xs
xsm
sm
md
lg

“วิตาลี กินซ์เบิร์ก” นักฟิสิกส์คอมนิวนิสต์ ผู้สร้างระเบิดไฮโดรเจนลาโลกแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิตาดี กินซ์เบิร์ก นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2003 และเป็นผู้ร่วมพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนให้สหภาพโซเวียต (เอเอฟพี)
จากโลกนี้ไปอีกคน “วิตาลี กินซ์เบิร์ก” นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ผู้ร่วมพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนให้แก่อดีตสหภาพโซเวียต ได้เสียชีวิตลงขณะมีอายุได้ 93 ปี ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังเจ็บป่วยมานาน

วิตาลี กินซ์เบิร์ก (Vitaly Ginzburg) นักฟิสิกส์ชาวรัสเซียผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2003 ได้เสียชีวิตลงในช่วงดึกของวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว หลังเจ็บป่วยเรื้อรังมานาน โดยเอเอฟพีได้อ้างคำแถลงการเสียชีวิตดังกล่าวของสถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย

ทางด้านดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ประธานาธิบดีรัสเซีย และ วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) นายกรัฐมนตรีของรัสเซีย ได้ส่งแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของกินซ์เบิร์ก

กินซ์เบิร์กเกิดและเติบโตในครอบครัวชาวยิวในกรุงมอสโกว อดีตสหภาพโซเวียต เมื่อปี ค.ศ.1916 ก่อนการปฏิวัติบอลเชวิค (Bolshevik Revolution) และในปี 1933 เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมอสโคว์สเตท (Moscow State University) จากนั้นในช่วงปี 1940 ถึงต้นทศวรรษ 1950 เขาได้ช่วยพัฒนาระเบิดอะตอมให้กับสหภาพโซเวียต

อย่างไรก็ดี ผลงานที่ทำให้เข้าได้รับรางวัลโนเบล คือทฤษฎีตัวนำยิ่งยวดและของไหลยิ่งยวด ซึ่งได้รับรางวัลร่วมกับนักฟิสิกส์อังกฤษ-อเมริกัน แอนโทนี เลกเกตต์ (Anthony Legget) และนักฟิสิกส์อเมริกันซึ่งเกิดในรัสเซีย อเลกซี แอบริกอซอฟ (Alexei Abrikosov)

ตัวนำยิ่งยวดหรือซูเปอร์คอนดัคเตอร์ (Superconductor) จะอนุญาตให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ โดยไม่มีความต้านทาน และไม่สูญเสียพลังงานเนื่องจากความร้อน โดยนักวิจัยทั้งหลายมีความหวังที่จะใช้ซูเปอร์คอนดัคเตอร์นี้กับคอมพิวเตอร์ที่มีความเร็วยิ่งยวด รถไฟฟ้าแม่เหล็ก และการประยุกต์ใช้งานอื่นๆ

ในด้านผลงานทางวิทยาศาสตร์ กินซ์เบิร์กมีรายงานทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 400 ผลงาน และในช่วงวัย 80 ปีนั้นเขาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจำนวนมาก และยังปาฐกถาได้ดี และนักฟิสิกส์ทฤษฎีผู้นี้ยังมีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องหลุมดำ รังสีคอสมิค ไปจนถึงฟิสิกส์อุณหภูมิต่ำ

กินซ์เบิร์กทำวิจัยโครงการระเบิดไฮโดรเจนร่วมกับแอนดรี ซาคารอฟ (Andrei Sakharov) ผู้ที่กลายมาเป็นผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน แต่ทั้งสองยังคงเป็นเพื่อนกันแม้ว่าซาคารอฟจะถูกตัดสินจากทางการว่า มีความผิดและถูกเนรเทศออกนอกประเทศในปี 1980

แม้ว่ากินซ์เบิร์กเองได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 1942 แต่เขาก็ตกอยู่ภายใต้ภาวะกดดันของการปกครองอย่างเผด็จการจาก โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ท่ามกลางการต่อต้านชนเผ่ายิว ซึ่งดูขัดแย้งกับการรับอิทธิพลตะวันตกของวงการวิทยาศาสตร์

ถึงอย่างนั้นความสำคัญของโครงการสร้างระเบิด ที่มีเป้าหมายป้องกันไม่ให้สหภาพโซเวียตตามหลังสหรัฐฯ อเมริกาในสงครามการแข่งขันสร้างระเบิดปรมาณู ก็ช่วยปกป้องไม่ให้กินซ์เบิร์กไม่ต้องกลายเป็นนักโทษ

“ผมได้รับการปกป้องจากระเบิดไฮโดรเจน” กินซ์เบิร์กเขียนไว้ในอัตชีวประวัติตัวเองบนเว็บไซต์ของคณะกรรมการโนเบล

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้เขามีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับการวิพากษ์อย่างดุเดือดต่อนิกายรัสเซียออร์ธอดอกซ์ (Russian Orthodox Church) ซึ่งสำเริงใจจากความนิยมและอำนาจทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้น หลังการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 กินซ์เบิร์กได้รับการเรียกร้องให้เป็นหนึ่งในผู้นำการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของรัสเซีย และผู้ซึ่งยอมรับว่าไม่เชื่อในพระเจ้านี้ได้วิพากษ์วิจารณ์อิทธิพลของนิยายรัสเซียออร์ธอดอกซ์ แม้ว่าเพื่อนๆ ของเขาส่วนใหญ่จะเข้าสู่นิกายนี้หลังความตกต่ำของกลุ่มที่ไม่เชื่อในพระเจ้า

ในปี 2007 กินซ์เบิร์กเป็นหนึ่งใน 10 นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงปูตินประธานาธิบดีในขณะนั้น ให้ยกเลิกระบบการสอนศาสนาคริสต์ของสมาคมรัสเซีย และวิพากษ์วิจารณ์ต่อความพยายามในการสอนศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอดอกซ์ตามโรงเรียนของรัฐ ซึ่งจดหมายดังกล่าวได้กระตุ้นความโกรธให้กับกลุ่มผู้นับถือนิกายออร์ธอดอกซ์อย่างมาก

“ความศรัทธาเป็นทางเลือกอิสระและเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน แต่ผมขอต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องศาสนาในโรงเรียน โดยรวมๆ แล้วผมอิจฉาผู้ที่เชื่อ ผมอายุ 90 ปี แล้ว และกำลังป่วย สำหรับผู้ที่เชื่อนั้นมันง่ายที่จะรับมือกับมันเข้ากับความทุกข์ยากของชีวิต แต่จะทำอะไรได้ล่ะ? ผมไม่อาจเชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีพหลังความตายได้” กินซ์เบิร์กเคยให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ของทางการเมื่อปี 2006

แม้แต่การให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ รอยเตอร์บอกว่าเขาก็ยังยิ้มขณะให้สัมภาษณ์ว่า หากเขาเชื่อในพระเจ้า เขาจะเริ่มต้นทุกๆ เช้าด้วยการพูดว่า “ขอบพระทัย, พระผู้เป็นเจ้า ที่ทำให้ผมเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี”
วิตาดี กินซ์เบิร์ก (เอพี)
วิตาดี กินซ์เบิร์ก (รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น