xs
xsm
sm
md
lg

“ราคา”ยังเป็นตัวจำกัดมิตรภาพจีน-รัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: รอเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Price limit on China’s Russian friendship
By Robert M Cutler
15/10/2009

การไปเยือนจีนของนายกรัฐมนตรี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียในสัปดาห์นี้ บ่งบอกให้ทราบว่าความร่วมมือในระดับยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศทั้งสองกำลังมีการพัฒนาขยับเข้าใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ปักกิ่งตกลงใจที่จะใช้วิธีต่อรองอย่างเต็มเหนี่ยว สำหรับราคาก๊าซที่จะนำเข้าจากแดนหมีขาว อันเป็นท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปจากความอะลุ้มอะล่วยด้วยการเสนอให้เงินกู้แบบผ่อนปรนในโครงการเกี่ยวกับน้ำมันของมอสโกเมื่อต้นปีนี้ ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความร่วมมือกันดังกล่าวนี้มีข้อจำกัดของมันอยู่

มอนทรีล, แคนาดา – การเดินทางไปเยือนจีนของนายกรัฐมนตรี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียในสัปดาห์นี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ล่าสุดว่า มิตรไมตรีอันกลับกระชับขึ้นมาใหม่ในความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน กำลังพัฒนาอย่างสม่ำเสมอไปสู่ความร่วมมือกันในระดับยุทธศาสตร์อันสนิทชิดเชื้อยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กล่าวได้ว่าความแนบแน่นใกล้ชิดดังกล่าวนี้เริ่มต้นขึ้นด้วย “สนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านที่ดี, มิตรภาพและความร่วมมือ” ระหว่างสองประเทศในปี 2001 ซึ่งเปิดทางให้รัสเซียขายอาวุธแก่จีนเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้นายทหารจีนได้เข้ารับการฝึกอบรมจากโรงเรียนการทหารของรัสเซีย

ในส่วนของความร่วมมือกันในแวดวงพลังงานซึ่งก็กำลังผลิบานแตกช่อเช่นเดียวกันนั้น สามารถนับเนื่องตั้งแต่ตอนที่ปูตินเยือนจีนในเดือนธันวาคม 2002 ขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงเห็นพ้องที่จะหารือกันในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการสร้างสายท่อเพื่อส่งออกก๊าซรัสเซียมายังจีน โดยที่แหล่งก๊าซโควืตคา (Kovytka) มีโอกาสสูงที่สุดที่จะใช้เป็นแหล่งจ่ายก๊าซให้แก่โครงการนี้

ต่อมาในระหว่างการเยือนจีนอีกครั้งของเขาเมื่อเดือนตุลาคม 2004 กาซปรอม (Gazprom) ของรัสเซีย และ ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม คอร์เปอเรชั่น (China National Petroleum Corporation หรือ CNPC) ของจีน ก็ได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งมีเนื้อหาไม่เพียงระบุถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรัสเซียไปยังจีนเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดทำโครงการด้านต่างๆ ร่วมกันในไซบีเรีย ตลอดจนในประเทศที่สาม ทั้งนี้ในขณะนั้น ผู้นำของประเทศทั้งสองได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding หรือ MoU) ฉบับหนึ่งไปแล้ว โดยเป็นเอ็มโอยูที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาสายท่อส่งก๊าซธรรมชาติขึ้นมา 2 เส้น จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา จึงมีการลงนามในเอ็มโอยูอีกฉบับหนึ่งซึ่งมีการระบุถึงแนวสายท่อที่น่าจะจัดสร้างขึ้นทั้ง 2 เส้น กล่าวคือ เส้นหนึ่งจากไซบีเรียตะวันตก วางแผนกันไว้ว่าจะให้มีความสามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติได้ในระดับ 30,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนอีกเส้นหนึ่งจากไซบีเรียตะวันออก จะให้ลำเลียงได้ 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ถึงปี 2007 รัสเซียได้จัดตั้ง “โครงการก๊าซภาคตะวันออก” (Eastern Gas Program หรือ EGP) ขึ้น เพื่อให้เป็นโครงการของภาครัฐที่รับผิดชอบหาหนทางสร้างระบบที่เป็นเอกภาพกันในการผลิตและการขนส่งก๊าซมายังจีนและประเทศอื่นๆ ทางแถบริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โครงการ อีจีพี นี้ได้รับอนุมัติในเดือนกันยายนปีดังกล่าว จากทางกระทรวงอุตสาหกรรมและพลังงานของรัสเซีย และได้เลือกให้กาซปรอมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของโครงการ

ต่อมาเมื่อตอนต้นปีนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน (China Development Bank) ได้ให้เงินกู้จำนวน 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำแก่บริษัทรัสเซีย 2 แห่ง คือ รอสเนฟต์ (Rosneft) และ ทรานสเนฟต์ (Transneft) โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงซึ่งจะมีทั้งการที่รัสเซียจะส่งน้ำมันให้แก่จีนอย่างต่ำที่สุด 300,000 บาร์เรลต่อวันในระดับราคาที่เอื้อเฟื้อเอาใจกันสุดๆ ตลอดจนมีการทำข้อตกลงก่อสร้างท่อส่งน้ำมันสายที่แยกต่อมาจากเส้นไซบีเรียตะวันออก-มหาสมุทรแปซิฟิก (East Siberia-Pacific Ocean (ESPO) เพื่อใช้ขนส่งน้ำมันดังกล่าว (ดูเรื่อง China on buying and lending spree, Asia Times Online, March 5, 2009)

