xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับ“โอบามา”ในกรุงมอสโก (ตอน2)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรากุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

A moment of truth for Obama in Moscow
By M K Bhadrakumar
03/07/2009

ด้วยการวางกลเม็ดต่างๆ อันยักเยื้องซ่อนเงื่อนประดุจเขาวงกต รัสเซียหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียมีการยกระดับให้ดียิ่งขึ้น โดยสิ่งที่จะเป็นหมากเด็ดที่สุดก็คือ การยื่นเสนอต่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเรื่องการให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถาน มีความเป็นไปได้ที่ว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียโดยรวม กำลังทำท่าซวนเซเฉียดใกล้ที่จะพังครืนลงมานั้น การร่วมมือกันในบริเวณเทือกเขาฮินดูกูฏดังกล่าวนี้ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ สำหรับการประชุมสุดยอดที่กรุงมอสโกวันจันทร์(6)นี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 2 *

(ต่อจากตอนแรก)

เวลานี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาที่ถือว่าหนักหนาสาหัสสากรรจ์ น่าจะเป็นเรื่องการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ ที่จะใช้แทนสนธิสัญญาลดกำลังอาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Arms Reduction Treaty หรือ START) ที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ รัสเซียนั้นคัดค้านอย่างเต็มเหนี่ยวต่อแผนการของสหรัฐฯที่จะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธขึ้นในยุโรปกลาง ตลอดจนแผนการระยะยาวของสหรัฐฯที่จะสร้างระบบป้องกันในระดับโลกขึ้นมา ประเด็นปัญหานี้ไม่ใช่อยู่ที่การมองระบบป้องกันขีปนาวุธจากทัศนะมุมมองทางเทคนิคในปัจจุบัน หากแต่อยู่ที่ว่าระบบนี้สามารถจะทำอะไรได้บ้างในอนาคต ในเมื่อสหรัฐฯยังคงปรับปรุงยกระดับเทคโนโลยีอยู่เรื่อยๆ และทำให้ระบบเข้าใกล้ระดับความแม่นยำ 100%มากขึ้นๆ

ระบบป้องกันขีปนาวุธที่ใช้งานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ย่อมทำลายความเสมอภาคทางนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจทั้งสองจนถึงระดับพื้นฐานทีเดียว และทำให้สมดุลทางยุทธศาสตร์ที่ดำรงอยู่กว่า 60 ปีเกิดการเอียงไปทางที่ทำให้สหรัฐฯมีความได้เปรียบอย่างเด็ดขาด ทว่ามันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้โอบามาโยนทิ้งโครงการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯไปจนหมดสิ้น

อย่างเก่งที่สุด เขาก็คงสามารถชะลอโครงการนี้ไปสัก 2-3 ปี (ซึ่งถึงอย่างไรก็คงจะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เมื่อคำนึงถึงวิกฤตทางการเงินที่สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้) อุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ใหญ่หลวงพอๆ กัน ปรากฏขึ้นในสิ่งที่เรียกกันว่า “ศักยภาพที่สามารถฟื้นคืนกลับมา” (return potential) ซึ่งสหรัฐฯปรารถนาที่จะเก็บรักษาเอาไว้ แม้ในขณะที่กำลังตกลงในเรื่องการลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ พูดอย่างขยายความก็คือ สหรัฐฯปรารถนาที่จะเก็บรักษาหัวรบประมาณ 4,000 หัวรบที่ถูกทำลายแล้วเอาไว้ในคลังเก็บต่อไป อีกทั้งยังจะเก็บยานสำหรับส่งหัวรบนิวเคลียร์ (ได้แก่ ขีปนาวุธนำวิถีที่ยิงจากภาคพื้นดิน และที่ยิงจากเรือดำนำ ตลอดจนพวกเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์)ที่สหรัฐฯมีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 1,200 ลูก/ลำ เอาไว้ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกำลังอาวุธตามรูปแบบ (conventional forces) ที่อาจนำมาใช้ได้อีกในยามสงคราม

ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่ฝ่ายรัสเซียไม่เห็นด้วย พิจารณากันอย่างง่ายๆ รัสเซียนั้นหวาดเกรงว่าตนเองจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างใหญ่หลวงทั้งสองต่อ กล่าวคือ หัวรบและขีปนาวุธที่มีอยู่ในคลังเก็บของตนมีจำนวนน้อยกว่า และดังนั้นจึงมี “ศักยภาพที่สามารถฟื้นกลับมา” ด้อยกว่าไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ การลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์ที่วอชิงตันเสนอออกมา จึงมีแต่เพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะทางทหารอันโดดเด่นของสหรัฐฯ ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเรื่องที่กำลังอาวุธตามรูปแบบของสหรัฐฯก็มีความเหนือกว่าอย่างมหาศาลอยู่แล้ว รัสเซียจึงยิ่งเห็นว่าจะต้องพึ่งพาคลังแสงนิวเคลียร์ของตนจึงจะสามารถรักษายุทธศาสตร์ทางทหารโดยองค์รวมของตนเอาไว้ได้

ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ไม่มีทรัพยากรที่จะสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธระดับโลกของตนเองได้ ดังนั้น รัสเซียจึงลาก “เส้นสีแดง” ไม่ยินยอมเด็ดขาดทั้งเรื่องที่สหรัฐฯจะจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธขึ้นในยุโรป และเรื่องการขยายสมาชิกของนาโต้ เอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติจนถึงปี 2020” (National Security Strategy Until 2020) ของรัสเซีย ที่มีการนำมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม เขียนระบุเอาไว้อย่างกระจ่างว่า

“ศักยภาพ(ของรัสเซีย)ที่จะธำรงรักษาเสถียรภาพในระดับโลกและในระดับภูมิภาค จะหดเล็กลงอย่างมากมายทีเดียว หากมีการติดตั้งส่วนประกอบต่างๆ ในระบบป้องกันขีปนาวุธระดับโลกของสหรัฐฯเอาไว้ในยุโรป ... การที่รัสเซียไม่สามารถยอมรับแผนการในการขยับโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของพันธมิตร [นาโต้] เข้ามาประชิดพรมแดนของรัสเซีย ตลอดจนคัดค้านความพยายามที่จะมอบหมายหน้าที่ระดับโลกให้แก่นาโต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับมาตรฐานทั้งหลายของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น จะยังคงเป็นปัจจัยในการขีดวงของความสัมพันธ์ทั้งหลายที่(รัสเซีย)มีอยู่กับนาโต้”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในการประชุมซัมมิตมอสโกสัปดาห์หน้า จะมีการประกาศที่แสดงถึง “ความก้าวหน้า” บางอย่างออกมา โดยที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด ก็คือ “รายงานการประเมินความคืบหน้า” ในการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ เป็นไปได้ว่ากระทั่งอาจจะมีการประกาศแผนแม่บทสำหรับข้อตกลงฉบับใหม่ด้วยซ้ำ ดังที่เป็นประเพณีสำหรับการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-รัสเซียแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ที่จะต้องให้ว่าเกิดมรรคเกิดผลอะไรบางอย่างออกมา ทว่าข้อตกลงสุดท้ายนั้นจะยังชะงักงันไปไม่ถึงไหน

**ความแตกต่างกันในเรื่องอิหร่าน**

พิจารณาจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในอิหร่าน ตลอดจนท่าทีของโอบามาในเรื่องนี้ สายตาทุกๆ คู่ย่อมจะต้องคอยจับจ้องดูว่า ซัมมิตมอสโกจะพูดอะไรออกมาบ้างในประเด็นปัญหานี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสหรัฐฯมีความจำเป็นอย่างเหลือเกินที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากรัสเซีย หากต้องการที่จะสร้างแรงบีบคั้นอย่างได้ผลต่อเตหะรานในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป ทว่าก็เป็นที่น่าสงสัยข้องใจเป็นที่สุดเช่นกันว่า การประชุมสุดยอดในกรุงมอสโกคราวนี้จะสามารถทำให้สหรัฐฯกับรัสเซียพบจุดบรรจบกันได้เกี่ยวกับสถานการณ์อันเกี่ยวเนื่องกับอิหร่านจริงๆ หรือ

อาจจะมีความเข้าใจกันอยู่ทั่วไปประการหนึ่งที่ว่า จุดยืนของรัสเซียในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังๆ นี้ คำแถลงของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (หรือกลุ่มจี8 ที่มีรัสเซียรวมอยู่ด้วย ) ซึ่งออก ณ เมืองตริเอสเต ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนนั้น ได้ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเตหะราน จึงเกิดมีการตีความกันว่าหมายความว่ารัสเซียเข้าร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐฯและอังกฤษแล้ว ทว่าอันที่จริงรัสเซียก็เพียงแค่ผสมโรงเพื่อให้เกิดฉันทามติขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในการทูตระดับพหุภาคี

ที่จริง รัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ (Sergei Lavrov) บอกกับสื่อมวลชนที่ตริเอสเตด้วยซ้ำว่า ขณะที่รัสเซียพร้อมจะแสดง “ความวิตกกังวลอย่างจริงจังที่สุด” ของตน ต่อการใช้กำลังกับพวกผู้ประท้วงในกรุงเตหะรานตลอดจนการสูญเสียชีวิต “แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็จะไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของอิหร่าน” โดยที่รัสเซีย “อนุมาน” ว่า ความไม่ลงรอยกันทั้งหลาย “จะสามารถแก้ไขกันได้ในแนวทางที่สอดคล้องกับวิธีดำเนินการแบบประชาธิปไตย ตลอดจนสอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้”

