สุดบรรเจิด "ยกทรงฉุกเฉิน" แปลงร่างเป็นหน้ากากกันแก๊สพิษได้ในสถานการณ์คับขัน คว้ารางวัล "อิกโนเบล" สาขาสาธารณสุขประจำปีนี้ นวัตกรรมที่ไม่ได้ทำขึ้นมาแค่เล่นๆ หรือเพื่อขำๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้จริง จดสิทธิบัตรจริง พร้อมอีกสารพัดรางวัลกับงานวิจัยที่ปล่อยให้ทุกคนหัวเราะออกมาก่อนแล้วจึงได้คิด
เป็นธรรมเนียมทุกๆ ปี ก่อนการประกาศผลรางวัลโนเบล 1 สัปดาห์ คณะกรรมการงานวิจัยที่ไม่น่าจะลอกเลียนแบบได้ประจำปี (Annals of Improbable Research) จะได้จัดงานประกาศผลรางวัล “อิกโนเบล” (IgNobel Prizes) งานวิจัยที่ "ไม่สามารถหรือไม่น่าจะลอกเลียนแบบได้"
ในปีนี้ได้ประกาศผลรางวัลไปเมื่อค่ำวันที่ 1 ต.ค.52 ที่ผ่าน (ตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 ต.ค.) ณ โรงละครแซนเดอร์ ในฮาร์วาร์ด โดยมีเจ้าของรางวัลโนเบล (ของจริง) ได้ออกมาประกาศรางวัลในสาขาต่างๆ โดยในปีนี้นับเป็นการมอบรางวัลให้กับงานวิจัยขำๆ เป็นครั้งที่ 19 แล้ว
สำหรับอิกโนเบลประจำปี 2552 ที่โดดเด่นโดนใจคงหนีไม่พ้น "ยกทรง 2 คุณประโยชน์" ของเอลีนา บอดนาร์ (Elena Bodnar) จากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) สหรัฐฯ ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นหน้ากากกันแก๊สพิษ
เมื่อถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน สามารถนำยกทรงที่สวมอยู่มาใช้เป็นหน้ากากได้ถึง 2 ชิ้น (อีกชิ้นแบ่งให้หนุ่มข้าง) โดยชุดชั้นในที่ออกแบบขึ้นมานี้ มีตะขอปลดยกทรงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งช่วยแยกเต้ายกทรงทั้งสองข้างออกจากกัน แล้วใช้เต้ายกทรงแทนหน้ากากกันแก๊สพิษได้
สิ่งประดิษฐ์ของบอดนาร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่นวัตกรรมที่ได้รางวัลขำๆ แต่ผลงานของเธอยังได้รับการจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งเลขสิทธิบัตรคือ US 7,255,627 B2 (Garment device convertible to one or more facemasks)
นิวไซแอนทิสต์บอกว่า การที่บอดนาร์ได้เคยอาศัยในยูเครนช่วงเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิด ที่เชอร์โนบิล (Chernobyl) ทำให้เธอทราบถึงความสำคัญ ในการเตรียมพร้อมทางด้านสาธารสุข เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่อาจคาดเดาได้ โดยเธอกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันออกแบบเต้ายกทรง ที่สามารถใช้แทนหน้ากากันแก๊สพิษได้ 2 ชิ้น
เมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ การก่อการร้ายทางชีวภาพหรืออยู่ท่ามกลางควันไฟ ผู้สวมใส่สามารถแยกชิ้นยกทรงออกจากกันได้อย่างรวดเร็ว แล้วปิดเข้ากับจมูกและปากของของผู้สวมใส่เพื่อป้องกันแก๊สพิษ อีกทั้งยังเผื่อแผ่หน้ากากที่เหลือให้กับคนอื่นๆ ที่ต้องการด้วย
ภายในงานมอบรางวัลอิกโนเบล บอดเนอร์ได้สาธิตนวัตกรรมของเธอ และมอบเป็นของขวัญให้แก่ผู้ได้รับรางวัลโนเบลตัวจริงที่มาเป็นสักขีพยานด้วย
สำหรับผู้ได้รับรางวัลอิกโนเบลประจำปี 2009 ในสาขาต่างๆ ได้แก่ ....
