xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงเหล้างานบุญ:ครั้งนี้ขอบาปละกัน?/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

มีโฆษณาอยู่ชิ้นหนึ่งในช่วงนี้ที่ค่อนข้างจะสะดุดใจผมมากๆ และคิดว่าคงจะผ่านหูผ่านตาท่านผู้อ่านไปแล้วอย่างแน่นอน

โฆษณาดังกล่าวคือโฆษณา "งานบุญ" กับประโยคเด็ด งานบุญ พุทธศาสนา เหล้า เบียร์ เพียบบบ!!!! พร้อมตบท้ายด้วยบทสรุปที่ว่า...เลี้ยงเหล้าเบียร์ในงานบุญ...บาป!

ระยะหลังดูเหมือนว่าทางสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะหันมาใส่ใจต่อเรื่องของเหล้ายา(ปลาปิ้ง)เป็นพิเศษ เห็นได้จากโฆษณาชิ้นต่างๆ ซึ่งผมขอยืนยันอย่างไม่มีอารมณ์ประชดประชันว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

เพียงแต่ผมไม่อยากจะให้โฆษณาเกิดการบ่ายเบี่ยงเบนประเด็นบางประเด็น (เพราะส่วนใหญ่โฆษณาหลายๆ ชิ้นของ สสส. มักจะมุ่งเน้นไปที่คนบ้านนอก คนตามชนบท) ซึ่งถือว่าสำคัญไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาสาระ หรือข้อคิดที่ได้จากโฆษณาดังกล่าว

โดยเฉพาะประเด็นในส่วนที่มันเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของแนวคิดแบบทุนนิยม ซึ่งมองแต่เป้าหมายแห่งผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ

สังเกตมั้ยครับว่าความน่ารักในวิถีแบบไทยๆ ความเป็นกันเอง ความเป็นเครือญาติ ความเป็นแบบแผนแห่งคนชนบท คนบ้านนอกนับวันนอกจากจะค่อยๆ เสื่อมสลายหายลงไปด้วยตัวของมันเองทุกทีๆ แล้ว มันยังถูกกระทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นความไม่ทันสมัยไม่ทันโลก เป็นความล้าสมัยจากคนเมือง และที่สำคัญก็คือมักจะมีเรื่องของการทำผิดกฏหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทำไมอยู่ดีๆ สาโท เหล้ากลั่น เหล้าหมัก การต้มเหล้าเอาไว้ดื่มกินเองภายในบ้าน หมู่บ้าน หรืออย่างมากก็อาจจะเหลือฝากเผื่อไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งเคยถูกมองอย่างภาคภูมิใจว่านี่คือ "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" จึงกลายเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายรูปแบบชนิดและยี่ห้อที่เกิดจากการผลิตในรูปแบบของ "ทุน" ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ ทั้งๆ ที่เมื่อเทียบกับปริมาณและการนำมาซึ่งความเสียหายกันแล้วไม่ต้องบอกก็รู้ว่ารูปแบบไหนส่งผลเสียมากกว่ากัน

แล้วทำไมอยู่ดีๆ การฉลองสังสรรค์เฮฮาของชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา ชาวบ้าน ผ่านวงเหล้าสาโท เหล้าหมัก ในงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตามงานวัด งานปิดทองฝังลูกนิมิตร ซึ่งมีมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณกาล นานมากกว่ารุ่น ปู่ ตา ทวด ซึ่งงานบุญ งานมงคล งานอมงคล พวกนี้นานๆ ทีจะมีสักปี สักหน และเป็นนานๆ ทีที่ "ลุงสี" แกจะครึ้มอกครึ้มใจที่จะเมาจนขี่จักรยานล้มแล้วล้มอีก และเป็นนานๆ ทีที่ "ตาสา" แกจะเมาแอ่นหน้าแอ่นหลังก่อนจะกลิ้งหล่นลงคันนา ทำไมคนเหล่านี้ถึงกลับถูกมองว่าเป็นคนบาปไปซะได้

จะบอกว่า ก็เพราะเราเพิ่งคิดได้ไง ก็เพราะเราโง่กันมานานแล้วหรือครับ?

