xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2020 "พิษสุนัขบ้า" จะหมดไป ถ้าคนปรับนิสัยเลี้ยงหมา-ควบคุมประชากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.สพ.วีระ เทพสุเมทานนท์ กับสุนัขเพศผู้ที่ผ่านมาการทำหมันด้วยวิธีฉีดยาให้ลูกอัณฑะฝ่อ
เผย "พิษสุนัขบ้า" จะหมดไปในปี 2020 ถ้าคนไทยปรับนิสัยเลี้ยงหมา เทคโนโลยีพร้อมใช้ตั้งแต่กระบวนการวินิจัย รักษา ทำหมัน-ควบคุมประชากรหมา ลดจำนวนสุนัขบ้า แต่ที่สำคัญต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากประชาชนและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

ในปี ค.ศ.2020 หรือปี พ.ศ. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ตั้งเป้าให้ทุกประเทศ ดำเนินงานให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไป ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการศึกษาโรคพิษสุนัขบ้าทางอณูชีววิทยาและภูมิคุ้มกันของระบบประสาท ในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและศึกษาพยาธิกำเนิดของโรค กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่าเป็นไปได้

ทั้งนี้จ ากงานวิจัยทำให้มีเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ มีการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้นและมีสัญญาณว่าการรักษาดีขึ้น แต่ที่สำคัญนั้นประชาชนต้องร่วมมือโดยเลี้ยงสุนัขอย่างถูกต้อง คือฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และทำหมันเพื่อควบคุมประชากรหากคิดว่าไม่สามารถรับภาระเพิ่มได้ เนื่องจากสุนัขจะออกลูกปีละ 2 ครอก และครอกหนึ่งมีลูกสุนัข 4-5 ตัว

อีกทั้ง ยังขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งงานวิจัยพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า "ยาฉีดไข่" หรือยาที่ฉีดให้ลูกอัณฑะของสุนัขฟ่อนั้นปลอดภัย แต่กลับไม่ใช้

สำหรับการทำหมันสุนัขนั้น ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ เพราะเมื่อมีสุนัขเพิ่มขึ้นแต่เจ้าของไม่สามารถเลี้ยงดูได้ และนำไปทิ้ง ก็มีโอกาสที่สุนัขเหล่านั้นจะเป็นโรคพิสุนัขบ้า ซึ่งสุนัขที่เป็นโรค 1 ตัวสามารถแพร่เชื้อให้สุนัขในกลุ่มได้ทั้งหมด และกว่าครึ่งของสุนัขที่รับเชื้อ จะกลายเป็นสุนัขบ้า โดยมีระยะเวลาในการแสดงอาการแตกต่างกัน

จากการสำรวจปัจจุบัน ไทยมีประชากรสุนัขอยู่ 12 ล้านตัวซึ่ง 8 ล้านตัวมีเจ้าของ โดยในอีก 20 ปี หากคนไทยแค่ 2% ที่ใส่ใจในการเลี้ยงดูสุนัขอย่างถูกต้องคือ นำสุนัขไปฉีดวัคซีนและทำหมัน จะมีประชากรสุนัขเพิ่มขึ้น 27.5 ล้านตัว แต่หากความใส่ใจของคนเลี้ยงสุนัขเพิ่มขึ้นเป็น 5% ประชากรสุนัขจะคงที่ที่ 20 ล้านตัว ซึ่งความใส่ใจของประชาชนในการเลี้ยงดูสุนัขนี้ ศ.ดร.ธีระวัฒน์ย้ำว่ามีความสำคัญ

นอกจาก การควบคุมประชากรสุนัขแล้ว ทีมวิจัยพบวิธีใหม่ในการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นความสำเร็จระดับเซลล์ ที่สามารถยับยั้งการเติบโตของไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าได้ในระดับเซลล์เนื้อเยื่อ ซึ่งขั้นต่อไปจะได้ทดลองในสัตว์ ส่วนการวินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีอาการนั้น นอกจากการหาเชื้อจากน้ำลายและไขสันหลังแล้ว ทีมวิจัยยังพบวิธีวินิจฉัยจากปัสสาวะและปมรากผมของผู้ป่วย ซึ่งเป็นวิธีใหม่ของโลกที่ได้ค้นพบมาเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

อีกทั้ง ยังทราบรหัสพันธุกรรมของไวรัสพิษสุนัขบ้าที่มีอยู่ทั่วไทย ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามลักษณะอาร์เอ็นเอ (RNA) และแต่ละกลุ่มยังแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่มีลักษณะยึดครองพื้นที่ ซึ่งหากพบไวรัสกลุ่มอื่นแปลกปนเข้าไป ก็จะบ่งชี้ได้ว่าพื้นที่นั้นๆ มีการควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าไม่ดี

ทั้งนี้ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคพิสุนัขบ้า คือพฤติกรรมของคน โดยทางกลุ่มได้พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในภาคใต้ ที่เกิดจากสุนัขที่คนนำไปจากภาคอืสาน หรือการระบาดในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการขนย้ายสุนัขของคน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า มีนิสิตแพทย์ถามเขาว่า ทำไมจึงยังศึกษาโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ ทั้งที่เป็นโรคโบราณมากและมีมาเป็นร้อยปีแล้ว ซึ่งเหตุผลที่เขายังศึกษาอยู่เนื่องจาก โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคสำคัญที่มีกลไกชาญฉลาด วินิจฉัยได้ยาก และเป็นโรคไวรัสที่ติดจากสัตว์สู่คน ถ้าหากควบคุมโรคจากสุนัขที่เป็นสัตว์บินไม่ได้ ก็อย่าได้คิดที่จะไปควบคุมโรคในสัตว์บินได้.ด้าน ดร.นพ.วิทยา สังขรัตน์ จากภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยโรคพิสุนัขบ้า กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงสิ่งที่ค้นพบใหม่ในการศึกษากลไกการเกิดโรคพิสุนัขบ้าว่า ได้สแกนสมองสุนัขเพื่อเปรียบเทียบสมองสุนัขบ้าและสุนัขทั่วไป แต่ปัญหาคือสมองสุนัขนั้น มีความแตกต่างกันยิ่งกว่าสมองของคน