สาขาสัตวแพทย์ : แคเทอรีน ดักลาส (Catherine Douglas) และ ปีเตอร์ โรวลินสัน (Peter Rowlinson) มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) สหราชอาณาจักร กับ การค้นพบว่า วัวที่มีชื่อ ให้นมได้มากกว่าวัวที่ไม่ได้รับการตั้งชื่อ
ในพิธีมอบรางวับมีเพียงโรวลินสันคนเดียวที่มาร่วมงาน เพราะดักลาสเพิ่งคลอดลูกสาวหมาดๆ จึงส่งภาพของเธอและลูกสาวในชุดวัวมาร่วมพิธีด้วย
(REFERENCE: "Exploring Stock Managers' Perceptions of the Human-Animal Relationship on Dairy Farms and an Association with Milk Production," Catherine Bertenshaw [Douglas] and Peter Rowlinson, Anthrozoos, vol. 22, no. 1, March 2009, pp. 59-69. DOI: 10.2752/175303708X390473.)
สาขาสันติภาพ : สเตฟาน โบลลิเกอร์ (Stephan Bolliger) สเตฟเฟน รอสส (Steffen Ross) ลาร์ส ออสเตอร์ฮาลเวก (Lars Oesterhelweg) มิชาเอล ทาลี (Michael Thali) และ บีท คนิวบูห์ล (Beat Kneubuehl) มหาวิทยาลัยเบิร์น (University of Bern) สวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะที่ทดลอง...หากถูกตีหัวด้วยขวดเบียร์ อะไรจะดีกว่าระหว่างขวดเปล่า กับขวดที่มีเบียร์อยู่เต็ม
มีเพียงโบลลิเกอร์คนเดียวที่มารับรางวัล
(REFERENCE: "Are Full or Empty Beer Bottles Sturdier and Does Their Fracture-Threshold Suffice to Break the Human Skull?" Stephan A. Bolliger, Steffen Ross, Lars Oesterhelweg, Michael J. Thali and Beat P. Kneubuehl, Journal of Forensic and Legal Medicine, vol. 16, no. 3, April 2009, pp. 138-42. DOI:10.1016/j.jflm.2008.07.013.)
สาขาเศรษฐศาสตร์ : เหล่าผู้อำนวยการ ผู้บริหาร และผู้ตรวจสอบของธนาคารทั้ง 4 แห่งในไอซ์แลนด์ คือ เคาปต์ธิง แบงก์ (Kaupthing Bank) แลนด์สแบงก์ (Landsbanki) กลิตเนียร์ แบงก์ (Glitnir Bank) และ เซ็นทรัลแบงก์ ออฟ ไอซ์แลนด์ (Central Bank of Iceland) ที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารเล็กๆ ก็กลายเป็นใหญ่ได้ และในทางตรงข้ามธนาคารใหญ่ๆ ก็กลายเป็นธนาคารขนาดจิ๋วในพริบตา ซึ่งทำให้เห็นว่าในสิ่งเดียวกันสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ขนาดไหน (จากเหตุการณ์ธนาคารอันดับต้นๆ ล้มละลายในไอซ์แลนด์ ที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ)
สาขาเคมี : ฮาเวีย โมราเลส (Javier Morales) มิเกล อาเปติกา (Miguel Apátiga) และ วิกเตอร์ คาสตาโน (Victor M. Castaño) มหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโก (Universidad Nacional Autónoma de México) ที่สามารถสร้างเพชรจากของเหลว โดยเฉพาะจาก "เตอกิลา"
แม้จะอยู่ใกล้แต่ก็มีเพียงโมราเลส และ อาเปติกา ที่มารับรางวัล
(REFERENCE: "Growth of Diamond Films from Tequila," Javier Morales, Miguel Apatiga and Victor M. Castano, 2008, arXiv:0806.1485.)
สาขาการแพทย์ : โดนัลด์ อุงเกอร์ (Donald L. Unger) จากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ในการสืบเสาะหาต้นเหตุโรคปวดข้อนิ้ว โดยอุตสาหะหักข้อนิ้วมือซ้ายทุกๆ วัน โดยไม่ทำกับมือขวาเลย เป็นเวลากว่า 60 ปี
(REFERENCE: "Does Knuckle Cracking Lead to Arthritis of the Fingers?", Donald L. Unger, Arthritis and Rheumatism, vol. 41, no. 5, 1998, pp. 949-50.)
