xs
xsm
sm
md
lg

“ตัวเลข”ไม่ได้ชี้ว่ารัสเซีย-จีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: เซอร์เก บลากอฟ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Russia, China numbers missing
By Sergei Blagov
20/07/2009

การเยือนรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ของประธานาธิบดี หูจิ่นเทา แห่งประเทศจีน ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ว่าจะเป็นการเพิ่มความลึกซึ้งหนักแน่นให้แก่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกันทางด้านพลังงาน ทว่าเมื่อพิจารณาจากตัวเลขแล้ว มันดูเหมือนจะไม่ค่อยเป็นเช่นนั้นเสียเลย

มอสโกและปักกิ่งต่างยกย่องชมเชยสิ่งที่พวกเขาเรียกขานว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองฝ่าย ทว่าพวกรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานทั้งของรัสเซียและจีน กลับกำลังต้องใช้ความพยายามกันอย่างหนัก เพื่อให้สามารถตกลงประนีประนอมกันในเรื่องราคาค่าพลังงาน

ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่า การเยือนรัสเซียของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา แห่งประเทศจีนเมื่อวันที่ 16-18 มิถุนายนที่ผ่านมา มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความลึกซึ้งหนักแน่นให้แก่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ รวมทั้งเพื่อพัฒนาความร่วมมือกันทางด้านพลังงานด้วย

ในวันที่ 17 มิถุนายน ประธานาธิบดี ดมิตริ เมดเวเดฟ ของรัสเซีย ได้ประกาศว่า เขาประสบความสำเร็จในการทำความตกลงกับฝ่ายจีนที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเรียกการทำความตกลงกันคราวนี้ว่า เป็น “ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ในประวัติความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย “เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ก็เพราะการใช้กลไกที่เราได้ตกลงเอาไว้กับประธานาธิบดีจีนเมื่อหนึ่งปีก่อนนั่นเอง” เขากล่าว เมดเวเดฟยังพูดด้วยว่าจะนำเอาประสบการณ์ในทางบวกนี้ ไปใช้ในประเด็นอื่นๆ ของการร่วมมือกันทางพลังงานด้วย เป็นต้นว่า ในภาคก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

การประกาศว่าทำความตกลงกันได้ 100,000 ล้านดอลลาร์ของเมดเวเดฟนี้ ดูจะไม่ตรงกับตัวเลขผลรวมของบรรดาข้อตกลงต่างๆ ที่กระทำกันได้ระหว่างการเยือนของหูเที่ยวนี้ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนนั้นเอง เมดเวเดฟกับหูได้ลงนามในคำแถลงร่วมฉบับหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายยังได้เซ็นบันทึกความเข้าใจหลายๆ ฉบับ (memoranda of understanding หรือ MOU) ในเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือกันทางด้านก๊าซและถ่านหิน, การส่งเสริมการค้า, พิมพ์เขียวว่าด้วยความร่วมมือทางด้านการลงทุน, ข้อตกลงแม่บทว่าด้วยเงินกู้จำนวน 700 ล้านดอลลาร์ที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (China’s Export-Import Bank) จะให้แก่ธนาคารวีอีบี (VEB) ของรัสเซีย และบันทึกความเข้าใจฉบับเพิ่มเติมระหว่าง เรโนวา (Renova) กับบรรษัททำเหมืองทองคำแห่งรัฐของจีน

วันที่ 17 มิถุนายน ลุคออย (Likoil)ของรัสเซีย กับ ซิโนเปก (Sinopec) ของจีน ก็ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายและขนส่งน้ำมันดิบจำนวน 3 ล้านตัน จากแหล่งน้ำมันเซาท์ ฮิลชูยู (South Hylchuyu) ในดินแดนปกครองตนเองเนเนตส์ของรัสเซียไปให้ประเทศจีน ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2009 ถึง 30 มิถุนายน 2010 แต่ข้อตกลงเหล่านี้แม้รวมกันแล้ว ก็ยังดูจะไม่ถึงระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์ตามที่เมดเวเดฟอ้างถึง

