xs
xsm
sm
md
lg

40 ปีสหรัฐฯ เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกยังคาใจรัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพบัซ อัลดริน บนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งบันทึกภาพโดย นีล อาร์มสตรอง ทั้งนี้ทั้งคู่เป็นมนุษย์ชุดแรกที่เดินทางขึ้นไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว
เมื่อ "นีล อาร์มสตรอง" เหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งแรก 40 ปีก่อน นับเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่อดีตสหภาพโซเวียตถูกสหรัฐฯ แซงหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ เมื่อสถานีโทรทัศน์นำภาพการลงจอดบนจันทร์ของยาน "อพอลโล 11" อีกครั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวรัสเซียจำนวนมากต่างยังอยากจะเชื่อว่าการลงจอดครั้งนี้ "ลวงโลก"

"ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมากกว่าที่ใดในโลก ผู้คนต่างศรัทธาอย่างเชื่อมั่นในก้าวย่างบนดวงจันทร์ครั้งนั้น แต่อาร์มสตรองกลับมีชื่อเสียงน้อยมากในรัสเซีย ซึ่งดูค่อนข้างแปลกสำหรับคนส่วนใหญ่" สำนักข่าวเอพีอ้างรายงานของสถานีโทรทัศน์ "รอสซิยา" (Rossiya) ของรัสเซีย และเอพียังบอกด้วยว่า การสูญเสียตำแหน่งผู้เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกนั้นยังคงทิ่มแทงจิตใจชาวรัสเซียมาถึง 40 ปี

กว่า 10 ปีก่อนที่สหรัฐฯ จะลงจอดบนดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกเมื่อ 20 ก.ค.2512 กรุงมอสโคว์ของอดีตสหภาพโซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบันนั้น อยู่ในอันดับสูงสุดของการแข่งขันทางด้านอวกาศ เป็นที่หนึ่งในการส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจรด้วยการส่งดาวเทียมสปุตนิก (Sputnik) ขึ้นไปเมื่อปี 2500 มนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศก็ป็นชาวรัสเซียนามว่า "ยูริ กาการิน" (Yuri Gagarin) ซึ่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2504

อีก 2 ปีต่อมาก็เป็นรัสเซียอีกครั้ง ที่ส่งผู้หญิงขึ้นสู่อวกาศได้เป็นครั้งแรก เธอชื่อ วาเลนตินา เทเรชโกวา (Valentina Tereshkova) และในปี 2509 อเล็กซี ลีโอนอฟ (Alexei Leonov) นักบินอวกาศรัสเซียเป็นคนแรก ที่เสี่ยงชีวิตออกไปนอกยานอวกาศ

อีกทั้งรัสเซียยังเป็นชาติแรกที่ไปถึงดวงจันทร์ด้วยยานไร้คนขับ "ลูน่า 2" (Luna 2) ซึ่งโหม่งพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 2502 แต่ทั้งหมดที่ทำมาด้วยดูเหมือนจะสูญสิ้นไปกับรอยเท้ามนุษย์ที่ประทับบนดวงจันทร์

"การเริ่มต้นกับเที่ยวบินแรก ด้วยแคปซูลแบบพื้นฐาน แล้วไปถึงดวงจันทร์ เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษย์โลก แน่นอนว่าเราอยากจะเห็นมนุษย์คนแรก ที่ไปถึงดวงจันทร์เป็นชาวโซเวียตรัสเซีย ถึงอย่างนั้นความสำเร็จของเราเองก็มีตั้งมาก" รายการสถานีข่าวเอพีรายงานความเห็นของ เซอร์เก ครีกาลอฟ (Sergei Krikalev) นักบินอวกาศรัสเซีย