งานนี้เจ้าตัวพานิ้วมือมารับรางวัลครบถ้วน
สาขาฟิสิกส์ : แคเธอรีน วิธคัม (Katherine K. Whitcome) จากมหาวิทยาลัยชินชินเนติ (University of Cincinnati) เดเรียล ลีเบอร์แมน (Daniel E. Lieberman) ฮาร์วาด (Harvard University) และลิสา ชาปีโร (Liza J. Shapiro) มหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas) สหรัฐฯ ที่วิเคราะห์ว่า ทำไมผู้หญิงท้องถึงไม่ล้มหัวทิ่ม
(REFERENCE: "Fetal Load and the Evolution of Lumbar Lordosis in Bipedal Hominins," Katherine K. Whitcome, Liza J. Shapiro & Daniel E. Lieberman, Nature, vol. 450, 1075-1078 (December 13, 2007). DOI:10.1038/nature06342.)
สาขาวรรณกรรม : หน่วยตำรวจไอร์แลนด์ (An Garda Siochana) ที่คอยเขียนลงบันทึกผู้กระทำผิดกฎจราจรลงในเล่มใบขับขี่
งานนี้คาโรลินา เลเวสทาม พลเมืองชาวโปลแลนด์ได้ขึ้นมากล่าวคำขอบคุณ และแสดงความยินดึถึงการบริการของตำรวจไอริช (เกี่ยวอะไรกัน??)
สาขาสาธารณสุข : เอลีนา บอดนาร์ (Elena Bodnar) ราฟาเอล ลี (Raphael C. Lee) และ ซานดรา มาริจาน (Sandra Marijan) จากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) สหรัฐฯ ที่ประดิษฐ์ยกทรง ที่สามารถเปลี่ยนเป็นหน้ากากป้องกันก๊าซพิษได้ ในยามฉุกเฉิน
(REFERENCE: U.S. patent # 7255627, granted August 14, 2007 for a “Garment Device Convertible to One or More Facemasks.”)
สาขาคณิตศาสตร์ : ไกดิออก โกโน (Gideon Gono) ผู้ว่าการธนาคารสำรองแห่งซิมบับเว ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนของชาติ ได้คิดเงินตั้งแต่จำนวนน้อยนิดจนถึงจำนวนมหาศาล (จากกรณีธนบัตรของซิมบับเวที่มีตั้งแต่ 1 เซนต์ ยันใบ 100,000,000,000,000 เหรียญ ... พกกันมากมายขนาดนี้)
(REFERENCE: Zimbabwe's Casino Economy — Extraordinary Measures for Extraordinary Challenges, Gideon Gono, ZPH Publishers, Harare, 2008, ISBN 978-079-743-679-4.)
สาขาชีววิทยา : ฟูมาอิกิ ตากูชิ (Fumiaki Taguchi) ซอง เกาฟู (Song Guofu) และซาง กัวอันไกล (Zhang Guanglei) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคีตาซาโต (Kitasato University Graduate School of Medical Sciences) ญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นว่า แบคทีเรียจากอึแพนด้ายักษ์ สามารถย่อยขยะเปียกในครัว ทำให้ลดปริมาณได้ถึง 90%
(REFERENCE: "Microbial Treatment of Kitchen Refuse With Enzyme-Producing Thermophilic Bacteria From Giant Panda Feces," Fumiaki Taguchia, Song Guofua, and Zhang Guanglei, Seibutsu-kogaku Kaishi, vol. 79, no 12, 2001, pp. 463-9. [and abstracted in Journal of Bioscience and Bioengineering, vol. 92, no. 6, 2001, p. 602.])
(REFERENCE: "Microbial Treatment of Food-Production Waste with Thermopile Enzyme-Producing Bacterial Flora from a Giant Panda" [in Japanese], Fumiaki Taguchi, Song Guofu, Yasunori Sugai, Hiroyasu Kudo and Akira Koikeda, Journal of the Japan Society of Waste Management Experts, vol. 14, no. 2, 2003, pp. , 76-82.)
งานนี้ ฟูมาอิกิ ตากูชิ บินมารับรางวัลด้วยตัวเอง
พิธีมอบรางวัลอิกโนเบลมีกันไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ต.ค.52 ที่ฮาร์วาร์ด และในวันที่ 3 ต.ค.เหล่าผู้ได้รับรางวัลจะขึ้นเวทีอธิบายขยายความถึงผลงานของพวกเขา โดยให้ผู้ฟังถามคำถามต่างๆ นานาได้ตามสบาย ที่ห้องบรรยายพิเศษสถาบันเอ็มไอที (MIT) ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://improbable.com/ig/2009/#informal-lectures