xs
xsm
sm
md
lg

“ปูติน”ไม่เดินตามเกมของ“คลินตัน”

เผยแพร่:   โดย: เปเป เอสโกบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Putin lays down law for Clinton
By Pepe Escobar
16/10/2009

รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ออกมาเรียกร้องระหว่างเยือนกรุงมอสโก ให้รัสเซียยอมรับ “ความแตกต่างหลากหลาย” พร้อมกับแสดงความเชื่อของเธอที่ว่า วังเครมลินจะรับรองให้ใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มขึ้นอีก ทว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของเธอไม่ค่อยได้รับความสนใจอะไรจากนายกรัฐมนตรี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้ซึ่งกำลังมีธุระยุ่งในต่างแดน นั่นก็คือ การหาทางจัดทำข้อตกลงด้านพลังงานอันสำคัญยิ่งยวดอยู่ในประเทศจีน

สำหรับแวดวงข่าวสาร (โลกตะวันตก) แล้ว เรื่องที่โดดเด่นจากการเยือนรัสเซียในสัปดาห์นี้ของรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ก็คือ การที่เธอออกมา “เรียกร้องเพื่อให้หันมาร่วมมือกัน” และ การที่เธอ “ท้าทาย” ให้รัสเซียเปิดกว้างระบบการเมืองของตน, ยอมรับ “ความแตกต่างหลากหลาย”, และยุติแนวความคิดแบบยุคสงครามเย็น

นี่ใครกำลังพยายามหลอกใครล่ะ? ช่วยไม่ได้เลยที่เราจะเกิดภาพในใจขึ้นมาว่า มีเสียงหัวเราะฮาครืนกึกก้องอยู่ในระเบียงทางเดินของวังเครมลิน (แล้วก็ตามด้วยการสาดเหล้าว็อดกา “สโตลี” (Stoli) อันยอดเยี่ยมลงกระเพาะ)โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองเห็นกันอยู่แล้วว่า ปัจจุบันวอชิงตันกำลังประคองตัวยืนได้อย่างไม่มั่นคงเลยในโลก, แล้วยังพวกผู้ต้องสงสัยหน้าเดิมๆ อย่าง “ค่านิยมของโลกตะวันตก”, ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญญาชนรัสเซียได้ชี้เอาไว้หลายปีแล้วว่า พวกเหยี่ยวในวอชิงตันต่างหากที่ยังคงจมปลักหลงใหลขบคิดในแบบสงครามเย็น เออหนอ เป็นเรื่องน่าสงสารอยู่หน่อยที่ฮิลลารีผู้เป็นเหยี่ยวในประเด็นเรื่องอิหร่าน ไม่ได้มีโอกาสเจอะเจอเซียนหมากรุกอย่างวลาดิมีร์

ทั้งนี้ก็เพราะนายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน กำลังต้องทำเรื่องซึ่งเข้าท่าเข้าทางยิ่งกว่า –นั่นคือ เขากำลังอยู่ไกลออกไปถึงกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมขององค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization หรือ SCO) ในกรุงปักกิ่งนั้น ปูตินก็เอ่ยปากบอกกับสหรัฐฯอย่างตรงไปตรงมาว่า อย่าขู่กรรโชกอิหร่านเลย พร้อมกับย้ำว่าการเพิ่มการลงโทษให้มากขึ้นนั้น “ยังเร็วเกินไป” สิ่งที่จำเป็นต้องทำในเวลานี้คือ “การทำความตกลงกัน” ฮิลลารีถูกโยนลงวัดพื้นเสียแล้ว โดยฝีมือของผู้เชี่ยวชาญเรื่องยูโดอย่างปูติน (โดยที่เธอไม่รู้เนื้อรู้ตัวแม้กระทั่งว่ากำลังถูกจู่โจมอย่างไร) กระนั้นก็ตามที ฮิลลารียังคงมีเวลาที่จะปั่นหัวพวกทีวีอเมริกันว่า ถ้าหาก “ประชาคมระหว่างประเทศ” ตกลงเพิ่มการลงโทษต่ออิหร่านแล้ว รัสเซียก็จะทำตาม

นั่นไม่ใช่สิ่งที่ปูติน (หรือรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลัฟรอฟ) พูดเลย และก็ไม่ใช่สิ่งที่บรรดาผู้นำในปักกิ่งคิดเช่นกัน

