xs
xsm
sm
md
lg

วช. หนุนทำแผนธุรกิจดันงานวิจัยขึ้นห้าง แนะต่อยอดสิทธิบัตรเป็นทางลัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยกว่า 200 คน เข้าร่วมการประชุมการบริหารจัดการผลผลิตงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ โครงการ 2-V Research Program ประจำปี 2553 ที่จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อ 6 พ.ย. 52 และจะจัดขึ้นอีก 3 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องนำเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนสนับสนุน ตลอดจนนำผลงานเข้าร่วมแสดงในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2553
วช. เปิดแนวรุกใหม่ ทุ่มงบ 30 ล้านบาท หนุนโครงการทำแผนธุรกิจบริหารจัดการงานวิจัยให้เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์และสร้างคุณค่าสู่สังคม หวังดันงานผลงานวิจัยบนหิ้งขึ้นห้าง ชี้เทรนด์วิจัยแนวใหม่ เน้นสร้างโจทย์วิจัยจากผู้ต้องการใช้ประโยชน์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแนะต่อยอดสิทธิบัตร พัฒนานวัตกรรมใหม่ตามความต้องการของตลาด ช่วยประหยัดเวลาและลดการสูญเสียโอกาส

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เดินสายจัดการประชุมการบริหารจัดการผลผลิตงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ประจำปี 2553 (Research Result Management Forum : Road Show 2010) โดยเริ่มจัดครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 52 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ 2-วี รีเซิร์ช (2-V Reseach Program) ซึ่งเป็นกลยุทธใหม่ของ วช. ในการผลักดันงานวิจัยให้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในสังคม

นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลงานวิจัยและนำไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด โดยอาศัยความเชื่อมโยงของระบบวิจัย

"ที่ผ่านมามักมีคำถามเกิดขึ้นโดยตลอดว่าทำไมผลงานวิจัยจึงถูกนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้น้อย ซึ่งเป็นเพราะงบวิจัยของไทยมีอย่างจำกัด และขาดความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ ทำให้ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการของนักวิจัย แต่ไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนหรือชุมชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย"

"ฉะนั้นการประดิษฐ์คิดค้นหรือสร้างผลงานวิจัยใหม่ในอนาคต จึงควรจะเกิดขึ้นจากการสร้างโจทย์วิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ เกษตรกร หรือชุมชน เพื่อให้ได้งานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาดและใช้ประโยชน์ได้จริง" นางกาญจนา กล่าว

ล่าสุด วช. ได้จัดทำโครงการ 2-V Research Program เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการผลผลิตงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ โดยทำให้เกิดการสร้างมูลค่า (Value added) หรือสร้างคุณค่า (Value creation) ให้แก่ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงพาณิชย์ หรือช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สังคม และเพื่อลดข้อจำกัดของงบประมาณสนับสนุนการวิจัยของประเทศ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัย ผู้ใช้ประโยชน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการให้ทุนสนับสนุนการทำแผนธุรกิจในการนำผลงานวิจัยมาทำให้เกิดมูลค่าหรือคุณค่าเพิ่มทั้งใช้เชิงพาณิชย์และเชิงสร้างสรรค์สังคม โดยเปิดโอกาสให้เจ้าของผลงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์รวมกลุ่มกับผู้ประกอบการหรือกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ เขียนแผนธุรกิจขอรับทุนสนับสนุนโครงการ ซึ่งในปี 2553 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินโครงการ วช. ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการนี้จำนวน 30 ล้านบาท

"2-V Research Program จะเน้นให้การสนับสนุนแก่ผลงานวิจัยที่เห็นผลสำเร็จบ้างแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์หรือชุมชนได้จริง ซึ่งอาจเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานวิจัยที่เป็นชิ้นเป็นอัน หรืออาจเป็นแนวคิดในกระบวนการจัดการก็ได้ เช่น แนวคิดทางด้านการเรียนการสอน ซึ่งสามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านการศึกษาได้ โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครข้อเสนอโครงการประมาณเดือน ธ.ค. 52 ถึง ม.ค. 53" นางกาญจนา เผยรายละเอียดโดยบอกว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดจำนวนโครงการที่จะให้การสนับสนุน แต่จะพิจารณาโครงการที่มีศักยภาพและตรงกับวัตถุประสงค์ของ 2-V Research Program

ด้าน น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อมูลว่า จากการจัดอันดับศักยภาพในเวทีโลกโดยไอเอ็มดี (IMD) จำนวน 55 ประเทศ อาทิ สหรัฐฯ เกาหลี อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ปรากฏว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 26 และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยอยู่ในอันดับที่ 50 (0.26% ของจีดีพี) ขณะที่อันดับ 1, 2 และ 3 เป็นของสหรัฐฯ, ฮ่องกง และสิงคโปร์ ตามลำดับ

"ประเทศไทยอยู่ในโลกที่มีการแข็งขันทางด้านธุรกิจ จึงต้องพัฒนาประเทศให้มีศักภาพที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกจึงจะอยู่ได้ ซึ่งงานวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ รวมทั้งการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ เหล่านี้จะช่วยให้ไทยแข่งขันกับนานาประเทศได้" น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อเสนอแนะว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าเพิ่มได้ จะต้องเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งการคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์หรือเริ่มต้นคิดค้นเองแต่แรก แต่สามารถต่อยอดจากทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่แล้วจำนวนมากได้ โดยสืบค้นจากฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาว่ามีสิ่งมีผู้คิดค้นไว้แล้วบ้าง และสิ่งใดสามารถนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเวลาเนื่องจากการเริ่มต้นคิดค้นใหม่ตั้งแต่ต้นแต่ผลงานไปซ้ำซ้อนกับผู้อื่นที่เคยยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้ว หรือเสียโอกาสที่ควรจะได้ รวมทั้งผลงานที่สิทธิบัตรหมดอายุแล้วก็สามารถนำมาต่อยอดได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิบัตร และควรขอรับการคุ้มครองทันที่เมื่อคิดค้นต่อยอดได้สิ่งใหม่
นางกาญจนา ปานข่อยงาม
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์
กำลังโหลดความคิดเห็น