หลายคนกำลังคึกคักเตรียมต้อนรับ “ฮาโลวีน” เทศกาลปล่อยผีที่มากันทุกๆ วันสุดท้ายของเดือนตุลาคม พร้อมกับกระแส “หนังผี” ที่มาทีไรผู้คนก็ให้ความสนใจอย่างล้นหลามล้นโรง หลายคนดูแล้วดูอีก ขนาดที่อีกหลายๆ คนขอโบกมือลา อยู่ห่างๆ ดีกว่า
ทำไมต้องกลัว
เมื่อเราถูกทำให้หวาดกลัว หัวใจที่เต้นเร็วขึ้น ลมหายใจที่ถี่แรง กล้ามเนื้อเริ่มเขม็งตึง ส่งสัญญาณให้ร่างกายกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจว่า "สู้หรือหนี” นี่คือวิถีโดยธรรมชาติ ในการป้องกันตัวเอง
ถ้าเราไม่กลัวอะไร หาใช่ผลดี เพราะเราอาจจะเดินข้ามถนนแบบไม่หวั่นรถรา หรือเผชิญกับสิงสาราสัตว์ที่เป็นอันตรายโดยไม่รู้จักป้องกันตัวเอง หรืออาจจะเข้าใกล้คนเป็นโรคระบาดโดยไม่รู้จักป้องกัน
กลไกแห่งความกลัวนี้ มีทั้งในคนและสัตว์ทุกชนิด ความกลัวช่วยยืดอายุเราให้ยาวนาน เป็นพัฒนาการที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ
ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักชีววิทยาผู้ก่อกำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการ พูดถึงความกลัวไว้ว่า ความกลัวจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่ได้รับรู้ว่าสิ่งนั้นน่ากลัว ซึ่งความกลัวเพื่อความอยู่รอดส่วนใหญ่ เป็นสัญชาติญาณที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมา
ปัจจุบัน เราคงไม่คุ้นเคยที่จะเลือกสู้หรือหนีหากต้องใช้ชีวิตในป่าใหญ่ เพราะเราล้วนใช้ชีวิตอยู่กันตามเมืองและท้องถนน ตัวกระตุ้นให้เกิดความกลัวจึงเปลี่ยนไป แม้แต่หนูตัวน้อย ที่อาจทำให้หัวใจใครบางคนเต้นจังหวะตุ๊มๆ ต่อมๆ
สำหรับมนุษย์แล้ว ยังมีความกลัวที่นอกเหนือจากสัญชาตญาณ เป็นพรสวรรค์ที่น่าสนใจ
เราสามารถกลัวโดยไม่แน่ใจว่ามันเกิดขึ้นจริง และไม่เคยสัมผัสกับมันจริงๆ แต่ความกลัวก็เกิดขึ้นได้จากการฟังหรืออ่านมา และแม้ได้ดูผ่านโทรทัศน์หรือภาพยนตร์
พวกเราส่วนใหญ่อาจไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เครื่องบินตก แต่เมื่อถึงเวลาต้องใช้ยานพาหนะดังกล่าว บางคนหวั่นวิตกเพียงเล็กน้อย ขอที่พึ่งทางใจนิดหน่อยอย่างเครื่องรางต่างๆ ขณะที่บางคนกลัวจนถึงขั้นไม่กล้าขึ้นเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ
เมื่อฝนตกเรามักจะหาที่หลบ ไม่อยู่ท่ามกลางสายฝนโดยตรง นั่นก็เพราะเกรงกลัวสายฟ้าฟาด นี่นับเป็นความกลัวเพื่อป้องกันตัวเองออกจากอันตราย แม้อาจจะยังไม่เคยประสบมาก่อนก็ตาม
อาการ "กลัว” หรือขวัญผวากับสิ่งต่างๆ รอบตัว เป็นกลไกลที่ช่วยชีวิต แต่ความกลัวบางอย่างดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญของคนเราโดยเฉพาะอาการ "กลัวอย่างไร้เหตุผล”
ปฏิบัติการย้อนความกลัว
