"ชาร์ลส เกา" สนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลเชื้อสายจีน อาจไม่สามารถขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษตามธรรมเนียมโนเบล เพราะมีปัญหาเรื่องการพูด หลังเพิ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์สเมื่อต้นปี แต่จะไปร่วมในพิธีมอบรางวัลด้วย ด้านเพื่อนนักฟิสิกส์ตั้งคำถามกลับ ทำไมถึงเพิ่งมาให้รางวัลป่านนี้ ทั้งที่ใช้ใยแก้วนำแสงกันทั่วโลกตั้งแต่ยุค 80
ชาร์ลส เกา (Charles Kao) นักวิจัยจีนสัญชาติสหรัฐฯ วัย 75 ปี อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยจีน ในฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ผู้บุกเบิกการสื่อสารด้วยแสงผ่านไฟเบอร์ออพติค และหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2009 ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ส อาจขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษตามธรรมเนียมของผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลไม่ได้
เกาได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ภาษาจีน KTSF 26 ในซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาว่า เขารู้สึกมีความสุขที่ได้รับรางวัล แต่ขณะนี้ตัวเองประสบปัญหาในการพูด โดยยากที่จะเอื้อนเอ่ยออกมาได้ดั่งใจ
"ผมรู้ตัวเองว่าไม่สบาย แค่จะพูดออกไปตามที่ใจต้องการก็ยากเหลือเกิน" เกาให้สัมภาษณ์ และเผยว่าเขาได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ส เมื่อช่วงต้นปีนี้เอง ซึ่งขณะนี้เขาพักรักษาตัวอยู่ในเมืองเมาเทนวิว ใกล้กับซานฟรานซิสโก พร้อมกับหว่อง เมย์-วาน (Wong May-wan) ภรรยา
ทั้งนี้ ภรรยาของเกาได้ให้สัมภาษณ์ต่อแทนสามีว่า เกาตั้งใจจะไปรับรางวัลที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ด้วย แต่คงจะไม่สามารถขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษได้ อันเป็นธรรมเนียมของการรับรางวัลโนเบล ที่ผู้ได้รับรางวัลจะขึ้นอธิบายงานของตัวเอง
อย่างไรก็ดี ภรรยาของเกาได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่สามีของเธอเป็นโรคนี้ อาการอัลไซเมอร์ ได้ทำให้ความจำต่างๆ จางหายไปอย่างรวดเร็ว มีเพียงแต่ร่างกายที่ยังดูแข็งแรง เกายังดูแลตัวเองได้ และออกไปเล่นเทนนิสกับเธอได้เช่นเดิม
"มีเพียงฉันคนเดียวที่รู้ว่าเขาเปลี่ยนไป โรคร้ายทำให้เขาไม่เหมือนเดิม ฉันร้องไห้อยู่บ่อยครั้ง" ภรรยาของเกาเผย
ทางด้าน ศาสตราจารย์แอมบรอส คิง (Professor Ambrose King) อดีตรองอธิการบดีอีกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเดียวกันกับเกา เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ของจีนฉบับหนึ่งว่า ภรรยาของเกาบอกว่า เกาไม่สามารถพูดได้ดีมากนัก และบางทียังอาจพูดให้เป็นประโยคที่สมบูรณ์ไม่ได้ด้วยซ้ำ ซึ่งมันคงจะดีกว่านี้แน่ หากเขาได้รับรางวัลนี้เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สายเกินไปนักสำหรับเขาที่ได้รับรางวัลในปีนี้
ด้าน จาง นิม-กวาน (Cheung Nim-kwan) ผู้บริหารสูงสุดของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประยุกต์ ฮ่องกง (Hong Kong Applied Science and Technology Research Institute) และเพื่อนนักฟิสิกส์ของเกา รวมทั้ง หยาง เฉิน-หนิง (Yang Chen-ning) ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ในปี 1957 ตั้งคำถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงมอบรางวัลให้กับเกาช้ามากนัก
"การสื่อสารผ่านเส้นใยแก้วนำแสง ได้นำไปใช้ประโยชน์ในระดับโลกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 แล้ว ที่จริงความสำเร็จของเกา ควรจะได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าเร็วกว่านี้ด้วยซ้ำ" จางเพื่อนนักฟิสิกส์ของเกาเผย
ทั้งนี้ เกาถือเป็นผู้ที่บุกเบิกการส่งสัญญาณแสง ผ่านเส้นใยแก้วเพื่อนำส่งข้อมูลในปริมาณมากและรวดเร็วกว่าการส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านลวดทองแดง โดยเริ่มศึกษาวิจัยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 60 และนำไปสู่การปฏิวัติทางการสื่อสารเข้าสู่ยุคไซเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกาได้รับยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งการสื่อสารผ่านใยแก้วนำแสง" (Father of Fiber Optic Communications)