xs
xsm
sm
md
lg

สดร.ชวนคนไทยชม "ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์" 21 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สดร. ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทั่วประเทศชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionid Meteors shower) หรือ "ฝนดาวตกนายพราน" ซึ่งเป็นฝนดาวตกประจำเดือน ต.ค. สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในคืนวันพุธที่ 21 ต.ค.52 นี้ช่วงเวลาสังเกตตั้งแต่ 22.00 น. ถึงเช้ามืดของวันใหม่

ฝนดาวตกนายพรานนี้ เป็นฝนดาวตกประจำเดือน ต.ค. ที่น่าสนใจอันหนึ่ง ซึ่งฝนดาวตก (Meteor Shower) ก็คือ ดาวตกหลายดวง ที่ดูเหมือนจะพุ่งออกมาจากบริเวณเดียวกันในท้องฟ้า ซึ่งเรียกว่าจุดกระจาย (radiant) ในช่วงเวลาเดียวกันของปี

ฝนดาวตกโอไรโอนิดนี้ ก็จะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 20-22 ต.ค.ของทุกปี โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดเฉลี่ย 20 ดวงต่อชั่วโมง และมีจุดกระจายออกมาจากบริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ใกล้กับดาวเบเทลจูส (Betelgeuse) โดยกลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 22.00 น. ดังนั้นจึงมีช่วงเวลาสังเกตตั้งแต่ 22.00 น. ถึงเช้ามืดของวันใหม่

ฝนดาวตกโอไรโอนิดเกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในกลุ่มของเศษชิ้นส่วนของดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ที่หลงเหลือจากการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 2 ต.ค. ถึง 7 พ.ย. ของทุกปี เศษชิ้นส่วนที่ว่านี้เป็นก้อนอุกกาบาตขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้เข้ามาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงเกิดการลุกไหม้ เราจึงเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากบริเวณกลุ่มดาวนายพราน

ทั้งนี้ สดร.แนะนำว่า การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ มองด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก ซึ่งกลุ่มดาวนี้ จะมีดาวสามดวงอยู่ตรงกลางหรือเข็มขัดนายพราน

การสังเกตฝนดาวตกนั้น ไม่ควรมองไปที่จุดกระจายของฝนดาวตก แต่ควรมองห่างออกมา โดยเฉพาะในคืนวันที่ 21 ต.ค. ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอัตราการเกิดดาวตกสูงที่สุดในปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งวันที่ 20-22 ต.ค.นี้เป็นช่วงวันที่เป็นเสี้ยวข้างแรม ปราศจากแสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกต



กำลังโหลดความคิดเห็น