แล้วทำไมนักศึกษา วัยรุ่น เมากันหยำเปในลานเบียร์ โรงเบียร์ ร้านเหล้า ผับ-เธค พวกที่อยู่กันในงานเลี้ยงรุ่น งานสโมสร งานปาร์ตี้ ที่ต่างก็ซัดกันซะจนเมามายแล้วก็พากันควบรถเก๋งชนคนตาย พากันไปรถคว่ำตายเป็นหมู่คณะ กลับไม่เห็นมีใครมาชี้ด่าเลยว่าบาป

หรือเป็นเพราะการเมาที่ว่าของพวกเขาเป็นการเมาซึ่งอยู่ใน "พื้นที่" ซึ่งถูกตีตราว่า "ถูกกฏหมาย" รวมถึงไม่ได้ดื่มเหล้าที่ผิดกฏหมาย

ว่ากันตามทางศีล การทานเหล้า "ผิดศีล 5" ในข้อที่ 5 แน่นอน แต่ถ้าถามว่าบาปหรือไม่ ผมเองไม่แน่ใจตราบใดที่ผู้กินยังไม่ถูกเหล้ากิน กระทั่งไปทำความเสียหายหรือสร้างความเดือดร้อนให้เกิดกับสุขภาพร่างกาย ชีวิต ความรู้สึก และทรัพย์สินเงินทองที่เป็นทั้งของตนเองและผู้อื่น

ผมเห็นด้วยนะครับกับการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตบริเวณวัด รวมทั้งพื้นที่ๆ ติดกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่กระทั่งสถานที่ราชการ เพียงแต่ผมไม่อยากให้ใช้วิธีในทำนองนี้เป็นทางออกของปัญหาทั้งหมด นี่คือความคิดที่สุดยอด โดนใจ หรือเข้าใจผิดคิดว่านี่เป็นหนทางแก้ไขปัญหาที่สมบูรณ์แบบซึ่งคนคิดสมควรจะภาคภูมิใจจนกระทั่งไม่คิดอะไรที่ไกลไปกว่านั้น

เนื่องจากเรื่องในทำนองนี้ ต่อให้ไม่ออกกฏหมาย ไม่ต้องมาห้าม ไม่ต้องมาสั่งสอนกัน คนที่เขามีความเข้าใจ คนที่คำนึงถึงความเหมาะสมในเรื่องของกาละ-เทศะ รวมทั้งคนที่เขาห่วงใยสังคมโดยรวมจริงๆ เขาก็ไม่ทำกันหรอกครับ

ยิ่งเราออก "กฏทางโลก" ซึ่งก็คือ "กฏหมาย" มากมายก่ายกองเท่าไหร่ ถามว่าจะทำให้คนเข้าใจหลักในทางธรรมเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? คำตอบก็คือเปล่าเลย ตรงกันข้ามนั่นยิ่งแสดงถึง "ศีล" ซึ่งเป็นเรื่องของกฏทางธรรม เป็นจารีตที่ต้องอาศัย "ความเข้าใจ" ยิ่งถดถอยมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้นอีกต่างหาก

จะวิพากษ์วิจารณ์ ดุ ด่าว่ากล่าวกันก็ได้นะครับ แต่ถ้าการจิบเบียร์เย็นๆ ในปริมาณกระป๋องหรือ 2 กระป๋อง แล้วนั่งดูลิเก หนังกางแปลง ท่ามกลางบรรยากาศสายลมท้องทุ่งที่พัดโชยบริเวณลานวัดที่บ้านนอกมันจะทำให้ผมเป็นคนบาป ผมก็ยอมล่ะครับ

เพราะอย่างน้อยๆ ก็รู้สึกดีกว่าการเป็น "นักบุญ" ที่นั่งจิบไวน์ เดินนวยนาดให้คนยกมือไหว้อยู่ในงานราตรีสโมสร อยู่ในโรงแรมหรูๆ เหมือนกับที่พวกนักการเมืองทั้งหลายทำกันอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น