ก่อนหน้าการเจรจาระหว่างสองฝ่ายดังกล่าวนี้ บรรดาสำนักข่าวของรัสเซียต่างรายงานโดยอ้างพวกแหล่งข่าววังเครมลินระบุว่า การเจรจาที่กรุงมอสโกคราวนี้ จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องพลังงานและการค้า พวกเขายังชี้ด้วยว่าในปี 2009 รัสเซียกับจีนได้ลงนามในข้อตกลงด้านยุทธศาสตร์พลังงานหลายๆ ฉบับ ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 100,000 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น ในการยกย่องชมเชยการตกลงกันเป็นมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์นั้น เมดเวเดฟน่าจะกำลังพูดถึงข้อตกลงซื้อขายและส่งน้ำมันดิบระยะยาวที่ได้ทำกันไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ในปีนี้แล้ว ส่วน “กลไก” ที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาซึ่งเขาพูดถึงนั้น ก็น่าจะหมายถึงเงินกู้ของจีนที่ให้แก่ฝ่ายรัสเซียเพื่อแลกเปลี่ยนกับซัปพลายน้ำมันในอนาคตนั่นเอง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน รัฐบาลจีนและรัฐบาลรัสเซียได้บรรลุการตกลงกันในขั้นสุดท้ายของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองฉบับหนึ่ง ซึ่งได้มีการเห็นพ้องในขั้นหลักการกันไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2008 ตามข้อตกลงดังกล่าวนี้รัสเซียจะขายและส่งน้ำมันให้จีนเป็นจำนวน 300 ล้านตันในช่วง 20 ปีต่อจากนี้ไป เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินกู้ 25,000 ล้านดอลลาร์ที่จีนจะให้แก่พวกบริษัทแห่งรัฐของรัสเซีย ข้อตกลงนี้ยังมีส่วนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการก่อสร้างแนวท่อส่งน้ำมันความยาว 67 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสายย่อยที่แยกจากแนวท่อส่งน้ำมันไซบีเรียตะวันออกแปซิฟิก (Eastern Siberia Pacific Oil Pipeline หรือ ESPO) เพื่อเชื่อมเมืองสโคโวโรดิโน (Skovorodino) กับชายแดนจีน พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียให้คำมั่นสัญญาที่จะก่อสร้างแนวท่อส่งน้ำมันเส้นนี้ให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด หรือก่อนสิ้นปี 2010 อีกทั้งยังจะเพิ่มความสามารถในการส่งน้ำมันของแนวท่อย่อยสายนี้ จนในที่สุดแล้วจะอยู่ในระดับสูงกว่า 15 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ดี พวกเจ้าหน้าที่จีนดูจะยังคงสงสัยข้องใจในคำมั่นสัญญาที่จะสร้างให้เสร็จก่อนกำหนดนี้ ภายหลังที่เขาเจรจากับเมดเวเดฟแล้ว หูได้บอกกับที่ประชุมแถลงข่าวร่วมว่า ทั้งสองฝ่ายควรตั้งจุดมุ่งหมายที่จะก่อสร้างแนวท่อย่อยของ อีเอสพีโอ นี้ให้เสร็จทันตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ที่ผ่านมานั้น กว่าที่พวกบริษัทรัสเซียและบริษัทจีนจะสามารถทำความตกลงในขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับแนวท่อสายย่อยนี้ ปรากฏว่าต้องใช้เวลาถึงกว่า 3 ปี กล่าวคือ มีการประกาศการก่อสร้างแนวท่อนี้เป็นครั้งแรกเมื่อตอนที่วลาดิมีร์ ปูติน ที่เวลานั้นยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เดินทางไปเยือนจีนในเดือนมีนาคม 2006 ปูตินยังได้ให้สัญญาที่จะส่งออกก๊าซรัสเซียให้แก่จีนเป็นจำนวนถึง 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านแนวท่อส่งอัลไต (Altai pipeline) ที่มีความยาว 6,700 กิโลเมตรและจะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมีนาคม 2006 นั่นเอง กาซปรอม (Gazprom) รัฐวิสาหกิจด้านก๊าซและน้ำมันของรัสเซีย กับทางบรรษัทน้ำมันปิโตรเลียมแห่งชาติของจีน (China National Petroleum Corporation หรือ CNPC) ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่ง ว่าด้วยการที่รัสเซียจะส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่จีนตั้งแต่ปี 2011 บันทึกความเข้าใจนี้เป็นการต่อเนื่องตามมาจากข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนกันซึ่งได้ลงนามไปในเดือนตุลาคม 2004 นั่นเอง

ก่อนหน้านี้ในปีนี้ มอสโกทำท่าเหมือนจะรื้อฟื้นชุบชีวิตโครงการแนวท่อก๊าซอัลไตขึ้นมาใหม่ หลังจากหยุดชะงักไปเนื่องจากฝ่ายรัสเซียและฝ่ายจีนไม่สามารถตกลงกันเกี่ยวกับสูตรการคิดราคาก๊าซ กล่าวคือ ตอนที่รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย อีกอร์ เซชิน (Igor Sechin) เดินทางไปปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เขาได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งจากเมดเวเดฟไปให้แก่หู โดยมีเนื้อหาเร่งรัดให้ทำข้อตกลงระหว่างกาซปรอมกับซีเอ็นพีซีในเรื่องที่ฝ่ายรัสเซียจะขายและส่งก๊าซให้แก่ฝ่ายจีน อย่างไรก็ตาม พวกผู้บริหารก๊าซของรัสเซียกลับแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในเวลาต่อมาว่า ยังจะต้องเจรจากันอีกยาวกว่าจะทำข้อตกลงเรื่องนี้ได้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา อเล็กซานเดอร์ อานาเนนคอฟ (Alexander Ananenkov) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกาซปรอม ประกาศแสดงความคาดหมายว่า ก๊าซรัสเซียคงจะเริ่มส่งให้แก่จีนในปี 2011 ไม่ได้ สืบเนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงมีจุดที่ไม่เห็นพ้องต้องกันหลายจุดในเรื่องราคาก๊าซ “ผู้ขายต้องการขายให้ได้ราคาสูงๆ ส่วนผู้ซื้อก็ต้องการซื้อในราคาต่ำๆ” เขาตั้งข้อสังเกต มีรายงานว่ากาซปรอมเสนอที่จะส่งออกก๊าซให้จีนโดยคิดราคาอิงกับราคาน้ำมันระหว่างประเทศ ขณะที่จีนยังคงลังเลไม่อยากยอมรับข้อเสนอนี้

