xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเหล้าพื้นบ้านเหนือเตรียมขอหมั้น“มาร์ค”เลียนแบบยายเนียม-มัดใจเป็นเขยเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – เหล้าพื้นบ้านเหนือขอเลียนแบบ “ยายเนียม” เตรียมหาแหวนทำพิธีหมั้น “มาร์ค” ให้เป็นเขยคนเหนือ หวังมัดใจให้ช่วยแยกฐานภาษีเหล้าพื้นบ้าน – เหล้าโรงของนายทุนใหญ่ หลังรัฐบาลปรับภาษียกชุด จนต้นทุนห่างจากราคาขายแค่ 10 บาทต่อขวด

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า จากกรณีที่รัฐบาลขึ้นอัตราภาษีสุราจากเดิม 110 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ไปเป็น 120 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ได้ทำให้มีการจัดเก็บอัตราภาษีสำหรับสุรากลั่นในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมาแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสุราในท้องถิ่นต่างประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้นไปตามๆ กัน โดยกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสุราเหล่านี้เป็นการผลิตกันตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยสูตรและต้นตำรับที่สืบทอดกันมา โดยไม่ได้ตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ที่ผ่านมาพวกเขาถูกนำไปผูกโยงกับฐานภาษีเดียวกันกับสุราขาวของโรงงานขนาดใหญ่ ดังนั้น เมื่อมีการดำเนินมาตรการใดๆ เกี่ยวกับสุรากลั่นในภาพรวม ทำให้พวกเขาต้องถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับสุรากลั่นโรงงานใหญ่ด้วย โดยที่ผ่านมาต้องเสียอัตราภาษีขวดละประมาณ 32 บาท แม้จะมีการรวมตัวเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแยกฐานภาษีของเหล้าพื้นบ้านกับเหล้าโรง เพื่อให้เก็บภาษีใหม่ในอัตราขวดละ 11-12 บาทแทนก็ตาม แต่ล่าสุดด้วยอัตราภาษีใหม่ได้ทำให้พวกเขาต้องเสียต้นทุนค่าภาษีเพิ่มเป็น 36 บาทแล้ว

นางบัวเหลียว ชัยมณี ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสุราพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พวกเราได้ฟังรายการวิทยุเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ที่ผ่านมาแล้ว ได้ยินว่าท่านจะไม่ขึ้นภาษีให้ประชาชนที่มีสินค้าโอทอปได้รับผลกระทบ แต่ปรากฏว่าสุรากลั่นพื้นบ้านของพวกเราซึ่งเข้าข่ายกลับถูกขึ้นอัตราภาษีหมดแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะในระดับนโยบายกับปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน ทำให้ปัจจุบันอัตราภาษีหรือค่าซื้อแสตมป์รวมทั้งภาษีอื่นๆ เพิ่มเป็นขวดละ 36 บาทแล้วเมื่อนำไปรวมกับต้นทุนอื่นๆ เช่น ฉลาก ขวด ฯลฯ ก็ทำให้สูงเกินกว่า 40 บาทแล้วขณะที่ราคาจำหน่ายเดิมอยู่ที่ขวดละ 50 บาท ทำให้ชาวบ้านแทบจะอยู่กันไม่ได้


นางบัวเหลียว กล่าวว่า จากการหารือกันก็ได้ข้อสรุปว่าพวกเราจะนำแหวนทองไปขอหมั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มาเป็นเขยภาคเหนือเหมือนกับที่ “ยายเนียม” เคยหมั้น ให้ไปเป็นเขยอีสาน เพื่อหวังว่านายกรัฐมนตรี จะเข้าใจหัวอกของคนเหนือบ้าง โดยเบื้องต้นพวกเราจะรอคอยให้นายกรัฐมนตรี ไปปฏิบัติภารกิจที่ภาคเหนือก่อน จากนั้นจึงค่อยพากันไปขอหมั้น แต่หากไม่มีกำหนดการเดินทางขึ้นภาคเหนือ พวกเราก็จะลงไปขอหมั้นถึงกรุงเทพฯ ควบคู่กับการไปยื่นหนังสือเรียกร้องตามที่ได้นัดหมายกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ต่อไป

ส่วนแนวทางการปรับราคาขายปลีกเหล้าพื้นบ้าน นางบัวเหลียว บอกว่า หารือกันแล้ว คิดว่าคงทำไม่ได้ เพราะตามปกติชาวบ้านก็แอบต้มเหล้ากันอยู่แล้ว หากผู้ผลิตเหล้าชุมชนที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ปรับราคาขายขึ้นไปอีก ก็ขายไม่ได้แน่นอน

ดังนั้นจึงจะไปเรียกร้องกับรัฐบาล จังหวัดและกรมสรรพสามิตต่อไป จนกว่าจะมีการแยกฐานภาษีของเหล้าพื้นบ้านออกจากเหล้าโรง เพราะไม่ได้เป็นโรงงานใหญ่ ไม่ได้ใช้กากน้ำตาล แต่พวกเราถูกจำกัดให้มีกำลังผลิตให้ไม่เกิน 7 แรงม้า 5 แรงคน วัตถุดิบที่ใช้ก็เป็นข้าวอย่างดีพร้อมสมุนไพรตามสูตรดั้งเดิม ที่ผ่านมาสุรากลั่นของชาวบ้านก็มีสัดส่วนเพียงแค่ 8% ของสุรากลั่นทั้งหมด ส่วนอีก 92% เป็นของโรงงานใหญ่ แต่กลับถูกนำไปรวมเอาไว้ในฐานะภาษีสุรากลั่นหมด

นางบัวเหลียว กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการเรียกร้องนอกจากจะขอหมั้นนายกรัฐมนตรี และการรวมตัวกันเรียกร้องตามที่ได้นัดหมายกันเอาไว้แล้ว จะไปยื่นหนังสือเพื่อขอคำตอบจากสรรพสามิตภาคเหนือ ที่มีกำหนดเดินทางไปเชียงราย ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม นี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น