ก่อนหน้านั้น ทีมวิจัยเคยใช้วิธีเดียวกับการศึกษาสมองคนชรา ซึ่งต้องใช้สมการคณิตศาสตร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนกว่าสมองมาตรฐานทั่วไป แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งทีมวิจัยได้เพิ่มคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนขึ้น โดยหาความน่าจะเป็นของเส้นใยประสาทสุนัข และพบว่าได้ผลที่สอดคล้องกับพยาธิสภาพด้านชีวเคมีของสุนัขที่ติดโรค

สุนัขบ้ามี 2 อาการหลักๆ คือ สุนัขบ้าที่มีอาการซึมๆ ซึ่งจากการสแกนสมองพบว่า แกนสมองของสุนัขมีการเปลี่ยนแปลง จากการอักเสบ เนื่องจากการต่อสู้ระหว่างภูมิคุ้มกันของร่างกายสุนัขกับเชื้อโรค กับสุนัขที่มีอาการก้าวร้าว ซึ่งเมื่อสแกนสมอง พบการเปลี่ยนแปลงในสมองที่แตกต่างจากสุนัขที่มีอาการซึม คือไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่แกนสมอง แต่พบการเปลี่ยนแปลงในเนื้อสมองมากกว่า

"เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า จะเข้าทางไขสันหลังขึ้นสมอง ซึ่งสุนัขที่มีอาการซึมนั้นสามารถสกัดเชื้อไวรัสไว้ที่แกนสมอง แต่สุนัขที่มีอาการก้าวร้าวไม่สามารถสกัดเชื้อไว้อยู่ เชื้อจึงแพร่สู่สมอง น่ายินดีว่าการตรวจภาคสมองนี้เข้ากันได้กับพยาธิสภาพทางชีวเคมี และเราเอาวิธีการศึกษาสมองคนแก่มาใ้ช้ โดยใส่เรื่องความน่าจะเป็นเข้าไป และน่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาสมองคนแก่หรือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วย" ดร.นพ.วิทยากล่าว

สำหรับ การทำหมันสุนัขด้วยวิธีฉีดยาให้อัณฑะของสุนัขฝ่อนั้น ทางกลุ่มวิจัยได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 4-5 ปีแล้ว โดย นสพ.วีระ เทพสุเมทานนท์ จากสถานเสาวภา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยอธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ยาที่ใช้ทำหมันสุนัขนั้น มีใช้อยู่แล้วในสหรัฐฯ สำหรับสุนัข 3-10 เดือน ซึ่งทีมวิจัยได้ดูสูตรเคมีแล้วพบว่า ไม่มีสิทธิบัตรในไทย จึงได้ผลิตใช้ในเมืองไทยโดยมีโรงงานผลิตให้ใช้ในงานวิจัยสำหรับสุนัข 50,000 ตัว โดยได้ใช้กับสุนัขไปแล้ว 2,000 ตัว

ยาที่ใช้นี้จะค่อยๆ ทำลายเซลล์ของลูกอัณฑะที่ผลิตอสุจิ โดยใช้เวลา 1 เดือนจะทำให้เป็นหมันถาวร ซึ่งยาจะทำให้ลูกอัณฑะสุนัขเล็กลง 25% ส่วนปริมาณยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับขนาดลูกอัณฑะ และทางทีมวิจัยกำลังศึกษาผลในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 10 เดือน โดยมีสัตวแพทย์สังกัดกระทรวงมหาดไทยที่ จ.เพชรบุรีและ จ.สมุทรปราการ นำวิธีทำหมันนี้ไปต่อยอด

การทำวิจัยโรคพิษสุนัขบ้านี้ เป็นโครงการที่ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้รับทุนส่งเสริมนักวิจัยอาชีพระยะ 5 ปี เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวถึงความพอใจของโครงการวิจัยนี้ว่า ในด้านวิชาการถือว่าสำเร็จดีเยี่ยม และนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง แม้ว่าจะยังมีปัญหาในการนำไปใช้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นโครงการที่ใช้วิทยาศาสตร์ขั้นสูงไปถึงการใช้งานกับชาวบ้าน

“โครงการนี้รวมตั้งแต่ความรู้ลึกๆ จากห้องแล็บลงไปถึงชาวบ้าน เป็นตัวอย่างงานวิจัยที่ดีมาก โดยส่วนตัวมีความสุขกับการให้ทุน เพราะทีมวิจัยมีผลงานตีพิมพ์ถึง 56 ผลงาน เขียนตำราที่แพทย์อเมริกันนำไปใช้ ในแง่วิชาการก็เป็นที่ยอมรับระดับโลก หมอธีระวัฒน์เป็นนักวิทยาศาสตร์อันดับต้นๆ ของโลกเรื่องพิษสุนัขบ้า แต่การให้ทุนขั้นต่อไป ทีมวิจัยก็ต้องเสนอโครงการเข้ามาใหม่เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกที่เข้มงวดต่อไป" รศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (ซ้าย) ชมสาธิตการทำหมันสุนัขด้วยวิธีฉีดยาใส่ลูกอัณฑะ
การทำหมันสุนัขด้วยวิธีฉีดยาใส่ลูกอัณฑะ
สุนัข 2 หนุ่มที่ผ่านการ ฉีดไข่ ให้ลูกอัณฑะฝ่อ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
กำลังโหลดความคิดเห็น