกใต้ทะเล และสัตว์ทะเลที่หลากหลาย เห็นหมึกยักษ์ที่ตัวใหญ่มาก แต่เรื่องที่ชอบคือ รายการเกรย์แมทเทรีอัล ตอนเสียงของฉัน เป็นคล้ายๆ การทดลองเรื่องเสียง สนุกดี
"ทำให้ได้รู้ว่าเสียงของมนุษย์เกิดมาจากการสั่นสะเทือนของเส้นเสียงในกล่องเสียง ได้เห็นเส้นเสียงด้วยเป็นแถบเส้นสีขาว 2 เส้น และรู้ว่าเสียงผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน โดยผู้หญิงเสียงจะแหลมกว่า เพราะมีเส้นเสียงที่บางกว่า ส่วนผู้ชายจะมีเสียงทุ้มกว่า เพราะมีเส้นเสียงที่หนากว่านอกจากนี้ หลังจากจบภาพยนตร์ มีพี่ๆ วิทยาการมาจัดกิจกรรมเกมให้พวกเราทดลอง เช่น การเปล่งเสียงให้ได้นานที่สุด ก็สนุกดีครับ"
ด้าน “น้องเบล” หรือ ด.ญ.วรัญญา โชคภัทรชัยกิจ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนสารสาสน์วิเทศรังสิต กล่าวว่า ชอบเรื่องรถด่วนขบวนนักทดลอง ที่มีการทดลองหลายอย่างที่ไม่เคยรู้ เช่น หมึกล่องหน แค่เราเติมน้ำร้อนลงไป สีน้ำเงินของน้ำหมึกก็จะหายไปเลย เพราะน้ำร้อนไปทำปฏิกิริยากับน้ำหมึก แต่พอหยดน้ำส้มสายชูลงไป สีน้ำเงินของน้ำหมึกก็จะกลับมา
"เห็นแล้วก็รู้สึกอยากเอาไปทดลองทำที่บ้านบ้าง เพราะทำง่ายแล้วอุปกรณ์ก็หาได้ง่ายในบ้าน และอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาก คือ ศิลปินแห่งการยึดเกาะ ได้เห็นความลับที่อยู่ใต้เท้าของตุ๊กแกเลยว่ามีเส้นขนเล็กๆ มีขนาดเล็กมากถึง 150 นาโนเมตร กระจายเต็มไปหมด ซึ่งเวลาที่ตุ๊กแกเกาะอยู่บนผนังหรือกระจก เส้นขนเล็กๆ ที่ใต้เท้าตุ๊กแกกับกระจกจะมีการแลกประจุไฟฟ้ากัน ทำให้เกิดแรงดึงดูดที่แน่นมาก นอกจากนี้ ที่น่าทึ่งคือตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดค้นแผ่นยึดติดที่มีลักษณะเหมือนท้าวของตัวด้วง ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายๆครั้งด้วย"
ขณะที่ “น้องฟลุ้ค” หรือ ด.ช.ธีรภัทร เงินพจน์ด้วง อายุ 11 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับคุณพ่อและน้องสาว กล่าวว่า ให้คุณพ่อพามาดูแทบทุกวันเลยครับ เพราะว่าชอบมาก เรื่องที่ชอบเป็นพิเศษคือ ดินแดนธรรมชาติอันน่าพิศวง....หนึ่งหนองน้ำกับฝูงฮิปโปยักษ์ เป็นเรื่องของฮิปโปที่ต้องเดินทางหาแหล่งน้ำอยู่ในช่วงหน้าแล้ง เพราะฮิปโปเป็นสัตว์ที่ต้องอยู่ในน้ำหรือโคลนตลอดเวลา เนื่องจากผิวหนังของพวกมันบางมาก
"ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าฮิปโปอาจจะต้องเดินทางไกลถึง 10 กิโลเมตร ในช่วงหน้าแล้งเพื่อหาแหล่งน้ำเพื่อความอยู่รอด และพวกมันต้องเบียดเสียดกันเพื่อให้ตัวมันลงไปอยู่ในบ่อโคลนให้ได้ บางทีก็กัดกัน และบางตัวก็ตาย ดูแล้วสงสาร อยากดูแลฮิปโปครับ"
ส่วน นายสมเกียรติ เงินพจน์ด้วง อายุ 54 ปี คุณพ่อของน้องฟลุ้ค และน้องเฟรนด์ ให้ความเห็นถึงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ว่า มีประโยชน์สำหรับเด็กๆ มาก ภาพยนตร์มีความหลากหลายทั้งวิทยาศาสตร์ การทดลอง ธรรมชาติ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้พวกเขาได้เห็นโลกกว้างที่มากไปกว่าเนื้อหาในหนังสือหรือตำรา อีกทั้งการทดลองต่างๆ ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ
"อย่างลูกๆพอกลับบ้านก็อยากทดลองบ้าง เพราะอยากรู้ว่าผลการทดลองที่ได้จะเป็นเหมือนกับที่เขาทำให้ดูหรือไม่ และที่เห็นชัดเลยคือหลังจากดูเรื่อง Home เด็กๆ บอกว่าอยากปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับโลก เราฟังแล้วก็ดีใจเพราะเขาคิดได้ด้วยตนเอง สุดท้ายนี้ก็อยากให้มีกิจกรรมดีๆเช่นนี้อีก และอยากเชิญชวนให้ผู้ปกครองพาเด็กๆ มาดู เพราะจะช่วยพัฒนาระบบความคิด และความสนใจของเขาได้มากทีเดียว"
เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์... เปลี่ยนวิทยาศาสตร์ให้สนุกกว่าที่คิด