xs
xsm
sm
md
lg

หยุดขืนใจผู้บริโภคเสียที!

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ปีนี้คุณพ่อของผมอายุย่างเข้า 70 ปีแล้ว …

แม้จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประชากรที่เกษียณอายุมาแล้วหลายปี แต่คุณพ่อก็ยังใช้เวลาหลังเกษียณอายุราชการทำงานอยู่ที่สภากาชาดไทยและสอนนิสิตแพทย์บ้างเป็นบางวันตามคำเชิญของมหาวิทยาลัย ด้วยความที่ท่านเป็นผู้สูงอายุที่ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอด โดยเฉพาะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ในการรับ-ส่งอีเมล อ่านข่าว ค้นหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทำให้กลางปี 2552 ในโอกาสครบรอบวันเกิด ผมกับพี่ๆ จึงตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ให้คุณพ่อหนึ่งเครื่องเพื่อใช้บันทึกข้อมูลส่วนตัว ปฏิทินนัดงาน และเก็บบันทึกรูปถ่ายที่คุณพ่อชื่นชอบ

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมกับภรรยาเดินทางไปเยี่ยมคุณพ่อเหมือนเคย ซึ่งเกือบทุกครั้งที่ไปเยี่ยม คุณพ่อจะสอบถามถึงปัญหาและวิธีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับ โน้ตบุ๊ก โปรแกรมคอมพิวเตอร์ อีเมล Skype รวมไปถึง โทรศัพท์มือถือและโปรแกรมต่างๆ บนโทรศัพท์มือถืออยู่เสมอๆ

ทว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมกลับพบว่าคุณพ่อถูกเรียกเก็บเงินค่าใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายระบบโทรศัพท์มือถือโดยผู้ให้บริการค่ายหนึ่ง ทั้งๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาท่านไม่เคยร้องขอเพื่อเปิดใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเลยและปกติเสียค่าโทรศัพท์เฉลี่ยเดือนละ 400 บาทเท่านั้น

เมื่อคุณพ่อทราบว่า โทรศัพท์ของท่านถูกผู้ให้บริการเครือข่ายเปิดบริการเสริมอื่นๆ โดยที่ท่านไม่ได้ร้องขอ ทำให้โทรศัพท์ของท่านเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าย EDGE/GPRS โดยไม่ได้ตั้งใจ ท่านจึงบอกให้ผมรีบโทรศัพท์ไปที่ศูนย์เพื่อยกเลิกบริการด้วยใบหน้าเสียความรู้สึกเล็กน้อย

พอทราบว่าผมโทร.ไปยกเลิกบริการเรียบร้อย ท่านก็ส่ายหัวและบ่นเบาๆ ว่า “อย่างนี้มันมัดมือชกกันนี่นา”

การได้เห็นสีหน้าและน้ำเสียงเช่นนั้นของคุณพ่อ ผมในฐานะลูกและคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก็อดรู้สึกสะทกสะท้อนใจไม่ได้ว่า เหตุใดสังคมไทยเราจึงปล่อยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่ให้บริการด้านโทรคมนาคม บริการทางการเงิน-ธนาคาร รวมไปถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผู้บริโภคเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างง่ายๆ โดยเฉพาะบรรดาผู้สูงอายุทั้งหลายที่ไม่มีทางตามทันกลเม็ดของบริษัทเหล่านี้

ถามว่า ถ้าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไม่ได้เดินทางไปเยี่ยมคุณพ่อ คุณพ่อจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่ กี่ร้อยบาท หรือกี่พันบาท ให้กับบริการที่ท่านไม่ได้ร้องขอและไม่ได้ตั้งใจใช้ ไม่ต้องนับประชาชนหรือผู้สูงอายุคนอื่นๆ ที่ไม่ประสีประสากับเทคโนโลยีหรือไม่มีบุตรหลานดูแลใกล้ชิด

ในห้วงเวลาที่แวดวงโทรคมนาคมของเรากำลังเห่อกับเทคโนโลยี 3G และถามกันว่าควรจะเร่งให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 3G กันหรือไม่ แต่ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้ตามบ้านซึ่งโฆษณากันโครมๆ ว่าเร็ว 3 เมก (เมกะบิต/วินาที) 4 เมก 5 เมก 10 เมก นั้นเอาเข้าจริงแล้ว ส่วนใหญ่เร็วได้ไม่ถึงครึ่งของที่โฆษณา หรืออย่างดีก็คือได้แค่ร้อยละ 70-80 ของที่โฆษณาเท่านั้น (อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาและทดสอบของ www.speedtest.or.th) มิพักต้องกล่าวถึง การกำหนดอายุการใช้งานโทรศัพท์แบบเติมเงินตามใจชอบ การส่งเอสเอ็มเอสขยะ การยุดยื้อเพื่อไม่ให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Number Portability) สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนแล้วแต่มีต้นตอมาจากความเห็นแก่ตัวของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ การเอาหูไปนาเอาตาไปไร่และการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามของภาครัฐ และองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลทั้งสิ้น

