xs
xsm
sm
md
lg

เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า นวัตกรรมไทยประสิทธิภาพอันดับ 1 ของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย ขนาด 1.644 MWp บนเนื้อที่ 35 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดำเนินการโดย บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด
การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน เป็นยุทธวิธีสำคัญทางหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์ฝ่าวิกฤตภาวะโลกร้อนไปได้ และพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน ที่หลายคนเทใจให้มากที่สุด เพราะมีแหล่งพลังงานให้มนุษย์ได้ใช้ฟรีไม่มีวันหมด ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะอาด และปลอดภัยอย่างแท้จริง

บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด เป็นเอกชนไทยรายแรกและรายเดียวในประเทศ ที่ดำเนินการด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในขณะนี้ จากการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศแล้วถึง 7 แห่ง และผลิตแผงโซลาร์เซลล์ส่งออกไปยังหลายประเทศในยุโรป และสหรัฐฯ

นายทิศพล นครศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า บางกอกโซลาร์เป็นบริษัทที่แตกออกมาจาก บริษัท บางกอกเคเบิล จำกัด เพื่อดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตแผงโซลาร์เซลล์โดยในช่วงเริ่มต้น ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จนสามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบาง (Amorphous Silicon Thin-Film Photovoltaic Module) ที่เหมาะสำหรับสภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทยได้เอง และมีการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แผงโซลาร์เซลล์รุ่นล่าสุดที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพแปลงพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 7% นับว่าเป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบาง ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกด้วย

“แผงโซลาร์เซลล์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบาง มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดผลึกซิลิกอน ทั้งยังผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ขนาดกำลังการผลิตเท่ากัน ทำงานได้ดีแม้ในสภาพอากาศที่มีแสงน้อย ท้องฟ้ามีเมฆมาก หรือแม้แต่ช่วงฝนตก ซึ่งสามารถทำงานได้ตลอดช่วงเวลากลางวัน”

“ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเวลาประมาณ 10.00-15.00 น. ขณะที่หากเป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่นจะทำงานได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และจะหยุดทันทีที่แสงน้อยเกินไป" นายทิศพลอธิบายขณะเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ.ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทยในปี 2549 ด้วยกำลังการผลิต 1.644 MWp (เมกกะวัตต์) จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 40,000 แผง บนพื้นที่ 35 ไร่ใน อ.บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา ด้วยเงินลงทุนราว 180 ล้านบาท และเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2550 โดยใช้เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าชนิดต่อเชื่อมสายส่ง ที่วิจัยและพัฒนาโดย บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด ของคนไทย

ต่อมาได้ขยายการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปในจังหวัดอื่นๆ อีก 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อ่างทอง เพชรบุรี และนครสวรรค์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 7 โรง และมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 7.318 MWp

ไฟฟ้าที่ผลิตได้ ทางโรงงานได้ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งหมดในราคา 12 บาทต่อหน่วย จากต้นทุนการผลิตประมาณ 12 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะคุ้มทุนในระยะเวลา 10 ปี ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่พัฒนาขึ้นนั้น มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี

นอกจากนี้ บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ กำลังอยู่ระหว่างการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกใน จ.ลพบุรี ที่กำลังการผลิต 2.208 MWp และจะสร้างเพิ่มขึ้นอีกแห่งในจังหวัดเดียวกัน ให้มีกำลังการผลิตราว 11 MWp

ด้านนายพดด้วง คงคามี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากแผนพัฒนาพลังงาน 15 ปี ที่กำหนดไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 500 MWp ภายในปี 2565 ทำให้บางกอกโซลาร์จึงมีแผนการที่จะขยายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศให้เป็น 60 MWp ภายในปี 2555 โดยการบริหารงานของบางกอกโซลาร์ และอีก 100 MWp โดยการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ รวมถึงการรับจ้างผลิตแผงโซลาร์เซลล์ให้กับบริษัทอื่น ที่สนใจลงทุนด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศอีก 150 MWp

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 1 MWp จะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 110 ล้านบาท ใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 50 วัตต์ จำนวน 20,000 แผง บนพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ และสำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ควรเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์ประมาณ 1,800-1,900 ชั่วโมงต่อปี เช่น พื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี, สระบุรี, ลพบุรี และ อ่างทอง เป็นต้น

"ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อแน่ว่าในระยะเวลาอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีราคาถูกลงอย่างแน่นอน และอาจถูกลงจนเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันก็ได้ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายทิศพลกล่าว

แม้ขณะนี้ ต้นทุนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ยังมีราคาสูงอยู่มาก อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ทั่วโลกก็กำลังให้ความสนใจ และผลักดันให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง เป็นพลังงานสะอาดที่คนทั่วไปยอมรับกันมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพลังงานนิวเคลียร์ที่ยังมีปัญหาเรื่องการกำจัดกากนิวเคลียร์.
นายทิศพล นครศรี
นายพดด้วง คงคามี
แผงโซลาร์เซลล์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบางที่พัฒนาโดยคนไทย เหมาะสำหรับสภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทย
กระแสไฟฟ้าที่โซลาร์เซลล์ผลิตได้จะถูกส่งมายังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งต่อเข้ากับสายส่งของการไฟฟ้า (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)
ภาพถ่ายมุมสูงของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทยใน จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 1.644 MWp (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จ.เพชรบุรี กำลังการผลิต 2.193 MWp ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จ.อุดรธานี กำลังการผลิต 1.591 MWp (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จ.อ่างทอง กำลังการผลิต 1.136 MWp (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)
กำลังโหลดความคิดเห็น