ดิสคัฟเวอรีเตรียมทะยานฟ้าขึ้นไปติดตั้ง “ตู้แช่-เตาเผา” บนสถานีอวกาศพุธนี้ หลังเลื่อนกำหนดส่งในบ่ายวันอังคารเนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจ ทั้งนี้ตู้แช่สามารถเก็บตัวอย่างได้ตั้งแต่ -4 ถึง -80 องศาเซลเซียส ส่วนเตาเผาหลอมวัสดุได้ด้วยความร้อนสูงถึง 1,400 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สภาพไร้น้ำหนักจะให้โครงการที่ดีเยี่ยม
กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เตรียมนำลูกเรือและอุปกรณ์ขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) โดยหลังจากเตรียมทุกอย่างพร้อมและมีกำหนดส่งยานเมื่อบ่ายวันที่ 25 ส.ค.52 ตามเวลาประเทศไทย แต่ต้องเลื่อนส่งยานออกไปเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยอวกาศ และนาซาจะพยายามส่งยานอีกครั้งในบ่ายวันที่ 26 ส.ค. จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในฟลอริดา สหรัฐฯ
เที่ยวบินภารกิจ 13 วันของดิสคัฟเวอรีครั้งนี้ บีบีซีนิวส์ระบุว่าเป็นเที่ยวบินที่ 30 ซึ่งมีภารกิจขึ้นไปต่อเติมและซ่อมบำรุงสถานีอวกาศ และภารกิจล่าสุดคือ ขนส่งอุปกรณ์เพื่อทดลองวิทยาศาสตร์ขึ้นไปติดตั้ง รวมถึงตู้แช่แข็งเครื่องใหม่สำหรับเก็บตัวอย่างทางชีววิทยา และเตาเผาสำหรับเตรียมวัสดุ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ผลิตขึ้นในยุโรป และในเที่ยวนี้มีลูกเรือจากยุโรปคือ คริสเตอร์ ฟูเกิลแซง (Christer Fuglesang) จากสวีเดน เดินทางไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศด้วย
ภารกิจครั้งนี้ฟูเกิลแซงนักบินอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (อีซา) จะมีบทบาทสำคัญ โดยมีภารกิจเดินอวกาศ 2 ครั้ง จากทั้งหมดที่กำหนดไว้ 3 ครั้ง โดยหนึ่งในการเดินอวกาศของเขาจะเป็นการเดินอวกาศแบบผูกสายเคเบิลออกไปนอกสถานีเพื่อติดตั้งอุปกรณ์รองรับโหนดใหม่ที่จะติดตั้งในปีหน้า คือ โหนด 3 (Node 3) หรือ แทรงคิวลิตี (Tranquility)
ส่วนตู้แช่แข็งสำหรับเก็บตัวอย่างทางชีววิทยาที่จะนำขึ้นไปนี้คือ ตู้แช่เมลฟี (Melfi: Minus Eighty Laboratory Freezer for ISS) ซึ่ง มาร์ติน เซลล์ (Martin Zell) หัวหน้าส่วนการใช้ประโยชน์สถานีอวกาศบอกกับทางบีบีซีนิวส์ว่า ตู้แช่แข็งใหม่นี้เป็นเครื่องที่ 2 ของสถานีอวกาศ และจะเป็นเครื่องหลักที่ใช้งานบนสถานีอวกาศต่อไป ส่วนเครื่องแรกนั้นใช้งานมา 3 ปีแล้ว และทำงานได้อย่างดีเยี่ยม
“ตู้แช่นี้แช่แข็งได้ที่อุณหภูมิระหว่าง -4 องศาเซลเซียส ถึง -80 องศาเซลเซียส และยังเก็บรักษาตัวอย่างการทดลองได้ที่อุณหภูมิแตกต่างกันในช่องเย็นเก็บตัวอย่าง 4 ช่องที่แยกกัน และอุปกรณ์นี้ยังจะรองรับภารกิจที่มากขึ้นจากจำนวนมนุษย์อวกาศที่ขึ้นไปประจำบนสถานีอวกาศจาก 3 คน เป็น 6 คน และตัวอย่างทางชีววิทยาทั้งหมดจะเก็บไว้ในตู้แช่นี้ รวมทั้งตัวอย่างเลือดของมนุษย์อวกาศด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ถึงผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์จากการอยู่บนเที่ยวบินอวกาศนานๆ” เซลล์กล่าว
ส่วนเตาเผานั้นเป็นส่วนหนึ่งของห้องปฏิบัติการวัสดุศาสตร์เอ็มเอสแอล (Materials Science Laboratory: MSL) ที่หลอมวัสดุได้ด้วยอุณหภูมิสูงถึง 1,400 องศาเซลเซียส ซึ่งช่วยให้มนุษย์อวกาศสามารถหลอมวัสดุแล้วทำให้แข็งได้รูปตัวอย่างที่หลากหลาย อย่างเช่นหลอมโลหะผสมได้ เป็นต้น
ทั้งตู้แช่แข็งเมลฟีและเตาเผาเอ็มเอสแอลนั้น จะสร้างสภาพทั้งเย็นที่สุดและร้อนที่สุด เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนสถานีอวกาศ และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะโครงสร้างวัสดุอันดีเยี่ยมที่แตกต่างไปสภาพบนพื้นผิวโลก และการทดลองด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากบนโลก นักวิทยาศาสตร์หวังด้วยว่าจะได้ข้อมูลสำหรับนวัตกรรมที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อชีวิตประจำวันได้
สำหรับลูกเรือประจำเที่ยวบินนี้ทั้งหมดได้ จอห์น ดี โอลิวาส (John D. Olivas) นิโคล สก็อตต์ (Nicole Scott) คริสเตอร์ ฟูเกิลแซง (Christer Fuglesang) จากสวีเดน โจส เฮอร์นันเดซ (Jose Hernandez) แพทริค จี ฟอร์เรสเตอร์ (Patrick G. Forrester) เคลวิน เอ ฟอร์ด (Kevin A. Ford) นักบินประจำเที่ยว และ เฟรดริค ดับเบิลยู สเตอร์ซโคว (Fredrick W. Sturckow) ผู้บังคับการประจำเที่ยวบิน