อาการกลัวแบบไร้เหตุผล กลัวแบบจิตประสาท หรือ “โฟเบีย” เป็นภัยต่อสุขภาพจิตและสุขภาพของมนุษย์ ที่จิตแพทย์พยายามหาวิธีรักษาแบบให้ตรงจุดกันมานานแล้ว เช่น เด็กหลายคนกลัวความมืดแต่พอโตขึ้นพวกเขาก็จะเลิกกลัว หรืออาจจะมีแต่น้อยลง แต่บางคนก็ไม่มีทีท่าว่าจะหายไป
ทีมงานของ ดร.อลิซาเบธ เฟลปส์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ใช้การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ เพื่อค้นหากลไกในการเลิกกลัว โดยได้ให้อาสาสมัครดูภาพสี่เหลี่ยมจตุรัสที่ระบายสีไว้ พร้อมทั้งช็อตด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ จนทำให้เกิดสภาวะกลัว เหมือนกับโฟเบีย
เมื่ออาสาสมัครมองภาพสี่เหลี่ยมที่ระบายสีครั้งต่อๆ ไปจะทำให้เกิดอาการกลัวๆ และรู้สึกไม่สบายใจ จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ทำให้เลิกกลัว ด้วยการย้อนคืนเหตุการณ์ คือ ให้อาสาสมัครดูภาพสีเหลี่ยมชุดเดิมพร้อมทั้งช็อตกระแสไฟเข้าไปอีกรอบ ในปริมาณเท่าเดิม และค่อยลดๆ ลงจนไม่มีกระแสไฟช็อต ก็จะทำให้อาการกลัวภาพนั้นหายไป
ต่อมลบความกลัว
เมื่อดูผลจากการสแกนสมองของอาสาสมัครขณะถูกกระตุ้นให้กลัวจนหายกระทั่งหายกลัวแล้วพบว่า ตำแหน่งของ "อะมิกดาลา” นั้นทำงาน ขณะที่กำลังบันทึกความกลัวเข้าสู่หัวสมอง และทำงานอีกเมื่ออาสาสมัครคลายความกลัวของพวกเขาลงไป พร้อมกับสมองอีกส่วนหนึ่ง
"อะมิกดาลา” เป็นพื้นที่ขนาดเท่าเมล็ดอัลมอนด์ ฝังอยู่บริเวณซีรีบรัม (ประสาทส่วนกลาง) โดยเชื่อมต่อกับไฮโปธารามัส ที่ช่วยพวกเรา ลบ "ความกลัว” ที่มีอยู่ออกไปได้
สมองตรงอะมิกดาลาทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมเหตุผลและอารมณ์
เมื่อเรารู้สึกโกรธหรือกลัวในเรื่องต่างๆ ประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นศูนย์หลั่งสารยับยั้งต่างๆ จะวิเคราะห์และวางแผน
ขณะที่อะมิกดาลาเป็นสารที่ทำให้มนุษย์เกิดการตัดสินใจแบบเฉียบพลัน และจะส่งผลอย่างยิ่งยวดในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเอาชีวิตรอดของมนุษย์
เช่น ถ้ามนุษย์เห็นสิงโตกำลังใกล้เข้ามา อะมิกดาลาจะทำหน้าที่เป็นกลไกส่งสัญญาณตัดสินใจว่าจะต่อสู้หรือถอยหนี ก่อนที่ประสาทส่วนกลางจะตอบสนอง
ถ้าอะมิกดาลาเกิดความบกพร่องก็จะทำให้เราเผชิญกับอันตราย เมื่อต้องการใช้การตัดสินใจแบบเฉียบพลัน
ที่สำคัญการค้นพบกลไกของ "อะมิกดาลา” ช่วยทุ่นแรงให้บรรดาหมอๆ ที่จะพยายามควบคุมอาการกลัวที่กลายเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของคนไข้ได้
"อย่างเช่น คนทั่วไปกลัวเสือ แต่เมื่อไปดูเสือในสวนสัตว์ เราก็จะไม่กลัวมัน สิ่งนี้เป็นคำตอบว่า ร่างกายของเราจัดการกับความกลัวได้” ดร.เฟลปส์อธิบาย
