นักวิจัย วว. พัฒนาเครื่องสกัดน้ำผลไม้แยกกากประสิทธิภาพเยี่ยม ทัดเทียมของนอก มุ่งส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร ลดปัญหาผลไม้ล้นตลาด คาดอีก 6 เดือน ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนผลิตเชิงพาณิชน์ ลดการนำเข้าเครื่องจักรต่างประเทศ
นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์ นักวิชาการฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผย กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เขาวิจัยและพัฒนาเครื่องสกัดน้ำผลไม้เมื่อต้นปี 52 และประสบความสำเร็จเมื่อเร็วๆ นี้
นักวิจัยอธิบายว่าเครื่องสกัดน้ำผลไม้ดังกล่าวอาศัยหลักการรีดน้ำออกจากเนื้อผลไม้อย่างต่อเนื่อง โดยใส่ผลไม้ที่ปอกเปลือกแล้วลงในถังป้อนวัตถุดิบด้านบน จากนั้นใบกวาดวัตถุดิบจะกวาดเนื้อผลไม้ให้เบียดกับชุดตะแกรงกรองหยาบและกรองละเอียดเพื่อให้ได้น้ำออกมา ส่วนกากและเมล็ดที่เหลือจะถูกแยกออกไปอีกทางหนึ่ง ทำให้ได้น้ำผลไม้ที่ปราศจากกากและเมล็ด สำหรับนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อและใส่บรรจุภัณฑ์ต่อไป
"เครื่องสกัดน้ำผลไม้นี้สามารถใช้ได้กับผลไม้หลายชนิดที่มีลักษณะเนื้อนุ่ม เช่น ลองกอง องุ่น มะม่วง สับปะรด ลำไย ลิ้นจี่ มะเม่า และมะเขือเทศ เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิต 200-300 ลิตรต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้ และเหมาะสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการแปรรูปน้ำผลไม้" นายสัมพันธ์ กล่าว
จากการทดลองนำเครื่องสกัดน้ำผลไม้ไปใช้ทำน้ำลองกอง ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของการพัฒนาเครื่องดังกล่าว พบว่าน้ำลองกองที่ได้มีลักษณะที่ดี ไม่มีกากหรือเมล็กปะปนออกมา โดยทีมนักวิจัย วว. จะศึกษาคุณสมบัติน้ำลองกองและวิจัยการตลาดต่อไปในโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ลองกอง หนึ่งในโครงการแก้ปัญหาผลิตผลลองกองล้นตลาด
สำหรับเครื่องสกัดน้ำผลไม้ดังกล่าวทำจากสแตนเลสเป็นหลัก ส่วนใบกวาดเป็นยางซิลิโคน อายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี ทำความสะอาดง่าย สามารถปรับเปลี่ยนขนาดรูตะแกรง รอบและมุมของใบพัดให้เหมาะสมกับชนิดของผลไม้ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร และคาดว่าน่าจะผลิตเครื่องจำหน่ายหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนได้ในอีก 6 เดือน โดยมีต้นทุนการผลิตถูกกว่านำเข้า 2-3 เท่า และเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี