แพทยสภาเอกฉันท์ดันรับรอง "หลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ" เชื่อมีประโยชน์ ไม่มีอะไรเสียหาย ระบุมีเงื่อนไขต้องเป็นเด็กสัญชาติไทย ใช้ทุน 3 ปี ไม่ส่งผลกระทบต่อหลักสูตรปกติ พร้อมติดตามผลทุก 6 เดือน ฟันธงเคลียร์ปัญหาภายในมหาวิทยาลัยไม่จบก็เปิดหลักสูตรไม่ได้
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการแพทยสภาครั้งที่ 1 /2553ว่า ที่ประชุมมีมติไม่รับรองหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์และแพทยศาสตร์บัณฑิตหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2552 (หลักสูตรนานาชาติ) ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่รับรองหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และแพทยศาสตร์บัณฑิตหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2552 (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป และให้รับนิสิตได้จำนวนไม่เกิน 20 คนต่อปี
นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่า โดยมีเงื่อนไขให้รับเฉพาะนักเรียนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น และนิสิตแพทย์ในหลักสูตรภาษาอังกฤษต้องทำสัญญาปฏิบัติงานชดใช้ทุนการศึกษาและเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องผ่านกระบวนการจัดสรรไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนรัฐบาลเป็นเวลา 3 ปี เหมือนนิสิตแพทย์ที่เรียนในหลักสูตรภาคปกติ ส่วนด้านการดำเนินการเรียนการสอนนิสิตแพทย์หลักสูตรแพทย์ภาษาอังกฤษต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อคุณภาพและการจัดการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ตามหลักสูตรปกติ ทั้งในด้านบุคลากร เครื่องมือ เครื่องใช้และวัสดุอำนวยความสะดวกต่างๆ
นอกจากนี้ให้ส่งรายงานการแก้ไขปัญหาภายในสถาบันในประเด็นเรื่องการบริหารความเข้าใจของบุคลากร ความพร้อมของสถานที่สอนและฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก รวมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์ มาตรฐานการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ของแพทยสภา 14 ข้อ ทุก 6 เดือน ให้แพทยสภารับทราบ กรณีที่ในอนาคตคณะฯ ต้องการรับนิสิตเพิ่มเกินร้อยละ 10 ของที่อนุมัติไว้ ต้องทำเรื่องขอนุมัติมานังแพทยสภาเพื่อดำเนินการตรวจประเมินสถาบันตามเกณฑ์มาตรฐานการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ของแพทยสภา 14 ข้อใหม่
“มติคณะกรรมการแพทยสภาออกมาเป็นเอกฉันท์ มีความเห็นตรงกันว่า หลักสูตรภาษาอังกฤษ ถือว่ามีประโยชน์และไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งคณะต่างๆ ก็มีการเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษหรืออินเตอร์กันหมดแล้ว อย่างไรก็ตามหากค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามหลักสูตรนี้ หากมีราคาแพงมากเกินไป ก็อาจไม่มีผู้ที่สนใจเข้าศึกษาก็เป็นได้”นพ.อำนาจกล่าว
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาเพียงรับรองหลักสูตรเท่านั้น ส่วนด้านนโยบายหากจะพิจารณาว่า ควรเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ หรือไม่ จะต้องเปิดให้มีการหารือเป็นวงกว้างไม่ใช่เฉพาะคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เท่านั้น แต่ต้องหารือร่วมกันทั้งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แพทยสภา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายระดับชาติ
“การพิจารณารับรองหลักสูตรของแพทยสภาไม่ถือว่ารีบร้อน เพราะวาระนี้ถูกเลื่อนมาถึง 2 ครั้ง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็รับทราบ ทั้งนี้ การจะเปิดหลักสูตรใดๆ จะต้องผ่านทั้งสภาวิชาชีพและสภามหาวิทยาลัย ที่ผ่านมาหากหลักสูตรได้รับการรับรองแล้วแต่มหาวิทยาลัยไม่มีความพร้อมก็เคยมีมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถเคลียร์ปัญหาในมหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ไม่สามารถเปิดหลักสูตรได้อยู่แล้ว”นพ.สัมพันธ์กล่าว
นพ.สัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาหลักสูตรของแพทยสภาพิจารณาในหลายด้าน เช่น มีความพร้อมและศักยภาพเพียงพอหรือไม่ มีสถานที่เรียนหรือไม่ มีมาตรฐานที่ดีหรือไม่ รวมถึงพิจารณาด้านทรัพยากร โดยต้องมีแพทย์ 1 คนต่อนิสิตแพทย์ 8 คน ห้องสมุด เครื่องมือเครื่องใช้ การปฏิบัติงานทางคลินิกซึ่งทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของแพทยสภา ซึ่งแพทยสภาได้ทำการประเมินหลักสูตรนี้ของมศว ผ่านเรียบร้อยแล้ว