ลมหนาวโชยมาหน่อยๆ สดร.ชวนดูปรากฏการณ์มหัศจรรย์บนท้องฟ้า จัดกิจกรรมดาราศาสตร์รับค่ำคืนฤดูหนาว Winter Sky ตลอดเดือน พ.ย.- ก.พ.53 ทั้งฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่เคยโด่งดัง กิจกรรมดาราศาสตร์สัญจร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร.ประกาศจัดกิจกรรม "Winter Sky มหัศจรรย์ปรากฏการณ์และกิจกรรมดาราศาสตร์แห่งปี" ระหว่างเดือน พ.ย.52 - ก.พ.53 ซึ่ง รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวระหว่างแถลงข่าว เมื่อวันที่ 9 พ.ย.52 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่ากิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักและเห็นความสำคัญทางดาราศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเนื่องในปีดาราศาสตร์สากล (International Year of astronomy 2009: IYA2009)
สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น ประกอบด้วย 1.กิจกรรมเปิดฟ้าตามหาดาว ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง โดยกิจกรรมแรกได้จัดไปแล้วนั่นคือการร่วมสังเกตวัตถุท้องฟ้าต่างๆ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมยังได้สังเกตพื้นผิวดาวพฤหัสและดาวบริวารผ่านกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากดาวพฤหัสอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์
2.มหกรรมดาราศาสตร์สัญจร เป็นกิจกรรมที่จัดนิทรรศการทางดาราศาสตร์ นิทรรศการภาพถ่ายทางดาราศาสตร์จากทั่วโลกและในเมืองไทย รวมถึงกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้า ซึ่งมี "มหกรรมดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ" ระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย. ณ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่จะอบรมครูดาราศาสตร์ให้แก่ครูใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง
พร้อมด้วยกิจกรรม "ลานนาสตารีมิราเคิล 2009 (Lanna Starry Miracle2009) : อัศจรรย์ดาราศาสตร์ครั้งแรกของเชียงใหม่” ระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-1 ธ.ค. ณ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ต
สำหรับกิจกรรมลานนาสตารีมิราเคิลนี้ รศ.บุญรักษากล่าวว่าเป็นกิจกรรมที่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไป ได้รู้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์มากขึ้น ซึ่งช่วงฤดูหนาวนี้มีคนไปเที่ยวเชียงใหม่เยอะ จึงอยากให้รู้จักสถาบันด้วย และในวันที่ 6 ธ.ค.ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์และะมีถนนคนเดิน ทางสถาบันจะตั้งกล้องโทรทรรศน์ ณ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ ให้ประชาชนได้ชมวัตถุท้องฟ้าด้วย
กิจกรรมสุดท้ายคือ 3.มหัศจรรย์ปรากฏการณ์ "การกลับมาของฝนดาวตกลีโอนิดส์" ปรากฏารณ์ดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. โดยทาง สดร.ได้จัดทีมสังเกตการณ์ 2 จุด คือ อ.หิวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่
อีกทั้งยังมีเครือข่ายดาราศาสตร์ที่ร่วมจัดกิจกรรมติดตามฝนดาวตกลีโอนิดส์ทั่วประเทศ ดังนี้
ภาคกลาง - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาคตะวันออก – อ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี, โรงเรียนชลราษฎรอำรุง อ.เมือง จ.ชลบุรี, โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และโรงเรียนไผ่แก้ววิทยา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
ภาคเหนือ – มหาวิทยาลัยนเรศวร , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
ภาคใต้ - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต
ด้าน ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวระหว่างแถลงข่าวซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมด้วยว่า กิจกรรมทางดาราศาสตร์ต่างๆ นั้นเป็นที่นานๆ เกิดที จึงอยากให้ทุกคนได้ตั้งถามว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ดีกว่าแค่ดูเฉยๆ.