ในปีที่ 40 นับแต่ยานอพอลโล 11 ลงจอดครั้งนั้น เอพีระบุว่า โซเวียตและต่อมาคือรัสเซียพยายามแซงหน้าสหรัฐฯ เพื่อซ่อนความล้มเหลวครั้งนั้นไว้ โดยสหภาพโซเวียตเป็นชาติแรก ที่นำสถานีอวกาศขึ้นสู่วงโคจร คือสถานี "ซัลยุต" (Salyut ) ในปี 2514 แต่ลูกเรือชุดแรกไม่สามารถขึ้นไปอยู่ได้ เนื่องจากปัญหาด้านการเชื่อมต่อ จากนั้นมีนักบินอวกาศอีก 3 คนขึ้นสู่อวกาศ แต่เสียชีวิตในแคปซูลที่นำพวกเขากลับสู่โลกเนื่องจากวาล์วมีปัญหา

จากนั้นก็มีสถานีอวกาศ "มีร์" (Mir) ซึ่งเป็นสถานีอวกาศที่ลอยอยู่ในอวกาศได้นานที่สุด รัสเซียบรรลุความสำเร็จในช่วงแรก แต่ก็จางหายไปอย่างรวดเร็วหลังปี 2534 เมื่อรัสเซียประสบปัญหาด้านเงินทุนสำหรับโครงการอวกาศ และสถานีอวกาศมีร์เองก็เผชิญกับสารพัดอุบัติเหตุ ซึ่งรวมทั้งอุบัติเหตุชนและไฟไหม้ และทั่วดลกต่างจดจ้องท้องฟ้าอย่างหวาดหวั่นในปี 2544 เมื่อสถานีอวกาศ 140 ตันนี้พุ่งสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อต้องปลดระวาง แต่โชคดีว่าครั้งนี้ซากที่เหลือจากการเผาไหม้ตกสุ่มหาสมุทรแปซิฟิก

หากแต่หลายปีมานี้ โครงการอวกาศของรัสเซียมีรายได้จากการทำงานแบบม้าใช้งานมากกว่าม้าแข่ง มีความน่าเชื่อถือ ให้ความร่วมมือด้วยดี และไม่แสดงความรู้สึก กระนั้นยาน "โซยุซ" (Soyuz) แคปซูลที่บังคับด้วยคนอันคับแคบและยานขนส่งเสบียงแบบไร้คนขับ "โปรเกรส" (Progress) ก็เป็นเหมือนสายชูชีพให้กับสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) มาเป็นเวลามากกว่า 2 ปี เมื่อสหรัฐฯ ได้หยุดเดินกระสวยอวกาศของตัวเองลงเมื่อปี 2546 หลังโศกนาฎกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia) ระเบิดขณะกลับสู่โลก

ตอนนี้สหรัฐฯ กำลังยุ่งอยู่กับการหายานมาทดแทนกระสวยอวกาศ แต่ปีที่ผ่านมารัสเซียก็ได้ว่าจ้างผู้ออกแบบยานอวกาศรุ่นต่อไป ที่จะมาแทนยานโซยุซ ความพยายามที่จะแข่งขันครั้งนี้อาจจะลั่นไกให้เกิดการแข่งขันทางด้านอวกาศครั้งใหม่ก็เป็นได้ และตอนนี้รัสเซียก็จะพูดถึงการแข่งขันอวกาศในขั้นต่อไป นั่นคือการปฏิบัติการส่งคนไปดาวอังคาร แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาพูดกันนั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 20 ปีก็ตาม

"ผมว่านี่ก็ดีนะ เหมือนกับกีฬาที่คนหนึ่งชนะการแข่งขันหนึ่ง แต่อีกการแข่งขันหนึ่งเป็นคนอื่นที่ชนะ" ครีกาลอฟให้ความเห็น
เซอร์กี ครีกาเลฟ สื่อสารผ่านโทรศัพท์ดาวเทียม หลังจากเดินทางสู่อวกาศแล้วกลับโลกเมื่อเดือน 11 ต.ค.49 โดยลงจอดบริเวณทางเหนือของคาซัคสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น