"เหล้า" ไม่ได้หมายถึง "แอลกอฮอล์" และ แอลกอฮอล์ก็ไม่ได้มีแต่เหล้าเท่านั้น ซ้ำบางชนิดถ้าใช้ผิด เป็นพิษถึงตาย
จากกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 มีนักโทษทัณฑสถานเรือนจำธัญบุรี เสียชีวิต 4 ราย ขณะที่นักโทษอีกกว่า 30 ชีวิต มีอาการปวดท้องรุนแรงสาหัส จากสาเหตุความเข้าใจผิดแอบลักลอบนำเมทิลแอลกอฮอล์จากการทำเฟอร์นิเจอร์ มาผสมกับโค้กหวังดื่มแทนสุรา รศ.สุชาตา ชินะจิตร ที่ปรึกษาวิชาการฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี (www.chemtrack.org) กล่าวว่า เวลาพูดถึง “แอลกอฮอล์” (alcohol) หลายคนมักจะเหมารวมว่าหมายถึงเหล้า ทั้งที่ความจริงแอลกอฮอล์เป็นชื่อสารเคมีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งที่รู้จักกันมากที่สุดคือ “เอทานอล” (ethanol) หรือ “เอทิลแอลกอฮอล์” (ethyl alcohol) และ “เมทานอล” (methanol) หรือ “เมทิลแอลกอฮอล์” (methyl alcohol) ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้แม้จะมีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน แต่ความเป็นพิษต่อร่างกายนั้นแตกต่างกันอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง
"เอทิลแอลกอฮอล์" หรือ "เอทานอล" มีสูตรเคมีคือ C2H5OH เป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ ไวไฟสูง สามารถละลายน้ำได้ เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด แอลกอฮอล์ชนิดนี้กินได้ นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า ไวน์ และเบียร์ ยาสำหรับเช็ดทำความสะอาดแผล ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ความเป็นพิษต่อร่างกาย คือ โรคพิษสุราเรื้อรังและตับอักเสบ เป็นอาการพิษของผู้เสพสุราเป็นระยะเวลานาน นั่นคือ อาการพิษเรื้อรังที่เกิดจากเอทานอล แต่พิษเฉียบพลันที่เกิดจากการกินเข้าไปมาก ๆ ในครั้งเดียวก็คืออาการเมานั่นเอง แต่ทั้งนี้แม้ว่าเอทานอลจะกินได้ ก็ใช่ว่าจะนำเอทานอลในน้ำยาล้างแผลมาดื่มแทนเหล้าได้ เพราะในน้ำยาล้างแผลจะมีการใส่สีไว้เพื่อป้องกันการนำไปรับประทาน
ส่วน "เมทิลแอลกอฮอล์" หรือ "เมทานอล" มีสูตรเคมีคือ CH3OH เป็นของเหลวใส ระเหยง่าย เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี นิยมใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมการทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา ยาลอกสี ฯลฯ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในธรรมชาติ ความเป็นพิษต่อร่างกายถือได้ว่า มีพิษมาก โดยเมทานอลสามารถดูดซึมได้ทางผิวหนัง ลมหายใจ ผู้ที่สูดดมเข้าไประคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมอักเสบ หลอดคออักเสบ มีการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ
หากหายใจเอาเมทานอลเข้าไปมาก ๆ จะทำให้เกิดการปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นจะผิดปกติจนอาจทำให้ตาบอดได้ แต่หากดื่มเข้าไป ทางเดินอาหารจะดูดซึมละกระจายเข้าสู่กระแสเลือดทันที มีผลให้ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เห็นภาพไม่ชัด มีผลต่อประสาทตา อาจทำให้ตาบอด ที่สำคัญยังมีผลต่อระบบหายใจ ทำให้ไตอักเสบ กล้ามเนื้อตับตาย หรือโลหิตเป็นพิษ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
รศ.สุชาตา กล่าวต่อว่า เหตุการณ์การเสียชีวิตเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ดังเช่น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 มีข่าวผู้ต้องขังที่เรือนจำอยุธยาต้องถูกนำส่งเข้าโรงพยาบาล 11 คน โดย 2 คน มีอาการสาหัสและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากสาเหตุของการดื่มเมทิลแอลกอฮอล์ผสมน้ำเข้าไปเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีกรณีของชาวบ้านที่มักนิยมต้มเหล้าทานเอง และใช้วิธีเพิ่มดีกรีของเหล้าให้แรงด้วยการซื้อแอลกอฮอล์มาเติม ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตหลายครั้ง
“เวลาเราบอกว่าซื้อแอลกอฮอล์โดยไม่ระบุชื่อที่ชัดเจน เมื่อไปซื้อคนละร้านก็จะได้แอลกอฮอล์ต่างชนิดกัน เช่น ไปร้านขายยา ก็จะได้เอทิลแอลกอฮอล์ สำหรับล้างแผล ถ้าไปบอกซื้อแอลกอฮอล์ที่ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างก็จะได้เมทิลแอลกอฮอล์สำหรับใช้เป็นตัวทำละลายแทน จะเห็นว่าเป็นคนละชนิดกัน จึงต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง” รศ.สุชาตา กล่าว พร้อมกับแนะนำให้ประชาชนทำความเข้าใจถึงแอลกอฮอล์แต่ละชนิด ระบุชื่อแอลกอฮอล์ที่ต้องการซื้อให้ชัดเจน พร้อมทั้งอ่านฉลากข้างขวดให้แน่ชัดก่อนใช้ทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย และที่สำคัญคือห้ามผสมเหล้าด้วยการซื้อแอลกอฮอล์มาเติมเองโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมีเพิ่มเติมได้ที่ http://www.chemtrack.org/
(ข้อมูลโดย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.)