xs
xsm
sm
md
lg

ที่แท้โอกาสได้ลูกเพศไหน บอกไว้ในยีนของพ่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบว่าเพศชายมียีนที่ควบคุมปริมาณการสร้างสเปิร์ม X และ Y ซึ่งช่วยแนวโน้มได้ว่ามีโอกาสได้ลูกชายหรือลูกสาวมากว่ากัน หรือเท่าๆกัน (ภาพจากแฟ้ม/www.ptvn.org)
นักวิจัยอังกฤษไขปริศนา ทำไมหลังสงครามจึงมีเด็กเกิดใหม่เป็นชายมากกว่าหญิง พบในผู้ชายมีที่ควบคุมปริมาณสเปิร์มเอ็กซ์กับวาย บ่งชี้โอกาสว่าจะได้ลูกเพศไหนมากกว่ากัน หนุ่มไหนที่มีพี่น้องผู้ชายมากกว่า ย่อมมีโอกาสได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว ส่วนหนุ่มไหนที่มีพี่น้องเป็นหญิงมาก โอกาสได้ลูกสาวก็มากด้วย

คอร์รี เกลแลตลี (Corry Gellatly) นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) สหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ในผู้ชายจะมียีนที่บ่งชี้ได้ว่าเขาจะมีโอกาสมีลูกชายหรือลูกสาวมากกว่ากัน ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยควบคุมความสมดุลระหว่างประชากรชายและหญิงไ ม่ให้แตกต่างกันจนเกินไป โดยรอยเตอร์รายงานว่าเขาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ในวารสาร เอโวลูชัน ไบโอโลจี (Evolutionary Biology)

ทั้งนี้ เมื่อจำนวนประชากรหญิงมีเหลือน้อย จนทำให้เกิดปัญหาในการครองคู่ และให้กำเนิดลูกหลาน ฉะนั้นเป็นไปได้มากทีเดียวที่จะมีการถ่ายทอดยีนที่ทำให้มีลูกสาวไปสู่ลูกหลาน และเมื่อใดที่ประชากรชายมีอย่างจำกัด ก็เป็นโอกาสดีสำหรับการถ่ายทอดยีนที่เพิ่มโอกาสการมีลูกชายไปยังทายาท

"มันเป็นกลไกที่คอยถ่วงดุลกัน ทำให้ไม่โอนเอียงไปในทางที่มีลูกชายเป็นส่วนมาก หรือมีลูกสาวมากจนเกินไป" เกลแลตลีอธิบาย

ข้อมูลในรายงานข่าว จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลระบุว่า นักวิจัยได้ศึกษาในประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั้งในอเมริกาเหนือและยุโรปจำนวน 927 วงศ์ตระกูล ย้อนกลับไปถึงปี 2143 รวมทั้งสิ้น 556,387 คน พบว่าในเพศชายจะมียีนที่ควบคุมอัตราส่วนระหว่างสเปิร์มเอ็กซ์ (X) และสเปิร์มวาย (Y) ซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดเพศของบุตรที่จะเกิดมา ผู้หญิงก็มียีนดังกล่าวด้วยเหมือนกัน ทว่าไม่แสดงออก แต่สามารถถ่ายทอดสู่ลูกได้

ผลการศึกษาพบว่า การให้กำเนิดบุตรชายหรือบุตรสาวมากกว่า เป็นมรดกตกทอดกันมา โดยชายที่มีพี่น้องเป็นผู้ชายมากกว่า จะมีโอกาสได้ลูกชายมากกว่า ส่วนชายที่มีพี่น้องส่วนใหญ่เป็นหญิง โอกาสที่จะได้ลูกผู้หญิงจะสูงกว่า ทว่ากรณีแบบเดียวกันนี้ไม่สามารถทำนายได้ในผู้หญิง

เกลแลตลีอธิบายว่ายีนที่ควบคุมการให้กำเนิดบุตรเพศใดๆ แบ่งเป็น 2 ชุด คือ "เอ็ม" (m) และ "เอฟ" (f) ซึ่งสามารถเข้าคู่กันเป็นยีนได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ ยีน "mm" ซึ่งเป็นตัวส่งเสริมการสร้างสเปิร์มวาย, ยีน "mf" ทำให้มีการสร้างสเปิร์มเอ็กซ์และสเปิร์มวายในปริมาณเท่าๆกัน และยีน "ff" ที่ส่งผลให้มีการสร้างสเปิร์มเอ็กซ์มากกว่า ดังนั้นยีนเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่กำหนดได้ว่าชายผู้นั้นจะมีโอกาสให้กำเนิดลูกชายหรือลูกสาวมากกว่ากัน

เกลแลตลีกล่าวเสริมว่าโอกาสการมีบุตรเพศใดจากการควบคุมของยีนดังกล่าวนั้นอยู่ในระดับความน่าจะเป็น ไม่ไช่เป็นความแน่นอน และยีนนี้ที่ถ่ายทอดจากพ่อสู่ลูกก็จะไปผสมผสานกับยีนแบบเดียวกันที่ได้รับจากแม่ ทั้งนี้ ยีนดังกล่าวมีผลต่อเพศของบุตรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะถ้ามันมีผลกระทบมากกว่านี้ นักวิทยาศาสตร์ก็น่าจะสังเกตพบมาก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ดี สังเกตได้ว่าอัตราการเกิดของผู้ชายมักจะก้าวกระโดดมากกว่าผู้หญิงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลังสงครามโลกแต่ละครั้งของประเทศที่ร่วมรบในสงคราม ซึ่งมักมีคำอธิบายแบบลอยๆว่า ทหารที่กลับจากสงครามจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนบ่อยมากเป็นพิเศษ จึงมีโอกาสมากที่จะเกิดการปฏิสนธิในช่วงต้นรอบเดือน ซึ่งน่าจะทำให้ได้ลูกชายมากกว่า ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเพศชายมีโอกาสรอดในสงครามมากกว่าและมีแนวโน้มว่าต่อไปจะให้กำเนิดเด็กชายได้มากกว่าเด็กหญิง

เกลแลตลีอธิบายเรื่องนี้ว่า ความได้เปรียบอยู่ในครอบครัวที่มีลูกชายมากกว่าลูกสาว จึงมีโอกาสสูงที่จะมีลูกชายรอดตายจากสงครามและสืบสกุลต่อไป และหนุ่มๆเหล่านี้ก็มีแนวโน้มสูงว่าจะได้เป็นพ่อที่มีลูกผู้ชายมากกว่าลูกผู้หญิง ในทางกลับกัน ครอบครัวไหนที่มีลูกชายน้อยกว่าลูกสาว อาจจะต้องสูญเสียลูกชายคนเดียวไปในสงครามได้ ซึ่งลูกชายคนเดียวนี้ก็ยังมีโอกาสให้กำเนิดลูกผู้หญิงมากกว่าชายอีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น