สำหรับการเยือนปักกิ่งครั้งล่าสุดของปูตินในต้นสัปดาห์นี้ ปรากฏว่าไม่สามารถไปถึงขั้นการทำความตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับก๊าซให้คืบหน้าไปอย่างชัดเจน เหมือนดังที่ผู้สังเกตการณ์บางรายคาดการณ์ไว้ แต่กระนั้นก็ดูจะมีความคืบหน้าในการเจรจากันอยู่บ้าง

ขณะที่การเจรจาหารือดำเนินไปได้ราวครึ่งทาง สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานโดยอ้างคำพูดของ รองนายกรัฐมนตรี เอกอร์ เซชิน (Igor Sechin) แห่งรัสเซีย ที่กล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวว่า สัญญาน่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในฤดูร้อนปีหน้า โดยที่การขนส่งจะเริ่มต้นได้ประมาณกลางทศวรรษหน้า ทั้งนี้อาจจะเป็นการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) กันทางเรือ หรือผ่านสายท่อส่งเส้นใหม่ๆ ที่จะมีการก่อสร้างกันขึ้นมา

เซชินกล่าวต่อไปว่า จีนยังได้ตกลงที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่อีก 2 เตาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทียนว่าน (Tianwan) ในมณฑลเจียงซู ด้วยความช่วยเหลือของรัสเซีย, จะซื้อกระแสไฟฟ้าจากดินแดนตะวันออกไกลของรัสเซีย, และจะนำเข้าถ่านหินรัสเซีย ทั้งนี้ข้อตกลงในเรื่องต่างๆ เหล่านี้รวมกันแล้วมีมูลค่าทั้งสิ้น 3,500 ล้านดอลลาร์ โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงการเจรจากันในเรื่องก๊าซธรรมชาติ

เวลาต่อมาปูตินกล่าวแนะว่า สายท่อส่งก๊าซเส้นไซบีเรียตะวันตก น่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ก่อนถึงกลางทศวรรษหน้าโดยที่ได้รับความสนับสนุนด้านการเงินจากจีน ทั้งนี้เนื่องจากมีสายท่อเส้นใหญ่อยู่แล้ว และต้องสร้างต่อมาให้ถึงจีนเท่านั้น ส่วนสำหรับเส้นไซบีเรียตะวันออก คงจะต้องอาศัยเงินลงทุนของจีน เนื่องจากแหล่งก๊าซในพื้นที่แถบนั้นยังไม่เคยมีการขุดค้นขึ้นมาใช้เลย

มีรายงานว่าเรื่องราคาคือประเด็นที่ทำให้เกิดความสะดุดติดขัด ตั้งแต่ที่มีการเจรจาหารือทำข้อตกลงเหล่านี้ในครั้งแรกๆ แล้ว โดยที่รัสเซียปรารถนาที่จะใช้ระบบราคาแบบเดียวกับที่ตนเองใช้อยู่ในยุโรป นั่นคือคำนวณราคาก๊าซแบบสัมพันธ์กับราคาน้ำมัน ขณะที่จีนปรารถนาที่จะให้ใช้วิธีซึ่งจะทำให้ราคาต่ำลงกว่านั้น ในการแสดงทัศนะครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะออกจากกรุงปักกิ่ง ปูตินประกาศว่ามีการตกลงกันที่จะกำหนดราคาก๊าซโดยสัมพันธ์กับ “ตะกร้าราคาน้ำมันเอเชีย” ถึงแม้ยังจะต้องมาพูดคุยในเรื่องรายละเอียดกันต่อไป

แต่ถึงแม้ปูตินประกาศว่าสามารถทำความตกลงเกี่ยวกับเรื่องราคากันในทางหลักการแล้ว จากคำพูดสุดท้ายของเขากลับทำให้เชื่อกันว่ายังจะต้องทำความตกลงกันในทางหลักการกันอีก ไม่ใช่จะเดินหน้าทำความตกลงกันในทางปฏิบัติได้แล้ว ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส (Associated Press หรือ AP) ปูตินสารภาพว่า มีความจำเป็น “ที่จะต้องโต้แย้งไปจนกว่าเสียงของเราจะเหือดแห้งหมดสิ้น จนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย” ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ความศรัทธาใน “ผลประโยชน์แห่งชาติซึ่งมีอยู่ร่วมกัน” จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะ “บรรลุข้อตกลงกันในท้ายที่สุด”

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่มีการจัดตั้งโครงการอีพีจีขึ้นมาแล้ว และข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดาตลาดในเอเชียนี่แหละเป็นตลาดที่จะเจริญเติบโตต่อไป จึงมีความเป็นไปได้มากทีเดียวว่า อย่างน้อยที่สุดสายท่อก๊าซเส้นไซบีเรียตะวันตกน่าจะจัดสร้างกันขึ้นมาได้ในเวลาอีกไม่นานนัก อย่างไรก็ดี สิ่งที่กระจ่างแจ่มแจ้งก็คือ ปักกิ่งกำลังใช้วิธีต่อรองอย่างเต็มเหนี่ยว และในขณะนี้ไม่ได้เตรียมเสนอเงินกู้แบบผ่อนปรน แบบเดียวกับที่ได้ยอมตกลงไปเมื่อต้นปีนี้ในโครงการเกี่ยวกับท่อส่งน้ำมันสาย ESPO

ดร.รอเบิร์ต เอ็ม คันเลอร์ (http://www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้เคยวิจัยและสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เป็นนักวิจัยอาวุโสที่สถาบันยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาให้แก่ภาคเอกชนในด้านต่างๆ อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น