ลัฟรอฟ ซึ่งแม้ค่อนข้างใช้ท่าทีแบบนักการทูตมากกว่าปูติน ก็ยังพูดถึงมาตรการลงโทษเพิ่มเติมว่า “เป็นผลเสียมากกว่าจะเป็นผลดี” โดยเนื้อหาสาระแล้วนี่ยังคงความคิดแบบเดียวกับปูติน (ตลอดจนปักกิ่ง) สำหรับประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิตริ เมดเวเดฟ เขาอาจจะแสดงท่าทีไม่คัดค้านการใช้มาตรการลงโทษเพิ่มมากขึ้น (ทว่าเขาก็ย้ำว่าควรถือเป็นทางเลือกสุดท้าย และเป็นหนทางที่อีกไกลโพ้นในอนาคตจึงจะนำมาใช้ ไม่ใช่ภายในเส้นตายเดือนธันวาคมที่กำลังจะมาถึง ดังที่เป็นไฟกระพริบเตือนภัยสีแดงอยู่ในหัวของทางฝ่ายวอชิงตัน)

ลัฟรอฟพูดในประเด็นนี้อย่างชัดเจน โดยบอกว่า “เราต้องการแก้ไขทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อที่ประเทศนั้นจะสามารถใช้สิทธิของตนอย่างเต็มที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกซึ่งไม่มีอาวุธนิวเคลียร์รายหนึ่งของสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนใช้ประโยชน์จากโอกาสทุกๆ อย่างที่บังเกิดขึ้นจากฐานะเช่นนี้ ในสิ่งที่เป็นการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ” นี่หมายความว่า “ควรใช้ความพยายามทุกอย่างไปในการประคับประคองรักษากระบวนการแห่งการเจรจากันเอาไว้” (และไม่เดินหน้าไปตามคำขู่ขีดเส้นตายของสหรัฐฯ/ยุโรป ซึ่งห่อหุ้มด้วยการรณรงค์อย่างเคยๆ ที่มุ่งทำให้อิหร่านกลายเป็นปีศาจร้าย)

**ปูตินเล่นเกม Pipelineistan**

ในฐานะที่เป็นสถาปนิกผู้วางแผนการให้ “กาซปรอม” (Gazprom) รัฐวิสาหกิจด้านก๊าซของรัสเซีย หว่านเสน่ห์ดึงดูดจีน ปูตินจึงยังมีเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ ที่จะต้องทำในปักกิ่งมากกว่าจะมาฟังฮิลลารีบ่นเพ้อเจ้อ มันไม่ใช่เป็นการพูดน้อยกว่าความเป็นจริงเลย เมื่อเขาบอกว่า “จีนคือตลาดขนาดมหึมา ขณะที่การกระจายไปหาตลาดต่างๆ อันหลากหลาย คือทิศทางที่สำคัญยิ่งสำหรับกาซปรอม” ปูตินทราบดียิ่งกว่าใครว่า เกมใหม่ที่ต้องเล่นเพื่อครองความเหนือกว่าในเชิงยุทธศาสตร์ มีชื่อว่า “Pipelineistan” (ผู้เขียนผูกศัพท์ใหม่ โดยใช้คำว่า “pipeline” สายท่อส่งก๊าซหรือน้ำมัน มาบวกกับ คำเติมท้าย “stan” สถานที่ –ผู้แปล)

กาซปรอมนั้นเอนเอียงไปทางข้างที่ต้องการจะทำความร่วมมือในระดับยุทธศาสตร์อย่างเต็มที่กับปักกิ่ง มันไม่เพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้เกิดการวางสายท่อส่งแพร่กระจายไปทั่วจีนเท่านั้น (ทั้งนี้เฉพาะสายท่อส่งจากรัสเซียที่มุ่งมายังดินแดนจีนนั้น เส้นหนึ่งที่จะมาจากไซบีเรียตะวันตกเข้าสู่จีนมีกำหนดเสร็จเรียบร้อยภายในปี 2015 ส่วนอีกเส้นหนึ่งจะมาจากไซบีเรียตะวันออก เส้นนี้ยังต้องอาศัยการลงทุนเป็นจำนวนมากจากจีน) แต่แผนการนี้ยังรวมถึงการเพิ่มขยายโครงการความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายทั้งในไซบีเรีย และกระทั่งในประเทศอื่นๆ อีกด้วย

เรื่องนี้จะเข้ากับแนวความคิดซึ่งเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วทั่วทั้งเอเชีย ในนามของ “โครงข่ายความมั่นคงด้านพลังงานแห่งเอเชีย” (Asian Energy Security Grid) องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของโครงข่ายนี้ คือสิ่งที่ชาวรัสเซียเรียกว่า “โครงการก๊าซตะวันออก” (Eastern Gas Program) ซึ่งจะเป็นการวางสายท่อส่งก๊าซโดยที่มีกาซปรอมเป็นผู้ประสานงาน ไม่เพียงแต่ไปยังจีนเท่านั้น หากไปสู่ทุกๆ จุดทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนองค์ประกอบสำคัญอีกด้านหนึ่งก็คือสายท่อส่งน้ำมันเส้นไซบีเรียตะวันออก-มหาสมุทรแปซิฟิก (East Siberia-Pacific Ocean)

