xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชีวิต "คุณหมอ" เคลียร์ใจปัญหาคนไข้ฟ้องร้องอยู่ที่การสื่อสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ (ซ้ายกลาง) นายภัทร วรวุทธินนท์ (ขวากลาง) นักศึกษาแพทย์
เปิดชีวิต "คุณหมอ" เคลียร์ใจปัญหาคนไข้ฟ้องร้อง ชี้ปัญหาเกิดจากการสื่อสารระหว่างผู้รักษาและผู้ป่วย แนะต้องคุยกันให้เข้าใจกัน แพทย์ต้องรักษาอย่างสุดฝีมือและเอื้ออาทรณ์ต่อคนไข้ แจงปัญหาที่เกิดเป็นเพียงส่วนน้อย แทย์ยังรักคนไข้และอยากรักษาให้หาย

เวที "คุยกัน...ฉันวิทย์" สัญจรกันไปคุยเรื่อง "ชีวิตคุณหมอ" ณ ศูนย์การค้าเซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 4 ต.ค.52 โดยมี นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จ.นครปฐม และบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ด้านจักษุวิทยา) ประจำปี 2551 พร้อมนายภัทร วรวุทธินนท์ นักศึกษาแพทย์ปี 5 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้รับรางวัลการประกวดบทเพลงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับวิชาชีพแพทย์

ภัทรบอกว่าอยากเป็นหมอ เพราะเคยป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลแล้วได้รับการรักษาจนหาย และรู้สึกมีความสุขและอยากรักษาคนอื่นให้หายบ้าง ซึ่งจุดนี้นายแพทย์ปานเนตรได้เสริมว่า เมื่อแพทย์รักษาคนไข้คนหายและมีรอยยิ้มก็จะมีความสุขไปด้วย

"ปัจจุบันก่อนเลือกเรียนแพทย์ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เห็นภาพการทำงานของแพทย์ ได้เจอคนไข้ ดูว่าไหวไหม ต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่มี บางคนเรียนแพทย์จบแล้วพบว่าไม่เหมาะกับตัวเอง ก็ไม่ทำอาชีพแพทย์ ดังนั้นต้องถามตัวเองก่อนเรียน เพราะการทำงานเพื่อคนไข้ ช่วยเหลือเขานั้นต้องทุ่มเทพอสมควร" นพ.ปานเนตรกล่าว

นอกจากเรียนเก่งแล้ว ในการเรียนแพทย์ นพ.ปานเนตรระบุกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีวินัย ตรงต่อเวลา ขยันอดทน ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และต้องเป็นคนช่างสังเกต กล้าคิด เพื่อนำไปใช้ในการเรียนและทำงานให้สำเร็จ อีกทั้งยังต้องซื่อสัตย์สุจริต รักเพื่อนมนุษย์ เอื้ออาทรณ์ต่อเพื่อนมนุษย์และรู้จักแบ่งปัน

ในส่วนวิชาการ หลายคนอาจมองว่าจะเป็นแพทย์ต้องให้ความสำคัญเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับ นพ.ปานเนตรแล้ว วิชาศิลปะก็มีความสำคัญ อย่างการผ่าตัดนั้นต้องใช้ความสามารถทางศิลป์ในการเย็บแผล และเมื่อต้องผ่าตัดเขาจะนึกว่ากำลังทำงานด้านศิลปะอยู่ ร่วมทั้งความรู้ความสามารถทางด้านวิศวกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ให้ดีขึ้น

ขณะที่ภัทรให้ความเห็นว่า การเรียนทางด้านภาษาก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะภาษาถิ่นภาคเหนือ อีสาน ใต้ ซึ่งหากแพทย์พูดภาษาถิ่นเหล่านี้ได้ คนไข้จะดีใจมากและพร้อมจะเล่าอาการทุกอย่าง และ นพ.ปานเนตรได้เสริมว่า เมื่อครั้งไปรักษาผู้ป่วยในภาคใต้คนไข้จะพูดภาษายาวี แพทย์จึงต้องรู้คำศัพท์ภาษายาวีที่จะคุยกับคนไข้

โดยอาชีพที่ต้องดูแลสุขภาพของคนอื่น แต่เรื่องการดูแลสุขภาพตนเองแล้ว นพ.ปานเนตรบอกว่า กลุ่มวิชาชีพพยาบาลและแพทย์เป็นกลุ่มที่ดูแลตัวเองน้อยสุด ส่วนหนึ่งเพราะไม่ค่อยมีเวลา อย่างการออกกำลังกาย แม้จะทราบว่าดีต่อสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่มีเวลาออกกำลังกาย และส่วนหนึ่งก็คิดว่าเข้าใจโรคต่างๆ ดีอยู่แล้ว จนปล่อยปละละเลยแล้วลุกลามใหญ่โต สำหรับตัวเขาเองจะออกกำลังกายโดยซ่อมแซมบ้าน ตัดแต่งต้นไม้ และเดินวันละ 20-30 นาที

สำหรับอุปสรรคในการทำงานของ นพ.ปานเนตรตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้น เขาเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ในโรงพยาบาลของรัฐนั้นมีจำนวนผู้ป่วยมาก อยู่ในสภาพแออัดและต้องรอนาน ซึ่งส่วนตัวก็อยากให้ผู้ป่วยรอน้อยที่สุด ได้รับการตรวจโดยเร็วที่สุด

