เอกชนสนับสนุนนิสิตจุฬาฯ ร่วมมือนักวิจัย วว. คิดค้นวิธีสังเคราะห์นาโนไททาเนียม ใช้สำหรับผสมสีทาบ้าน ได้สารและสีที่มีสมบัติใกล้เคียงกับที่ใช้ในทางการค้า ทำความสะอาดตัวเองได้ ไม่เกิดการสะสมคราบสกปรกและมลพิษตามฝาผนัง หวังลดการนำเข้าสารโฟโตคะตะลิสต์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่า
นายศราวุธ สาลีผลิน นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการสังเคราะห์สารนาโนไททาเนียมเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในสี โดยมี ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร นักวิจัยฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมวิจัย
นายศราวุธ กล่าวว่ากับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า โรงงานผลิตสี มีความต้องการผงโฟโตคะตะลิสต์สำหรับผสมในสี โดยมุ่งไปที่สารนาโนไททาเนียม เพื่อให้สีมีคุณสมบัติสามารถทำความสะอาดตัวเองได้
ปัจจุบันผงโฟโตคะตะลิสต์มีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงคิดหาวิธีสังเคราะห์เองภายในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริษัทผู้ผลิตสีตราเบเยอร์ ซึ่งเป็นการวิจัยภายใต้โครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี 2552 ของ วว.
ทีมวิจัยศึกษาการสังเคราะห์ผงอะนาเทสนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ ที่มีคุณสมบัติโฟโตคะตะลิสต์ด้วยวิธีการต่างๆ และนำไปทดลองผสมในสี พบว่าผงอะนาเทสไททาเนียมไดออกไซด์ที่ได้ขนาด 100 นาโนเมตร มีคุณสมบัติเป็นโฟโตคะตะลิสต์ ใกล้เคียงกับผงโฟโตคะตะลิสต์ทางการค้า
เมื่อนำผงอะนาเทสนาโนไททาเนียมที่เตรียมได้ไปผสมในสี พบว่าสูตรสีที่มีส่วนผสมของผงอะนาเทสนาโนไททาเนียมที่อัตราส่วน 30% โดยน้ำหนัก มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสีที่ผสมผงโฟโตคะตะลิสต์ทางการค้าที่อัตราส่วนเท่ากัน
นายศราวุธเผยถึงข้อดี ในการผสมผงอะนาเทสนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ลงในสีว่า จะช่วยให้สีที่ทาลงบนผนังหรือกำแพงทำความสะอาดตัวเองได้ ไม่เกิดการสะสมของสิ่งสกปรก เชื้อรา หรือมลพิษ เมื่อทาสีที่มีส่วนผสมของผงโฟโตคะตะลิสต์ที่เป็นนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ เมื่อไททาเนียมไดออกไซด์ได้รับแสง จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระไปจับกับสารอินทรีย์หรือฝุ่นละออง ทำให้กลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ และหลุดออกมา ทำให้ไม่เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกบนผนังหรือกำแพงดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังต้องพัฒนาต่อยอดให้ผงอะนาเทสนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ และสีที่ผสมผงดังกล่าวมีประสิทธิภาพและคุณสมบัติโฟโตคะตะลิสต์ดียิ่งกว่านี้ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกราว 2-3 ปี จึงจะนำมาใช้ในเชิงการค้าได้จริง ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าผงโฟโตคะตะลิสต์ที่นำเข้าอย่างแน่นอน