นอกจากการเอารัดเอาเปรียบ การละเมิดสิทธิและการขืนใจผู้บริโภคของบริษัทโทรคมนาคมเหล่านี้แล้ว บริการทางการเงินและธนาคารทั้งหลาย ก็ยังเป็นตัวการสำคัญในการแลกเปลี่ยนหรือขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคให้แก่บริษัท ห้างร้านหรือธุรกิจต่างๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หลังจากที่ผมได้สมัครใช้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง ก็จะมีโทรศัพท์มารบกวนวันละหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจากโรงแรม ฟิตเนส บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต สถาบันการเงินที่โทร.มาปล่อยเงินกู้ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน ฯลฯ

การละเมิดสิทธิผู้บริโภคเหล่านี้ ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านก็คงประสบเช่นเดียวกัน จนในเวลาต่อมาผมจึงแนะนำคนใกล้ชิดว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าทำบัตรเครดิตเลย เพราะเมื่อคุณสมัครคุณจะกลายเป็น “บุคคลสาธารณะ” ไปในทันที ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ประวัติการศึกษา ข้อมูลส่วนตัวและครอบครัวของคุณจะกลายเป็นสินค้าที่บริษัทต่างๆ นำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยที่เราไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงรู้สึกคลื่นไส้ทุกครั้งที่ได้ยิน บริษัทบางแห่งพูดถึงเรื่องการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) เพราะหลายบริษัทเหล่านั้นที่ประกาศว่าตัวเองมีหน่วยงานด้านซีเอสอาร์โดยเฉพาะและโฆษณาว่าตัวเองมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างล้นเหลือ เอาเข้าจริงแม้แต่ลูกค้า ผู้บริโภค ที่จ่ายเงินซื้อบริการและสินค้าของคุณ คุณยังไม่รับผิดชอบต่อพวกเขา ยังคดโกงพวกเขาได้อย่างหน้าด้านๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการป่วยการที่จะโอ้อวดว่าบริษัทของคุณมีความรับผิดชอบต่อคนทั้งสังคมอย่างไร

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2551 ที่มีต้นตอมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาหรือที่สื่อมวลชนโลกเรียกสั้นๆ ว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” และในเวลาต่อมาได้ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ นั้น วิชาเกี่ยวกับ “จริยธรรมทางธุรกิจ (Business ethics)” ในหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือเอ็มบีเอ ของมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐฯ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์วาร์ด นิวยอร์ก ดาร์ทมัธ ฯลฯ กลับกลายเป็นวิชาที่ได้รับความนิยม และถูกแนะนำให้เรียนกันมากขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ทำให้บรรดาสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ ต้องปรับตัว ก็คือ มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า หลักสูตรเอ็มบีเอนั้น แท้จริงแล้วมิได้ถูกย่อมาจากคำว่า Master of Business Administration แต่ย่อมาจากคำว่า Me Before Anyone ต่างหาก และด้วยการให้การศึกษาซึ่งอบรมบ่มเพาะให้คนเห็นแก่ตัวเป็นใหญ่ เห็นแก่ผลประโยชน์บริษัทเป็นสำคัญ เห็นแก่ผลกำไรเป็นหลักเช่นนี้นี่เองที่ทำให้วาณิชธนกิจและบรรษัทด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีบุคลากรจำนวนมากซึ่งจบหลักสูตรเอ็มบีเอต้องล้มละลายและล่มสลายลงไป จนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาและเศรษฐกิจโลกในภาพรวมต้องสั่นคลอนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนฝรั่งบางเจ้าก็กระแนะกระแหนว่า กระแสเห่อจริยธรรมของหลักสูตรเอ็มบีเอในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ เอาเข้าจริงก็คงเป็นเพียงแค่เรื่องเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น และสุดท้ายวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากความโลภของบรรดานักธุรกิจและนักการเงินทั้งหลายซึ่งประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าเป็นต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ก็จะกลับมาหลอกหลอนพวกเราอีกอย่างแน่นอน

ส่วนตัว ผมคงไม่เพ้อพกไปไกลถึงขั้นคาดหวังว่า ข้อเขียนนี้จะทำให้บริษัทต่างๆ หันกลับมาใส่ใจผู้บริโภคอย่างจริงๆ จังๆ เพราะเพียงแค่การตามข่าวมลพิษที่มาบตาพุด จ.ระยอง ผมก็อ่อนอกอ่อนใจเต็มทีกับความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐและความเห็นแก่ตัวของบริษัทเอกชนบางแห่ง

ผมเพียงสัญญากับตัวเองว่า ในฐานะสื่อมวลชน ต่อแต่นี้ไปจะเกาะติดเรื่องสิทธิผู้บริโภคให้มากขึ้นและคาดหวังว่าสักวันหนึ่งผู้บริหารขององค์กรธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเหล่านั้นจะดวงตาเห็นธรรมเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น