xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมันกำนัลระบบลำเลียงแสงให้ไทย สซ. มุ่งวิจัยยาง-โครงสร้างอะตอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ (ซ้าย) จับมือกับ ศ.ดร.โจเซฟ ฮอร์เมส เป็นการแสดงความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดี ภายหลังการลงนามรับมอบระบบลำเลียงแสงจากห้องปฎิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (กลาง) ร่วมในพิธีด้วย (ภาพโดย สซ./วท.)
มหาวิทยาลัยในเยอรมนีใจดี บริจาคระบบลำเลียงแสงให้ไทยใช้ 2 ระบบ หวังกระชับมิตรร่วมวิจัยระยะยาว นักวิจัย สซ. เผย ช่วยสถาบันประหยัดงบได้ 30 ล้านบาท แต่ทำให้งานวิจัยเดินหน้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เล็งวิจัยปรับปรุงคุณภาพยางเป็นหลัก ควบคู่ศึกษาโครงสร้างอะตอมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) จัดพิธีลงนามและรับมอบระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนจากห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อวันที่ 28 ต.ค.52 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสยามซิตี้ โดยมี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ (วท.) และ ศ.ดร.โจเซฟ ฮอร์เมส (Prof. Dr. Josef Hormes) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยบอนน์ ร่วมลงนาม

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ กรรมการบริหาร สซ. ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ สซ. กล่าวว่า เยอรมนีเป็นประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในระดับแนวหน้าของโลก และเป็นประเทศที่มีห้องปฏิบัติการแสงซินโครตรอนอยู่หลายแห่ง ซึ่งการรับมอบระบบลำเลียงแสงในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนระหว่างสถาบันของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ศ.ฮอร์เมส ได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนให้แก่ สซ. ตั้งแต่ปี 2547 โดยได้แนะนำและสนับสนุนให้มีการนำเอาเทคนิคสเปกโครสโคปีของการดูกลืนรังสีเอกซ์ หรือเอกซ์เอเอส (X-ray absorption spectroscopy: XAS) มาใช้ในงานวิจัยหลากหลายสาขา เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา การตรวจวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อสืบหาการปนเปื้อนในงานด้านสิ่งแวดล้อม การดูดซับโลหะหนักโดยพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

กระทั่งในปี 2549 สซ. จึงเริ่มเปิดให้บริการสถานี XAS อย่างเป็นทางการ และปัจจุบันระบบลำเลียงแสงดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มผู้ใช้ในประเทศเป็นอย่างมากทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ และยังเป็นที่ต้องการของผู้ใช้อีกจำนวนมากด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการหัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สซ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระบบลำเลียงแสงที่ สซ. ได้รับมอบจาก มหาวิทยาลัยบอนน์ มีจำนวน 2 ระบบ ประกอบด้วย ระบบลำเลียงแสงเอ็นไอเอ็ม (Normal incidence monochromator beamline: NIM beamline) เป็นระบบลำเลียงแสงพร้อมใช้งานทั้งระบบ โดยอุปกรณ์หลักทั้งหมดของระบบลำเลียงแสง ได้แก่ ชิ้นส่วนเชิงแสง และระบบชิ้นส่วนสุญญากาศ โดยระบบลำเลียงแสงดังกล่าวสามารถนำแสงจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนในช่วงพลังงานประมาณ 5-35 อิเล็กตรอนโวลต์ (eV) ซึ่งจะช่วยเพิ่มสเปกตรัมการใช้ประโยชน์ของเครื่องแสงสยามให้กว้างขึ้น เพราะปัจจุบัน สซ. ยังไม่มีระบบลำเลียงแสงในช่วงพลังงานดังกล่าว

ส่วนอีกระบบคือ ระบบลำเลียงแสง เอกซ์เรย์ อีดีเอ็ม (X-ray Energy dispersive monochromator beamline: X-ray EDM beamline) เป็นระบบลำเลียงแสงที่ใช้โมโนโครเมเตอร์สำหรับย่านรังสีเอกซ์ โดยโมโนโครเมเตอร์ที่ใช้นั้นแตกต่างจากโมโนโครเมเตอร์ที่สถาบันมีอยู่แล้ว คือ DCM และ DMM โดย EDM จะใช้แสงเป็นช่วงพลังงานทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ทำให้การวัดสเปกตรัมสามารถทำได้ในเรือนหลักร้อยมิลลิวินาที เพราะสามารถวัดสเปกตรัมทั้งหมดได้ในเวลาพร้อมกัน ขณะที่โมโนโครเมเตอร์ที่สถาบันมีอยู่นั้นจะวัดได้ทีละสเปกตรัม

ผศ.ดร.ประยูร บอกกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์อีกว่า สซ. จะนำระบบลำเลียงแสง NIM ไปติดตั้งที่บีมไลน์ 8 ส่วนระบบลำเลียงแสง X-ray EDM จะติดตั้งที่บีมไลน์ 4 ซึ่ง สซ. จะใช้ประโยชน์ระบบลำเลียงแสงเหล่านี้ทั้งงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ โดยมุ่งเน้นที่การวิจัยปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ยางพารา การวิเคราะห์โครงสร้างยาและโปรตีน และศึกษาโครงสร้างอะตอมของตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเป็นหลัก รวมทั้งงานวิจัยด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อมด้วย

"ระบบลำเลียงแสงทั้ง 2 ระบบนี้มีมูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท หากสถาต้องดำเนินการสร้างระบบเอง แต่การได้รับบริจาคครั้งนี้สถาบันเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะการรื้อถอนและขนส่งเท่านั้น แต่จะช่วยจำนวนผู้ใช้และขอบเขตการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนของสถาบันให้กว้างขึ้น ทำให้การดำเนินงานของนักวิจัยไทยเป็นไปได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก" รักษาการหัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สซ. เผย

ด้าน ศ.ฮอร์เมส กล่าวว่า จากการที่เขาได้เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติของ สซ. ทำให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของ สซ. มีพลังและความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง และกำลังอยู่ระหว่างสร้างระบบลำเลียงแสงเพื่อใช้สำหรับการวิจัยแก้ปัญหาให้ประเทศ และเขาหวังว่าระบบลำเลียงแสงทั้ง 2 ระบบ ที่มอบให้ประเทศไทย จะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จในอนาคตของ สซ. และหวังว่าจะมีความร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จต่อไปอีกยาวนาน

ทั้งนี้ สซ. มีสถานีทดลองทั้งหมด 8 สถานี โดยแต่ละสถานีสามารถติดตั้งระบบลำเลียงแสงได้ 3 ระบบ ปัจจุบันมี 3 สถานีที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ สถานีบีมไลน์ 4, 6 และ 8

อีกทั้ง เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สซ. เพิ่งเริ่มทดสอบสถานีบีมไลน์ 2 ในระยะเบื้องต้น ซึ่งการทดสอบผ่านไปได้ด้วยดี โดยบีมไลน์ 2 เป็นสถานีที่ 4 ที่สร้างด้วยงบประมาณ 22 ล้านบาท เป็นสถานีที่ให้บริการด้านการกระเจิงรังสีเอกซ์ (X-ray Scattering) ซึ่งใช้ประโยชน์ในด้านการถ่ายภาพรังสีเอกซ์ (X-ray Imaging) สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลายด้าน เช่น ศึกษาโครงสร้างภายในของวัสดุ สร้างภาพสามมิติของวัสดุนั้นๆ รวมทั้งใช้ในการศึกษาทางด้านโบราณคดีด้วย คาดว่าอีกไม่นานก็จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้
ศ.ดร.โจเซฟ ฮอร์เมส มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการวิจัยและใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 47 (ภาพโดย สซ./วท.)
ศ.ดร.โจเซฟ ฮอร์เมส กับระบบลำเลียงที่เขาเคยใช้ทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ปัจจุบันมอบให้ประเทศไทยนำมาใช้ประโยชน์ต่อ (ภาพโดย สซ./วท.)
กำลังโหลดความคิดเห็น