xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไม่สนวิทยาศาสตร์เพราะเรียนหนักเท่าหมอ-วิศวะ แต่รายได้ต่างกันลิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (กลาง)  รศ.คิม ไชยแสนสุข (ที่ 3 จากขวา) และ ประพันธ์ คูณมี (ที่ 2 จากซ้าย) ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง
อธิการรามคำแหงชี้จะแข่งขันเศรษฐกิจกับประเทศอื่น วิทยาศาสตร์ต้องมาเป็นอันดับแรก จะเพิ่มผลผลิตไม่ได้หากประชาชนยังไม่ค่อยรู้อะไร แต่ปัญหาคือเด็กไม่เรียนวิทย์ เพราะเรียนหนักพอๆ กับแพทย์-วิศวะ แต่รายได้ต่างกัน 10 เท่า

รศ.คิม ไชยแสนสุข อธิการการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงกล่าวระหว่างการอภิปราย "บทบาทด้านวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ" เมื่อวันที่ 24 พ.ย.52 ภายในกิจกรรม "38 ปีรามคำแหง" งานวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยราม ณ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น วิทยาศาสตร์ต้องมาเป็นอันดับแรก จากนั้นเศรษฐกิจจึงจะเดินตาม และจะเพิ่มผลผลิตไม่ได้เลยหากประชาชนยังไม่ค่อยรู้อะไร

เราจำเป็นต้องส่งเสริมคนที่เรียนวิทยาศาสตร์ แต่จุดอ่อนคือ เราทุ่มเทให้กับคนที่เรียนด้านนี้น้อยไป เรียนก็ยากเย็นแสนเข็ญ กว่าจะจบได้ คณะอื่นเรียน 2-3 ปีจบ แต่คณะวิทยาศาสตร์ต้องมานะเรียนจนครบ 4 ปี เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น จบมาแล้วยังทำงานหนักแสนสาหัส แล้วยังได้เงินเดือนน้อย ถ้าเราให้เด็กเก่งพอกัน เรียนหมอ เรียนวิศวะ เทียบกับเด็กที่เรียนวิทยาศาสตร์ ผ่านไป 10 ปี เงินเดือนต่างกัน 10 เท่า ทั้งที่เรียนยากพอๆ กัน ทำให้บ้านเมืองเราขาดแคลนคนเรียนวิทยาศาสตร์ กลไกตลาดต้องแก้ไขตรงนี้" รศ.คิมกล่าว

อธิการบดีรามคำแหงยังได้กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ว่า เป็นพื้นฐานของการคงอยู่ของมนุษยชาติ ย้อนกลับไปในอดีต เผ่าพันธุ์แรกที่เข้าใจธรรมชาติของเหล็ก ก็นำมาสร้างเป็นอาวุธที่ช่วยให้รบชนะได้ หรือย้อนกลับไปไม่กี่สิบปี อเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจ และเอาชนะญี่ปุ่นได้เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ก็ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และทำให้หลายประเทศมีความรุ่งเรือง อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น

ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งร่วมอภิปรายบนเวทีเดียวกันนี้ การถึงนโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลว่า นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจที่จะผลักดันเงินวิจัยของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 0.25% เป็น 1% และก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาล ทางพรรคก็มีนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 ประการคือ ให้คนไทยและเด็กเก่งๆ ได้เรียนวิทยาศาสตร์ และทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่วนการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มี 120 ทุนให้นักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศจนจบปริญญาเอก และในระดับมัธยมศึกษาก็มี "ห้องเรียนวิทยาศาสตร์" สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีอาจาย์จากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงเข้าไปดูแล ซึ่งนำร่องอยู่ใน 4 โรงเรียนทั่วประเทศ และหากประเมินว่าประสบความสำเร็จจะขยายออกไปให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐดูแลห้องเรียนวิทยาศาสตร์

สำหรับวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาประเทศนั้น ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวว่าจากนโยบายของพรรคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงนำมาสู่วิสัยทัศน์เมื่อได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีคือ "สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าและทำให้เกิดการแข่งขันได้ ซึ่งต่อจากนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวัง
เวทีอภิปราย บทบาทด้านวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ
หนึ่งในนักวิจัยที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ ต้องใช้ความรู้ต่างๆ มากมาย (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น