ระหว่างการประชุมสุดยอดกับหู ทางเมดเวเดฟยังได้เสนอแนะให้ใช้สกุลเงินตราแห่งชาติของรัสเซียและจีนในการทำธุรกรรมระหว่างสองฝ่าย ในวันที่ 17 มิถุนายน เซชินก็แถลงว่าทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาใช้เงินรูเบิลและเงินหยวนในการค้าพลังงาน พร้อมกับเสริมว่าความคิดที่ริเริ่มโดยเมดเวเดฟนี้มี “ลักษณะเชิงยุทธศาสตร์” เขายังชี้ด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะปรึกษาหารือกันต่อในเรื่องความร่วมมือกันในด้านก๊าซในเดือนมิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่รัสเซียนั้นได้เคยเรียกร้องสนับสนุนให้เพิ่มการพึ่งพาสกุลเงินตราแห่งชาติของทั้งสองฝ่ายกันมากขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า ช่วงใกล้ๆ นี้เอง เมื่อเดือนตุลาคม 2008 ระหว่างการพบปะหารือในกรุงมอสโกกับนายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าของจีน ปูตินก็ได้เรียกร้องให้ใช้เงินตราของรัสเซียและของจีนในการค้าระหว่างสองฝ่าย เพื่อที่จะได้ค่อยๆ เข้าแทนที่การทำธุรกรรมกันเป็นสกุลเงินดอลลาร์อเมริกัน ปูตินยังเสนอแนะให้เพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสองฝ่ายขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีด้วย

แต่ในทางเป็นจริงแล้ว การค้าระหว่างจีน-รัสเซียกลับอยู่ในสภาพที่ลดฮวบลง ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2009 ปริมาณการค้านี้หล่นลงมาเหลือราวๆ 8,700 ล้านดอลลาร์ หรือต่ำลง 41% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ตามข้อมูลสถิติของรัฐบาลจีน ในปี 2008 การค้าระหว่างสองฝ่ายได้พุ่งไปอยู่ที่ระดับ 56,800 ล้านดอลลาร์ หรือสูงขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า และจีนก็ได้เปรียบดุลการค้ารัสเซียเป็นจำนวน 13,500 ล้านดอลลาร์

คำแถลงร่วมระหว่างปูตินกับเวิน ได้ย้ำยืนยันเรื่องแผนการต่างๆ เพื่อความร่วมมือกันด้านนิวเคลียร์ในอนาคต เป็นต้นว่า การขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทียนว่าน (Tianwan) ของจีน ในเดือนตุลาคม 2008 นี้เอง บรรษัทนิวเคลียร์ โรสาตอม (Rosatom) ของรัสเซีย และสำนักงานนิวเคลียร์ของจีน ก็ได้ลงนามในเอ็มโอยูฉบับหนึ่ง ว่าด้วยการขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทียนว่าน อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ทั้งสองฝ่ายยังคงต้องดิ้นกันหนักเพื่อตกลงกันให้ได้ เกี่ยวกับการประมาณการค่าใช้จ่ายของโครงการขยายโรงไฟฟ้านี้

พวกสื่อมวลชนรัสเซียชี้ว่า การทำข้อตกลงด้านพลังงานกับจีนนั้น บ่อยครั้งจะต้องใช้เวลากว่าที่คาดหมายไว้จึงจะได้เรื่องได้ราวออกมา หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน “คอมเมียร์ซันต์” (Kommersant) ของรัสเซียตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนว่า รัสเซียและจีนยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันในโครงการร่วมขนาดใหญ่ๆ หลายโครงการ เป็นต้นว่า โครงการนิวเคลียร์เทียนว่าน และโครงการขายและส่งก๊าซให้จีน นอกจากนั้นมอสโกกับปักกิ่งก็ยังไม่ได้รื้อฟื้นการเจรจาเรื่องราคาก๊าซขึ้นมาอีก

ด้วยเหตุนี้เองจึงสรุปได้ว่า ถึงแม้มีคำมั่นสัญญาต่างๆ ในเรื่องความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งเรื่องความร่วมมือกันทางด้านพลังงานด้วย แต่รัสเซียกับจีนก็ดูยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะตกลงเห็นพ้องกันเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ในโครงการพลังงานขนาดใหญ่ๆ กันได้

ก่อนที่จะมาทำงานเป็นนักวิจัยอิสระและนักหนังสือพิมพ์โดยใช้มอสโกเป็นฐานดังในปัจจุบันนั้น ดร.เซอร์เก บลากอฟ เคยเป็นผู้สื่อข่าวประจำสำนักข่าวแห่งหนึ่ง และได้ทำหน้าที่รายงานข่าวจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 7 ปี ในหลายๆ ช่วงระหว่างปี 1983 ถึง 1997

(ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน The Jamestown Foundation)
กำลังโหลดความคิดเห็น