xs
xsm
sm
md
lg

GTZ ให้ความรู้ เทคนิคเลี้ยงกุ้งด้วยต้นทุนต่ำช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยให้ความรู้เทคนิคการเลี้ยงกุ้งด้วยต้นทุนต่ำ ลดต้นทุนการผลิต ช่วยเหลือผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งภาคใต้

ที่โรงแรม ซีเอส.ปัตตานี สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการเยอรมัน(GTZ) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดอบรมสัมมนา เรื่องเทคนิคการเลี้ยงกุ้งด้วยต้นทุนต่ำ พร้อมกับเยี่ยมชมบ่อเลี้ยงกุ้งและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของดำรงฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มตัวอย่างในการเลี้ยงกุ้งที่มีการทดลองปรับปรุงดินตามหลักการของ GTZ โดยมีผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งและเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วม

นายพิชชา วานิชผล รองผู้อำนวยการของกลุ่มงานบริการธุรกิจและการเงิน ฝ่ายโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ได้เริ่มเพาะเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา คือ มีความหนาแน่นของกุ้งต่อพื้นที่สูง ฟาร์มส่วนใหญ่ในภาคใต้จะอยู่ที่ จ.สงขลา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี และมีปริมาณการผลิตสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 45 จากฟาร์มทั่วประเทศ

ทั้งนี้การส่งออกกุ้งของไทย มีมูลค่าสูงกว่า 70,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.9 ของมูลค่าการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรทั้งประเทศ และยังเป็นแหล่งงานให้คนไทย ราว 1 ล้านคน โดยประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งสำคัญในการผลิตและส่งออก เนื่องจากสภาพดินในบ่อเลี้ยงกุ้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งสามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะเลี้ยงและผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ที่มีการพัฒนาด้านมาตรฐานและคุณภาพด้วยการเลี้ยงแบบชีววิธี ทำให้มีความหลากหลายของสินค้าซึ่งเป็นการส่งเสริมทางด้านการตลาด นอกจากนี้ยังได้เปรียบในเรื่องต้นทุนต่ำที่สุดอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านการผลิตกุ้งต่อไป จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มผลผลิต รวมทั้งฟื้นฟูบ่อเลี้ยงกุ้งที่ถูกทิ้งร้างให้มีสภาพเหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้ง เนื่องจากปัญหาสำคัญในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทย คือความเสี่ยมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องดิน เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่ให้ความสำคัญกับสภาพดินในบ่อกุ้งเท่าที่ควร ทำให้ผลผลิตลดลง และฟาร์มขนาดเล็กจำนวนมากต้องเลิกกิจการ ซึ่งคาดว่าภายใน 10-20 ปีข้างหน้าจะเหลือเพียงฟาร์มขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถดำเนินกิจการนี้ได้ ด้วยเหตุนี้สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการเยอรมัน(GTZ) จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งไทย

“ได้ทำการทดลองการปรับปรุงดินในบ่อเลี้ยงกุ้งโดยใช้หลักการปรับปรุงดิน 15 ขั้นตอน เพื่อสร้างห่วงโซ่อาหารให้แก่ลูกกุ้งที่มีอายุระหว่าง 45-55 วัน และปรับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงกุ้งให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต โดยกระบวนการนี้จะช่วยให้เพิ่มอัตราการอยู่รอดชีวิตของกุ้งและช่วยเพิ่มผลผลิตกุ้งต่อไร่และรายได้ของเกษตรกร การทอดลองนี้ได้มีฟาร์มกุ้งเข้าร่วม 11 ฟาร์ม โดย 6 ฟาร์มอยู่ภาคตะวันออก และอีก 5 ฟาร์มอยู่ภาคใต้ ปรากฏว่าอัตรารอดของกุ้งเพิ่มเป็น 47%”

กำลังโหลดความคิดเห็น