เสพสุขจากการเขย่าขวัญ
เพราะเราสามารถจัดการกับความกลัวได้ การชมภาพยนตร์สยองขวัญ หรือเผชิญกับกิจกรรมที่สุดจะท้าทายจึงเป็นเรื่องง่ายๆ ของหลายๆ คน เพราะจะทำให้ได้ความตื่นเต้นแถมกลับมา โดยความรู้สึกดังกล่าวจะไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการตอบสนองแบบสู้หรือถอย
ทว่า สำหรับเด็กๆ แล้ว อาจจะยังประเมินไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำอันตรายไม่ได้จริง จึงทำให้เกิดความกลัวจริงๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเด็กจะเกาะพ่อแม่แน่นและร้องไห้
ขณะเดียวกันผู้ใหญ่บางคนก็อาจเกิดอาการกลัวจริงๆ ในตอนแรก ถึงกับกรี๊ดออกมา แล้วจากนั้นก็จะหัวเราะอย่างมีความสุข เพราะได้รับรู้แล้วว่าไม่ใช่สิ่งอันตราย
เมื่อสิ่งอันตรายไม่สามารถทำร้ายเราได้จริง สารอะดรีนาลีนที่หลั่งออกมา เพื่อสร้างความพร้อมให้ร่างกายรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องเอาตัวรอด ก็เพิ่มพลังให้ร่างกาย กลายเป็นการสร้างความสุข จึงทำให้เราเกิดความเพลิดเพลิน บ้างเพลิดเพลินถึงขนาดส่งผลให้มีความสุขทางเพศไปได้อีกด้วย
ความกลัวก่อให้เกิดความสุขทางเพศนี้ นักจิตวิทยารายหนึ่งได้พยายามหาคำตอบด้วยการทดลองให้ชายหนุ่มได้เดินข้ามสะพานที่สูงประมาณนับร้อยเมตร มีทั้งกลุ่มที่เดินแบบมั่นคงและสะพายสั่นไหว โดยเมื่อเดินถึงปลายทาง หนุ่มๆ เหล่านั้นจะได้พบผู้ช่วยสาวแสนสวย ที่รอแจกเบอร์โทรให้หนุ่มๆ เหล่านั้น
ผลปรากฎว่าผู้ชาย 9 คนในจำนวน 33 คนที่เดินบนสะพานหวาดเสียวโทรหาผู้ช่วยสาว ขณะที่อีกกลุ่มมีเพียง 2 คนที่โทรหาเธอ และเมื่อรวมกับผลการศึกษาด้านอื่นๆ ก็ทำให้นักจิตวิทยารายนี้สรุปได้ว่า ความกลัวกระตุ้นอารมณ์เพศไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจที่คู่รักหลายคู่จะจูงมือกันไปดูหนังผี หรือ เล่นรถไฟเหาะตีลังกา
ปรากฎการณ์เหล่านี้จึงสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมผู้คนถึงชอบทำกิจกรรมโลดโผนทั้งพวกกีฬาสุดขั้วต่างๆ รวมทั้งที่หนังผีขายดีนั่นก็เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า อันตรายเหล่านั้นทำอะไรไม่ได้
นับเป็นการเสพสุขในรูปแบบหนึ่ง
อเมริกันกลัวอะไรกัน
แกลลัปโพลล์ได้เคยสำรวจ 10 อันดับความกลัวของวัยรุ่นชาวอเมริกัน ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่ และไม่ต้องการให้เกิด โดยมีความรุนแรงตามลำดับ คือ
1. ก่อการร้าย
2. แมงมุม
3. ความตาย
4. ความผิดหวัง
5. สงคราม
6. ความสูง
7. อาชญากรรมและความรุนแรง
8. ความโดดเดี่ยว
9. อนาคต
10. สงครามนิวเคลียร์
(เรียบเรียงข้อมูลจาก livescience.com, howstuffworks.com และ manager.co.th)