พิจารณาจากแง่มุมที่แท้จริงแล้ว สิ่งที่ลัฟรอฟกำลังทำอยู่ก็คือการแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจต่อจุดยืนของระบอบปกครองอิหร่านนั่นเอง สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องนิวเคลียร์ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ลัฟรอฟเน้นย้ำว่า “ไม่ว่าในสภาพการณ์ใดก็ตามที” รัสเซียขอยืนยันให้ใช้วิธีแก้ไขข้อพิพาทกันอย่างสันติ –แม้กระทั่งเมื่อมี “การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในจุดยืนของคณะผู้นำอิหร่าน—และขอเน้นว่าประชาคมระหว่างประเทศจะต้อง “แสดงให้เห็นถึงความอดทนและทำตามนโยบายที่กำหนดออกมาร่วมกันของเรา” ด้วยหลักเหตุผลเช่นนี้แหละ ที่ทำให้ลัฟรอฟประเมินคำแถลงของจี8 ว่า “โดยองค์รวม ... มีความสมดุลเป็นอันดีและมีประโยชน์ในทุกๆ แง่”

ในวันพฤหัสบดี(2) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วเป็นการตีกันสหรัฐฯไม่ให้เคลื่อนไหวอะไรเพื่อกดดันอิหร่านในระหว่างการประชุมซัมมิตมอสโก คำแถลงนี้บอกว่า “เรา [รัสเซีย] เชื่อว่าการใช้มาตรการลงโทษใดๆ ต่ออิหร่านในเรื่องที่เป็นปัญหาภายในของอิหร่านเอง ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและไม่บังเกิดผล มาตรการดังกล่าวนี้อาจกลายเป็นการยั่วยุให้เกิดพัฒนาการอันไม่พึงปรารถนาขึ้นทั้งต่อสถานการณ์ในอิหร่านและในภูมิภาคแถบนั้น” คำแถลงย้ำยืนยันความเชื่อที่มีกันอยู่ในกรุงมอสโกที่ว่า สถานการณ์เร่งด่วนฉุกเฉินที่เกิดขึ้นตามหลังการเลือกตั้งในอิหร่านนั้น ควรที่จะสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติ “โดยอาศัยเครื่องมือทางกฎหมาย” (ซึ่งนี่ก็เป็นจุดยืนอย่างเป็นทางการในเตหะราน)

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นความคิดของทางการรัสเซียอีกประการหนึ่ง ได้แก่การที่หนังสือพิมพ์รายวัน รอสซีสกายา กาเซตา (Rossiskaya Gazeta) ของรัฐบาลรัสเซีย ได้เสนอคำให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองคนสำคัญที่ใกล้ชิดกับวังเครมลิน นั่นคือ มิคาอิล มาร์เกลอฟ (Mikhail Margelov) ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการระหว่างประเทศของสภาสหพันธรัฐ (สภาล่าง) ทั้งนี้มาร์เกลอฟพูดว่า “เมื่อมองจากภายนอก เรื่องนี้ [ความไม่สงบในเตหะราน] ช่างละม้ายคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับ ‘การปฏิวัติสีต่างๆ’ (color revolutions) … ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องติดต่อกับ [ประธานาธิบดี มาห์มุด] อาห์มาดิเนจัด “ผู้ดื้อรั้น” ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีกสมัยหนึ่ง ... ผมเชื่อว่า ไม่พึงคาดหมายกันเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงใดๆ ในนโยบายของรัสเซียในสายสัมพันธ์นี้”

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านระดับท็อปคนหนึ่งในกรุงมอสโก รัดจับ ซาฟารอฟ (Radzhab Safarov) ผู้อำนวยการศูนย์กลางเพื่ออิหร่านศึกษา (Center for Iran Studies) พูดออกมาแบบเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยกล่าวว่า ฝ่ายตะวันตก “นำโดยสหรัฐฯ” มุ่งหมายหาทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในอิหร่าน และพวกผู้ประท้วงในเตหะรานนั้น “กำลังรับความสนับสนุนทางการเงินและรับเอาแนวความคิดประเภทต่างๆ จากฝ่ายตะวันตกอยู่จริงๆ เพื่อทำให้พวกเขาออกมาสู่ท้องถนน” ทว่าความพยายามเหล่านี้ของตะวันตกก็จะไม่ได้ผลอะไร ในการให้สัมภาษณ์ “เซนเตอร์ทีวี”( Center TV) ที่ควบคุมโดยรัฐบาลรัสเซีย ซาฟารอฟยืนยันว่า สิ่งที่ฝ่ายตะวันตกพยายามกระทำเหล่านี้นั้น “ไม่ได้คุกคามระบบการเมืองของอิหร่าน ซึ่งยังคงแข็งแกร่งและมั่นคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา”