"อยากทำให้คนไข้มีความสะดวกมากขึ้น แต่มีคนไข้มากจริงๆ ระยะหลังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การจัดหาเครื่องมือแพทย์และสร้างอาคารรองรับผู้ป่วยก็ทำได้น้อยลง และอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องไปร่วมประชุมวิชาการที่ต่างประเทศเพื่อหาความรู้ใหม่ๆ แต่ไม่มีทุนให้" นพ.ปานเนตรกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องจากคนไข้ให้เห็นมากขึ้น ตรงจุดนี้ นพ.ปานเนตรกล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับที่รักษาคนไข้แล้วหาย คนไข้มีความสุข จะพบว่าปัญหาดังกล่าวมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันข่าวสารเร็วมาก กระจายไปได้เร็ว ทำให้ภาพลักษณ์ของแพทย์เสียไปบ้าง แต่โดยรวมความตั้งใจในการดูแลคนไข้ไม่เปลี่ยนไปจากเดิม

“ที่เป็น "แกะดำ" ก็อาจจะมีบ้าง แต่ไม่มากกว่าส่วนอื่น และความคาดหวังเป็นอีกประเด็นของปัญหา การรักษาพยาบาลบางโรครักษาไม่หาย บางครั้งการรักษาเกิดผลข้างเคียง แต่มีความหวังทำให้ไม่ยอมรับผลที่เกิดขึ้น ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการสื่อสาร เราต้องสื่อสารกับคนไข้ให้ดีว่ามีโอกาสเกิดปัญหา แต่ความพยายามช่วยผู้ป่วยด้วยความเอื้ออาทรณ์ก็จะลดความขัดแย้งลงได้" นพ.ปานเนตรกล่าว

อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องแพทย์ก็ส่งผลกระทบต่อวงการแพทย์อยู่บ้าง ซึ่งผู้อำนวยการ รพ.วัดไร่ขิงให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันไม่มีคนอยากเรียนด้านสูติกรรม เพราะไม่มีแพทย์ด้านนี้คนไหนไม่ถูกฟ้องร้องหรือร้องเรียน เนื่องจากเป็นสาขาแพทย์ที่ถูกคาดหวังสูงสุด เพราะมารดาอุ้มท้องนานถึง 9 เดือน ย่อมมีความคาดหวังสูง แต่บางครั้งก็เกิดข้อผิดพลาดได้ จึงมีคนเรียนสาขานี้ลดลง ซึ่งจะเกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ด้านนี้และมีปัญหาในการดูแลคนไข้ต่อไป

“การเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ แพทย์ส่วนใหญ่ตั้งใจรักษาผู้ป่วยให้หาย ไม่มีใครอยากให้คนไข้ตาย อยากให้มี "การให้อภัย" ถ้าขาดตรงนี้ ต่อไปความเอื้ออาทรณ์ต่อกันจะลดลง"

"อยากให้รู้ว่ามีแพทย์ที่ปิดทองหลังพระ แต่คนไข้ไม่ทราบ แพทย์ทุกคนถูกบังคับให้อยู่เวร และไม่สามารถบอกได้ว่าไม่อยากอยู่ หรือไม่ขออยู่เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น และอยากฝากถึงแพทย์ที่ทำงานหวังแต่ประโยชน์ส่วนตน ให้คำนึงถึงคนไข้และเพื่อนร่วมวิชาชีพที่อาจถูกมองไม่ดีได้" นพ.ปานเนตรให้ความเห็น

ในส่วนของนักศึกษาแพทย์อย่างภัทร แม้ยังไม่ได้รักษาใครอย่างจริงจังแต่ได้เปิดใจกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า รู้สึกเสียใจอย่างมากที่ผู้ป่วยที่ดูแลระหว่างเรียนนั้นเสียชีวิต แต่ก็ได้ดูแลอย่างสุดความสามารถ ซึ่งญาติผู้ป่วยก็เห็นและเข้าใจ

ทั้งนี้เขามองว่าปัญหาเรื่องการฟ้องร้องแพทย์นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการคุยกันไม่เข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้ ว่ามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้

“อย่างผ่าตัดไส้ติ่งก็มีโอกาสตายได้ เพราะเกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ใครจะคิดว่าแค่ผ่าไส้ติ่งก็ตายได้ การรักษามันมีโอกาสผิดพลาด ถึงฟ้องไปก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าลืมหรือสะเพร่าจริงก็ผิด ถึงยังไงหมอทุกคนก็รักคนไข้ ไม่มีใครอยากให้คนไข้ตาย ญาติคนไข้ก็ต้องเข้าใจด้วย แต่หมอก็ต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อทำสุดฝีมือเราแล้วยื้อไว้ไม่ได้ ถ้าญาติคนไข้เห็นเขาก็ไม่ฟ้องเรา แต่หมอชุ่ยๆ ก็มี" ภัทรกล่าว

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา ภัทรบอกว่าจะแก้ที่ปลายเหตุโดยห้ามคนไข้ฟ้องร้องไม่ได้ ต้องทำที่ต้นเหตุ ก่อนรักษาคนไข้ต้องคุยให้รู้เรื่อง ว่ามีโอกาสเกิดอะไรขึ้น แม้เพียงแค่ 1% ก็ต้องบอก ซึ่งการบอกไว้จะได้ไม่เหมือนแก้ตัวเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าการฟ้องร้องแพทย์ยังมีน้อยมาก คนไข้ส่วนใหญ่ก็ยังรักหมอที่ทุ่มเทอยู่มาก
นักเรียนจากศูนย์ข่าวเยาวชนไทยร่วมฟังชีวิตคุณหมอ
นักเรียนจากศูนย์ข่าวเยาวชนไทยถ่ายรูปร่วมกับคุณหมอและว่าที่คุณหมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น