นักวิจัยมหิดลร่วมมือเอ็มเทค พัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนปืนเอ็ม-16 ไรเฟิล สำเร็จ ราคาต้นทุนถูกกว่านำเข้าเกือบครึ่ง ปตท. ให้ทุนอุดหนุนผลิต 100 ตัวแรก นำไปมอบให้ตำรวจและทหารในพื้นที่ชายแดนใต้ นักวิจัยเตรียมต่อยอดพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นและหนักน้อยลง เพิ่มความคล่องตัวให้ผู้สวมใส่ขณะปฏิบัติหน้าที่
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) แถลงผลสำเร็จการพัฒนาเสื้อเกราะกันกระสุนจากโลหะ เซรามิกส์ และพลาสติก เมื่อวันที่ 5 พ.ย.52 ที่ผ่านมา พร้อมจัดพิธีส่งมอบเสื้อเกราะกันกระสุนให้แก่ บริษัท พีทีที โพลิเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในกลุ่ม ปตท. จำนวน 100 ตัว เพื่อนำไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้ป้องกันตัวขณะปฏิบัติราชการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ดร.กุลจิรา สุจิโรจน์ นักวิจัยเอ็มเทค กล่าวว่า เสื้อเกราะกันกระสุนที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นเสื้อเกราะชนิดแข็ง ประกอบด้วยแผ่นกระจายแรงอยู่ด้านนอก และแผ่นดูดซับแรงอยู่ด้านใน
แผ่นกระจายแรงทำจากเซรามิกส์และโลหะ ทำหน้าที่ละลายหัวกระสุน คุณสมบัติของเซรามิกส์ที่เบาและแข็งสามารถทำให้หัวกระสุนที่มีความเร็วสูงแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ และความแข็งช่วยกระจายแรงได้ดี ส่วนแผ่นดูดซับแรงผลิตจากแผ่นโพลิเมอร์คอมโพสิทจากเม็ดพลาสติกเอชดีพีอี (HDPE) ซึ่งมีความแข็งแรงสูง ทำหน้าที่ลดแรงกระแทกที่เหลือ
เสื้อเกราะดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม ประกอบด้วยเกราะแผ่นสอด 2 แผ่น คือ ด้านหน้าและด้านหลัง เกราะแผ่นสอดมีลักษณะเป็นแผ่นโค้งและเหมาะกับสรีระของคนไทย ผ่านการทดสอบคุณภาพจากองพลาธิการทหารและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วว่ามีประสิทธิภาพการป้องกันภัยของเกราะบุคคลในระดับ 3 ตามมาตรฐานเอ็นไอเจ (National Institute of Justice: NIJ) สหรัฐอเมริกา คือ สามารถป้องกันกระสุนปืน 7.62 ม.ม., ปืนเอ็ม-16 และปืนไรเฟิลได้ ซึ่งเป็นอาวุธสงครามที่ใช้กันอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้าน รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยแผ่นดูดซับแรงจากโพลิเมอร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เสื้อเกราะกันกระสุนนี้มีอายุการใช้งานนานกว่า 5 ปี หากยังไม่ถูกกระสุนปืน และนานกว่าเสื้อเกราะกันกระสุนโดยทั่วไปที่ผลิตจากเส้นใยเคฟลาร์ ทั้งนี้เพราะแผ่นโพลิเมอร์ HDPE คอมโพสิทมีความทนทานต่อความชื้นและแสงแดดมากกว่า แต่ปกติแล้วจะไม่นำเสื้อเกราะที่ถูกกระสุนปืนแล้วกลับมาใช้อีก
ทั้งนี้ เสื้อเกราะกันกระสุนที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยชุดนี้มีต้นทุนการผลิตประมาณ 30,000 บาทต่อชุด ซึ่งต่ำกว่าเสื้อเกราะกันกระสุนนำเข้าจากต่างประเทศที่มีป้องกันได้ในระดับเดียวกันเกือบเท่าตัว โดยเอ็มเทคและมหิดลร่วมกันวิจัยพัฒนาและผลิตขึ้นเป็นจำนวน 100 ตัว เพื่อมอบให้กับ บริษัท พีทีที โพลิเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ 5.5 ล้านบาท พร้อมวัตถุดิบเม็ดพลาสติก โดยจะนำไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้ป้องกันตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ.ดร.ทวีชัย บอกอีกว่าขั้นต่อไปจะพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เส้นใยโพลิเมอร์ HDPE มีความแข็งแรงมากขึ้น 2 เท่า ด้าน ดร.กุลจิรา ก็เตรียมพัฒนาแผ่นกระจายแรงให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและมีน้ำหนักน้อยลง 20-30% เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้สวมใส่ขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งจะพัฒนาหมวกกันกระสุนด้วย
อย่างไรก็ตาม เสื้อเกราะกันกระสุนถือเป็นยุทธภัณฑ์อย่างหนึ่ง ซึ่งการผลิตและการครอบครองจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ซึ่งทีมวิจัยจะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเสื้อเกราะให้ทันกับเทคโนโลยีอาวุธสงคราม ส่วนผลงานที่สำเร็จและจดสิทธิบัตรแล้วนั้นวางแผนจะถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน เพื่อให้มีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้มีราคาถูกลงได้อีก และผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมด้วย.