**ความร่วมมือกันที่เทือกเขาฮินดูกูฏ**

ตรงกันข้ามกับทัศนะมุมมองที่ไปกันคนละทางของสหรัฐฯและรัสเซียในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน ทั้งสองมหาอำนาจกลับขยับเข้าใกล้กันและกันได้มากในเรื่องสงครามในอัฟกานิสถาน ดังที่ เซอร์เกย์ ปริคอดโก (Sergei Prikhodko) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายการต่างประเทศของวังเครมลินพูดเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “เรายินดีต้อนรับนโยบายของสหรัฐฯในเรื่องอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งมีความโปร่งใสเพิ่มขึ้น ลู่ทางของการร่วมมือกับฝ่ายตะวันตกในเรื่องอัฟกานิสถานนั้นสามารถที่จะขยายให้กว้างขวางออกไป” ทั้งนี้ มอสโกมองความร่วมมือกันในเรื่องอัฟกานิสถาน ว่าเป็นองค์ประกอบอันสำคัญที่สุดในความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะ “กดปุ่มเพื่อตั้งเครื่องกันใหม่” ให้แก่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย

ปริคอดโกตอกย้ำถึงเรื่องนี้โดยบอกว่า องค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization หรือ SCO) จะไม่ “พยายามเข้ารับช่วงเป็นผู้ริเริ่ม” ในการหาทางยุติความขัดแย้งอัฟกานิสถาน สืบแทนกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ปรารถนาที่จะมีบทบาทที่แข็งขันมากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ประสิทธิภาพของการต่อสู้ปราบปรามการขนยาเสพติดจากอัฟกานิสถานในเวลานี้กำลังย่ำแย่ลงไม่ใช่กำลังดีขึ้น “บทบาทที่แข็งขันมากขึ้นกว่าเดิมหมายถึงการมีความรับผิดชอบที่แข็งขันยิ่งขึ้น ถ้าเราจะเรียกร้องมีบทบาทที่แข็งขันมากขึ้น นั่นเท่ากับว่าเมื่อถึงที่สุดแล้วก็จะทำให้เราต้องเข้าร่วมอยู่ในกองกำลังนานาชาติในอัฟกานิสถาน เราไม่ได้กำลังจะส่งทหารเข้าไปอัฟกานิสถาน สำหรับตอนนี้ความรับผิดชอบหลักในเรื่องอัฟกานิสถานนั้น ตกเป็นของพวกประเทศที่กำลังรวมตัวอยู่ในกองกำลังนานาชาติ แต่เราก็กำลังจะไปที่นั่นโดยที่สำคัญแล้วคือเพื่อเข้าร่วมในเรื่องการก่อสร้างบูรณะ” ปริคอดโกอธิบาย

แน่นอนทีเดียว นี่เป็นการขยายความให้เข้าใจนโยบายของรัสเซียได้อย่างกระจ่างชัดขึ้นเป็นอันมาก มอสโกนั้นมีความกังวลว่าวอชิงตันกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อขยายฐานของนาโต้ในแถบเอเชียกลาง แล้วก็มีความวิตกพอๆ กันว่า สหรัฐฯปิดประตูแน่นหนาไม่ยอมให้มีรูปแบบความร่วมมือใดๆ ระหว่างนาโต้ฝ่ายหนึ่ง และองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (Collective Security Treaty Organization หรือ CSTO) ที่นำโดยรัสเซีย หรือกระทั่งองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) อีกฝ่ายหนึ่ง นอกจากนั้นวอชิงตันยังไม่ยอมให้มอสโกได้เล่นบทบาทสำคัญใดๆ ในการแสวงหาวิธีแก้ความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน ขณะที่วอชิงตันยังคงเข้าไปเกี้ยวพาพวกประเทศสมาชิก เอสซีโอ กันเป็นรายๆ ให้มาร่วมมือกับตนในเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน แม้กระทั่งจีนและคาซัคสถานก็ยังได้รับคำเชื้อเชิญให้ร่วมส่งทหารไปที่นั่น

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
(อ่านต่อตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ)
  • ช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับ“โอบามา”ในกรุงมอสโก (ตอน3)
  • ช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับ“โอบามา”ในกรุงมอสโก (ตอน1)<#
  • กำลังโหลดความคิดเห็น