มีเสียงพูดกันอยู่มากเรื่องที่มอสโกกับปักกิ่งยังมีความแตกแยกกันหนักในเรื่องการกำหนดราคาก๊าซที่จะซื้อขายระหว่างกัน (ตัวปูตินเองปฏิเสธข่าวนี้ โดยประกาศว่ากำลังจะทำความตกลงกันได้แล้วโดยจะคิดราคาก๊าซตามราคา“ตะกร้าน้ำมันชนิดต่างๆ ของเอเชีย”) แต่ถึงอย่างไรนี่ก็เป็นเพียงประเด็นปัญหาทางเทคนิค เมื่อมองกว้างออกไปในระดับภูมิรัฐศาสตร์แล้ว อาหารคำที่อร่อยมีรสชาติที่สุดในการเจรจาหารือกันคราวนี้ ย่อมจะเป็นการที่กาซปรอมแสดงความปรารถนาที่จะให้คำมั่นกับจีนว่า จะส่งก๊าซให้เป็นปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของที่กาซปรอมกำลังส่งออกไปยังยุโรปตะวันตก –และข้อเสนอนี้ออกมาในขณะที่ฝ่ายจีนเองกำลังจะเสร็จสิ้นงานวางท่อส่งก๊าซเส้นที่มาจากเติร์กเมนิสถาน (รายงานข่าวล่าสุดชี้ว่า การวางท่อเส้นนี้ยังมีอุปสรรคไม่น้อย ดูเรื่อง Turkmen workers in rare revolt , Asia Times Online, October 14, 2009 ซึ่งก็คือเรื่อง คนงานวางท่อก๊าซจากเติร์กเมนิสสถานสู่จีน “ประท้วง” –ผู้แปล) ขณะที่จีนนำเข้าน้ำมันสูงถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เวลานี้แดนมังกรกลับยังนำเข้าก๊าซธรรมชาติไม่มากนัก แต่ว่าจีนจะต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นอีกมากแน่นอน เพราะจำเป็นจะต้องใช้ และรัสเซียก็ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี

กระนั้นก็ตาม เรื่องใช่ว่าจะมีแต่ความสดใสสวยงามไปเสียทั้งหมด อเล็กซานเดอร์ ลูคิน (Alexander Lukin) ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออก และเอสซีโอศึกษา (Center for East Asian and SCO Studies) ณ มหาวิทยาลัยรัฐมอสโกเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Moscow State University for International Relations) เตือนว่า “รัสเซียจะไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการเป็นส่วนผนวกด้านวัตถุดิบของจีน –ทำนองเดียวกับที่เป็นให้ยุโรปอยู่แล้วในเวลานี้”

อย่างไรก็ดี หากยังไม่คิดไปถึงอนาคตอันไกลโพ้น เอากันแค่ในขณะนี้ เราย่อมพูดยืนยันได้ว่า ฉันทามติที่สำคัญข้อหนึ่งขององค์การเอสซีโอ คือไม่เอาด้วยกับความพยายามซึ่งนำโดยสหรัฐฯที่จะใช้มาตรการลงโทษเล่นงานอิหร่าน ทั้งนี้ เอสซีโอ เป็นเวทีที่เชื่อมโยงผลประโยชน์ของรัสเซีย, จีน, และอิหร่านเข้าด้วยกัน สองประเทศแรกนั้นต่างเป็นสมาชิกขององค์การนี้ ขณะที่อิหร่านอยู่ในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของเอสซีโอ สำหรับองค์การนี้ เรื่อง“โครงข่ายความมั่นคงด้านพลังงานแห่งเอเชีย” คือสิ่งที่มีความสำคัญระดับสูงสุด (ดูเรื่อง New Great Game revisited, Asia Times Online, July 25-26, 2009)

นี่ย่อมขัดแย้งโดยตรงต่อแผนการที่สหรัฐฯวางไว้สำหรับเอเชียกลางและอิหร่าน ซึ่งเป็นแผนการที่จัดทำขึ้นด้วยแรงขับดันจากเพนตากอน, มุ่งใช้ท่าทีการเข้าครอบงำอย่างเต็มที่, และเน้นความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าปูตินนี่แหละเป็นคนแรกที่เสนอแนวความคิดให้อิหร่านมาดำเนินกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมกันที่รัสเซีย ซึ่งในบัดนี้มีความชัดเจนว่าจะกลายเป็นทางออกให้แก่ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านที่ชะงักงันอยู่ ส่วนสำหรับฮิลลารี เธอควรที่จะเอาคำบ่นเพ้อเจ้อของเธอสาดลงคอไปพร้อมกับว็อดกา

เปเป เอสโกบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War (Nimble Books, 2007) และเรื่อง Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge. หนังสือเล่มใหม่ของเขาซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่าย คือ เรื่อง Obama does Globalistan (Nimble Books, 2009). สามารถติดต่อเขาได้ที่ pepeasia@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น